ดวงตา กับ สายลม-แสงแดด
620

ดวงตา กับ สายลม-แสงแดด

ดวงตา กับ สายลม-แสงแดด

    การที่ดวงตาของคนเรามีหน้าที่ในการจ้องมองสิ่งต่างๆรอบตัวเพื่อทำให้คน เรามองเห็นสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลานั้น ทำให้ดวงตามีโอกาสสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเช่นลม ฝุ่น หรือแสงแดดอยู่ตลอดเวลา จึงย่อมจะได้รับผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความผิดปรกติหรือโรคต่อดวงตาได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ถูกต้อง

โรคตาที่มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม
    ต้อเนื้อ,ต้อลม
    เป็นความผิด ปรกติของเนื้อเยื่อบุตาขาวบริเวณขอบข้างของกระจกตาดำ ที่มีลักษณะนูนหนาขึ้นเป็นก้อนเรียกว่า “ต้อลม” หรือหนาขึ้นเป็นแผ่นแยกออกจากเยื่อบุตาเดิมและสามารถขยายใหญ่ขึ้นจนลามเข้า บังกระจกตาดำได้เรียกว่า “ต้อเนื้อ” มีสาเหตุจากการที่ตาสัมผัสกับแสงแดด หรือลมอยู่เสมอ นอกจากนี้ภาวะ “ตาแห้ง”จากสาเหตุต่างๆก็ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการก่อโรคนี้เช่นเดียวกัน

    โดยทั่วไปโรคต้อเนื้อ,ต้อลม จะมีผลให้รำคาญและรู้สึกไม่สบายตาเท่านั้น ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยเช่น ระคายเคืองตา คันตา ตาแห้งง่าย การใช้ยาหยอดลดอาการระคายเคือง หรือ น้ำตาเทียม คอยหยอดเวลามีอาการก็เพียงพอและสามารถซื้อใช้เองได้ ถ้ามีอาการตาแดง เจ็บตาจากการอักเสบ อาจต้องให้แพทย์สั่งยาหยอดแก้อักเสบให้เป็นครั้งคราว การผ่าตัดลอกจะทำในกรณีที่เป็น “ต้อเนื้อ”เท่านั้น และมีการอักเสบบ่อยครั้ง จนต้องคอยหยอดยาแก้อักเสบเป็นประจำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้ หรือต้อเนื้อลามเข้ากระจกตาดำจนมีผลทำให้การมองเห็นลดลง

    อย่างไรก็ตาม ต้อเนื้อที่ลอกไปแล้วก็อาจเป็นขึ้นใหม่ได้ ถ้ายังถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด ลม ฝุ่น หรืออาการตาแห้งอยู่ตลอด ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงและป้องกันดวงตาจากปัจจัยเสี่ยงและสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ต้อเนื้อหรือต้อลมที่เป็นอยู่เดิมเป็นมากขึ้นด้วย

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยต้อเนื้อ, ต้อลม รวมถึงผู้ที่ได้รับการผ่าตัดลอกต้อเนื้อแล้ว

    * ใส่แว่นตากันแดด ป้องกันและหลีกเลี่ยงจากแสงแดดจ้า หรือที่ที่มีแสง UV มาก เช่น แสงสะท้อนจากหิมะ, พื้นผิวน้ำ หรือผิวถนน รวมทั้งเวลาขับรถด้วย
    * หลีกเลี่ยงฝุ่น ลม ไม่ให้เข้าตา ใส่แว่นตาหรือเครื่องป้องกันตาจากลม ฝุ่นที่อาจเข้าตาเวลาขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือเวลาอยู่กลางแจ้งที่มีลมพัดแรง
    * หลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้ตาแห้งง่าย เช่น การใช้สายตานานๆในการอ่านหนังสือ ดูทีวี ใช้คอมพิวเตอร์ ขับรถ หรืออยู่ในที่อากาศแห้งหรือเย็นจัด อาจใช้น้ำตาเทียมคอยหยอดหล่อลื่นตาไว้เวลาทำกิจกรรมเหล่านี้ หรือเวลาตาแห้ง

