โรคภูมิแพ้ที่ตา
622

โรคภูมิแพ้ที่ตา

โรคภูมิแพ้ที่ตา
    เหมือนโรคภูมิแพ้ในส่วนอื่นๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่โพรงจมูก, ไซนัส, หลอดลม หรือปอด คือมีสาเหตุจากการที่ ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ แล้วไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีปฏิกิริยาตอบสนอง มีการหลั่งสารฮีสตามีนออกมา ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นในบริเวณอวัยวะนั้นๆ สำหรับดวงตาเป็นอวัยวะที่ไวต่อการตอบสนองและสิ่งกระตุ้น มีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศได้ตลอดเวลา ทำให้มีอาการระคายเคืองตา ตาแดง และถึงแม้จะมีน้ำตาคอยเจือจางและชะล้างสารก่อภูมิแพ้ที่มาสัมผัสที่ตาได้ แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเกิดโรคได้เสมอไป

เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้
    ผู้ป่วยจะมีอาการเคือง คันตา, ตาแดง, น้ำตาไหล ซึ่งแยกได้ยากจากโรคเยื่อบุตาอักเสบจากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อ และเนื่องจากการรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ผู้ป่วยจึงควรพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

การรักษาโรคภูมิแพ้ที่ตา
    การรักษาโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก โดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ที่ตาที่ปนเปื้อนหรืออยู่ในอากาศเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ตาดังนี้ คือ

      1. สิ่งแวดล้อม: ที่อยู่อาศัย ควรดูแลสภาพภายในบ้านโดยเฉพาะห้องนอน ให้มีที่เก็บกักฝุ่นน้อยที่สุด ใช้วัสดุเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่อมฝุ่น ถอดซักทำความสะอาดได้ และคอยเช็ดทำความสะอาดทุกวันอย่าให้มีฝุ่นเกาะตามที่ต่างๆ เครื่องปรับอากาศควรได้รับการถอดล้างแผ่นกรองอย่างน้อยเดือนละครั้ง อาจทำความสะอาดบ่อยกว่านั้นถ้าสภาพแวดล้อมภายนอกบ้านมีฝุ่นมากเช่น อยู่ใกล้ถนน หรือในที่มีรถยนต์ผ่านไปมามาก และควรล้างภายในเครื่องปรับอากาศตามระยะเวลาที่ทางบริษัทฯกำหนดหรือทุก 6 เดือน การใช้เครื่องฟอกอากาศอาจช่วยลดโอกาศที่จะสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ใน อากาศให้น้อยลงได้ ห้องต่างๆควรมีระบบระบายอากาศที่ดีหรือเปิดหน้าต่างให้มีการถ่ายเทอากาศบ้าง แต่ต้องระวังถ้าอากาศภายนอกมีฝุ่น หรือควันและมลพิษมาก ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนควรใช้แบบป้องกันไรฝุ่นได้ ซึ่งมีทั้งชนิดเคลือบน้ำยาและแบบเส้นใยทอแน่น แต่คุณสมบัตินี้จะลดลงเมื่อผ้าถูกซักไปหลายๆครั้ง
          :: ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่มีสารก่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้มากเช่น ควันธูป ควันบุหรี่ สารไอระเหยต่างๆ
          :: ควรใส่แว่นตากันแดดเวลาออกนอกอาคารสถานที่ เพื่อป้องกันฝุ่น ลมไม่ให้เข้าตา
      2. รักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตาและขนตามากขึ้น นอกเหนือจากการล้างทำความสะอาดใบหน้าตามปรกติ โดยหลังจากอาบน้ำล้างหน้าเสร็จแล้ว ให้ล้างทำความสะอาดเปลือกตาด้วยแชมพูสระผมเด็ก โดยการหลับตาเบาๆแล้วถูล้างที่ขอบเปลือกตา เน้นที่บริเวณขนตาเป็นหลัก ควรทำเป็นกิจวัตรทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น
      3. ใช้น้ำตาเทียมแบบไม่มีสารกันเสีย( preservative free artificial tear) หยอดตาเมื่อมีอาการระคายเคืองไม่สบายตา คันตา ตาแดง หรือเมื่ออยู่ในที่มีฝุ่นควันมาก เพื่อช่วยชะล้างเอาสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในตาออกไป นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความชื้นที่เยื่อบุตา ทำให้อาการต่างๆลดลง
      4. ถ้ามีอาการภูมิแพ้ที่ตาเช่น คันตามาก ไม่ควรขยี้ตา การใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งวางประคบขณะหลับตา จะช่วยบรรเทาอาการลงได้มาก ยาหยอดตาแก้แพ้ที่มีสารหดเส้นเลือดและสารต้านสารฮีสตามีน สามารถนำยาหยอดได้เองเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการ แต่ไม่ควรนำมาใช้หยอดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะมีลักษณะเหมือนติดยา คือ จะทำให้มีอาการมากขึ้น เมื่อหยุดหยอดยาทันที
      5. อาจจำเป็นต้องใช้ยาหยอดแก้อักเสบ ถ้ามีอาการภูมิแพ้ที่ตามาก โดยต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ เพราะยาหยอดตาแก้อักเสบบางตัวเช่น ยาที่มีสเตียลอยด์ เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นจนกลาย เป็นต้อหินได้ในบางราย จึงไม่ควรซื้อยาหยอดตาแก้อักเสบชนิดนี้มาใช้เอง แต่ใช้ภายใต้การตรวจติดตามดูแลของแพทย์เท่านั้น
      6. ถ้าอาการภูมิแพ้รุนแรงและมีอาการแสดงในหลายระบบของร่างกาย แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการฉีดยากระตุ้นภูมิหรือ Immunotherapy ซึ่งจะทำให้ควบคุมโรคได้ดีขึ้น ช่วยให้สามารถลดหรือหยุดยาหยอดตาได้ โรคภูมิแพ้จัดเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือในการดูแลตัวเองของผู้ป่วยเป็น สำคัญ แพทย์เป็นเพียงผู้ช่วยวางแนวทางในการดูแลรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการรักษา คือ ตัวผู้ป่วยเอง

dr.yutthana.com/wind.html



INSURANCETHAI.NET
Line+