แสงแดดกับแว่นกันแดด การเลือกซื้อแว่นตากันแดด ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
    1. ความสามารถในการป้องกันหรือดูดซับรังสีอุลตร้าไวโอเลต หรือ UV
    รังสีอุลตร้าไวโอเลตหรือรังสี UV เป็นรังสีที่มองไม่เห็นประกอบด้วยรังสี UVA, UVB และUVC ซึ่งแตกต่างกันไปตามความยาวคลื่น ที่มีในแสงแดดจะประกอบด้วยรังสี UVA 90% และUVB 10% ส่วน UVC จะถูกกั้นด้วยบรรยากาศชั้นโอโซน ทำให้ไม่ผ่านมาถึงผิวโลก นอกจากนี้ยังมีในแสงที่มาจากงานอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น แสงที่เกิดจากการเชื่อมเหล็ก โคมไฟฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น รังสี UVนี้จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคตาหลายอย่าง เช่น ต้อเนื้อ, กระจกตาอักเสบ, ต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงจากแสงอุลตร้าไวโอเลตโดยเฉพาะในแสงแดดซึ่งต้อง เจอในชีวิตประจำวันโดยการสวมแว่นตากันแดดป้องกัน ตามมาตรฐานของแว่นตากันแดด วัสดุที่ใช้ทำเลนส์จะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันรังสี UVB ได้อย่างน้อย 70% และรังสี UVA ได้อย่างน้อย 60% สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ทำเลนส์แว่นตากันแดดมีด้วยกันหลายชนิด เช่น วัสดุประเภท polycarbonate มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 99 % ส่วนวัสดุที่เป็นพลาสติก(CR-39) และกระจกจะมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV เพิ่มขึ้นได้โดยการเคลือบสารเคมีลงบนผิววัสดุ

    ในทางปฏิบัติควรมองหาป้าย รับรองที่ติดมากับแว่นตาว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้มากน้อยเพียงใด ป้ายที่เขียนว่า “block UV” นั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าป้องกันรังสี UV ได้เท่าใด สำหรับป้ายที่เขียนว่า “UV protection up to 400 nm” หมายความว่า สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 100% ดังนั้นจึงควรเลือกใช้แว่นตากันแดดที่มีการรับรองว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้ 99-100%

      1. ยังมีสภาวะแวดล้อมบางอย่างจะมีผลต่อโอกาสที่จะได้รับรังสี UV ในระดับที่แตกต่างกัน จึงควรคำนึงถึงด้วย เช่น แสงสะท้อนจากธรรมชาติหรือวัสดุผิวเรียบ เช่น หิมะจะสะท้อนรังสี UV ได้สูงถึง 60-80% ในเวลากลางวัน ไม่ว่าจะมีแสงแดดส่องหรือไม่ก็ตาม, ทรายตามชายหาดหรือทะเลทรายจะสะท้อนรังสี UV ประมาณ 15% ขณะที่ผิวน้ำสะท้อนประมาณ 5%
      2. ระดับความสูง ยิ่งอยู่ที่สูง เช่น บนภูเขายิ่งมีรังสี UV มาก
      3. ตำแหน่งที่ตั้ง ยิ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะมีโอกาสรับรังสี UV มากกว่าบริเวณอื่นของโลก
      4. ฤดูกาล จะมีรังสี UV มากที่สุดในฤดูร้อน รองลงมาคือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ตามลำดับ
      5. ช่วงเวลา มีรังสี UV มากระหว่างเวลา 10:00-16:00 น. และสูงที่สุดในเวลาเที่ยงวัน
      6. ระยะเวลา ยิ่งอยู่กลางแดดนาน ก็ยิ่งได้รับรังสี UV มากตามไปด้วย
      7. สภาพอากาศ เมฆหรือหมอกไม่สามารถป้องกันรังสี UV ได้

    2. การลดความเข้มของแสงแดด หรือแสงสะท้อน
    แว่นตากันแดด ควรมีคุณสมบัติที่สามารถลดความสว่างของแสงลงได้ 70-80% เพื่อลดผลกระทบของแสงจ้าต่อการทำงานของจอประสาทตาในการแยกแยะรายละเอียดของ วัตถุในที่สว่าง(contrast sensitivity) และความสามารถในการปรับการมองเห็นในที่มีแสงลดลง(dark adaptation) โดยการเลือกสีเลนส์ที่มีความเข้มพอเหมาะ หรือเคลือบเลนส์ด้วยสารกันแสงสะท้อน(anti-reflection) หรือสารสะท้อนแสง(mirror coating) หรือเลือกใช้เลนส์ประเภท polarized เป็นต้น
    การเคลือบสีเลนส์ (Gradient tint) มักเคลือบสีเข้มทางด้านบนของเลนส์ แล้วไล่สีจางลงสู่กลางเลนส์ด้านล่าง การเคลือบสีแบบนี้ได้ผลดีในการลดแสงจ้าที่มาจากตำแหน่งเหนือระดับสายตา เช่น ดวงอาทิตย์ เหมาะสำหรับการใส่ขับรถ เพราะยังมองแผงหน้าปัดหน้ารถที่อยู่ใต้ระดับสายตาได้ดี แต่ไม่เหมาะสำหรับใส่เล่นกีฬากลางแจ้ง แว่นตากันแดดสำหรับใส่เล่นกีฬาควรเคลือบสีเข้มทั้งด้านบนและด้านล่าง และไล่สีจางตรงกลาง เพื่อตัดแสงสะท้อนจากพื้นน้ำหรือหิมะด้วย
    การเคลือบสารกันแสงสะท้อน (Antireflection) ช่วยลดแสงสะท้อนที่เกิดขึ้นในเนื้อเลนส์แว่นตาที่จะมารบกวนการมองเห็น นอกจากนี้ยังลดแสงสะท้อนที่ผิวเลนส์ด้านนอก ทำให้ผู้อื่นมองเห็นดวงตาของผู้ใส่แว่นตาได้ชัดเจนไม่มีเงาสะท้อนที่ผิว เลนส์ ทำให้ดูเหมือนไม่ได้ใส่แว่นตาดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
    การเคลือบสารสะท้อนแสง (Mirror coating) เป็นการลดแสงที่จะเข้าตาโดยการสะท้อนแสงกลับคล้ายกระจกเงา โดยไม่มีผลต่อการมองเห็น ผู้ใส่ยังสามารถมองเห็นผ่านเลนส์ได้เหมือนปรกติ
    เลนส์ Polarized เนื้อเลนส์ใสแต่สามารถลดแสงที่จะผ่านเข้าตาได้โดยเนื้อเลนส์จะตัดแสงที่ผ่าน เลนส์ให้เหลือเพียงระนาบเดียว เหมาะสำหรับกิจกรรมที่ต้องการการมองเห็นที่ชัดเจนแต่ต้องเจอแสงสะท้อนจาก พื้นผิวต่างๆโดยที่ไม่มีแสงแดดจ้า เช่น ขับรถ, เล่นสกี, ตกปลา เป็นต้น

3. สีเลนส์แว่นตากับกิจกรรมต่างๆ

  1. การเลือกสีของเลนส์แว่นตาให้เหมาะสมกับกิจกรรมหรืองานที่ทำของแต่ละบุคคล มีส่วนช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น สีเทา(gray), สีเขียวอมเทา(แบบแว่น Ray-Ban) ลดความเข้มของแสง โดยไม่ทำให้สีของวัตถุผิดเพี้ยน
  2. สีน้ำตาล(brown) ช่วยเพิ่มความสามารถการมองแยกแยะรายละเอียดของวัตถุในที่สว่างได้ดีมาก(very high contrast) เหมาะสำหรับเมื่อต้องการมองแยกวัตถุต่างๆได้ชัดเจน แต่จะทำให้สีของวัตถุเพี้ยนไป
  3. สีอำพัน(amber) ช่วยให้มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ดีขึ้น ป้องกันแสงสีฟ้า(blue light) ที่เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา เหมาะสำหรับนักบิน คนขับเรือ นักยิงปืน นักสกี
  4. สีเหลือง(yellow) ช่วยให้มองแยกรายละเอียดของวัตถุ(contrast)ได้ดีขึ้น แต่ทำให้สีของวัตถุดูกระด้าง
  5. สีชมพู(pink), สีแดง(red) เหมาะสำหรับคนที่มีกล้ามเนื้อตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก็ทำให้สีเพี้ยนไปด้วย
  6. สีแดงชาด(vermillion) ช่วยให้มองแยกส่วนที่เป็นน้ำออกจากวัตถุอื่นๆได้ดี แต่ทำให้วัตถุมีสีผิดเพี้ยนมากที่สุด
  7. สีฟ้า(blue) ช่วยให้มองเห็นวัตถุที่มีสีขาวเช่น หิมะ ได้ดี แต่ก็ทำให้สีอื่นเพี้ยน
    นอกจากนี้ควรเลือกแว่นตากันแดดที่มีรูปทรงที่เหมาะสมและเข้าได้กับ ลักษณะใบหน้าของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถปกป้องดวงตาจากแสงที่มาจากมุมต่างๆได้รอบทิศ และต้องคำนึงไว้เสมอว่า การลดทอนความจ้าของแสงแดดและแสงสะท้อนไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการป้องกันรังสี UV เพราะสารที่ป้องกันรังสี UV ได้นั้นไม่มีสี ความเข้มของสีเลนส์แว่นตากันแดดกับการป้องกันรังสี UV จึงเป็นคนละเรื่องกัน



INSURANCETHAI.NET
Line+