มะเร็งผิวหนัง
626
มะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนัง
เป็นมะเร็งที่สามารถพบได้เร็วกว่ามะเร็งชนิดอื่นเนื่องจากเห็นได้จาก ภายนอก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ธรรมชาติของมะเร็งผิวหนังจะขยายตัวค่อนข้างช้าอาจนานถึง 5-6 ปี แต่ถ้าไม่รักษาจะมีผลต่ออวัยวะใกล้เคียงไปจนถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
มะเร็งผิวหนังจะมีลักษณะอย่างไร
1. ผื่นแอคตินิค เคราโตซิล ( Actinic Keratisis = AKS ) เป็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ โดยมีลักษณะเป็นผื่นขุยๆ มักพบบริเวณหน้า แขน ลำตัว หลังมือ หรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดมาก ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้
2. มะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา ( Basal Cell Carcinoma = BCC ) เป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงน้อย เพราะเกิดบริเวณชั้นตื้นๆ มักเกิดการทำลาย เพราะบริเวณตำแหน่งที่เป็น ถ้าเป็นบริเวณใกล้เคียงอวัยวะที่สำคัญ เช่น ตา จมูก ปาก หู อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะนั้นได้ มะเร็งชนิดนี้มักพบบริเวณ หู จมูก ใบหน้า หน้าอก หลัง ลักษณะที่พบมีหลายแบบ
2.1 เป็นก้อนเนื้อนูนสีเดียวกับผิวหนัง หรือ ชมพูใส มีขอบ อาจมีเลือดออกบ่อยๆ
2.2 ลักษณะคล้ายสิว เป็นๆ หายๆ มักมีเลือดออก
2.3 ลักษณะเป็นก้อนแบนแข็งติดกับผิวหนัง
2.4 ลักษณะเป็นก้อนขุย มีสะเก็ดดำเลือดออก
อาการที่สำคัญ คือ มีการระคายเคืองบริเวณก้อนเนื้อ แผลเรื้อรัง เป็นๆ หายๆมีเลือดออก
3. มะเร็งสะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา ( Squamous Cell Carcinoma = SCC ) ลักษณะคล้ายกับมะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา การลุกลามมักเร็วกว่ามะเร็งชนิด บาซอลเซลล์ คาร์ชิโนมา มักจะลุกลามลงลึกสู่ด้านล่างของเซลล์ผิวหนัง ถ้าคลำดูผิวหนังด้านล่างมักจะพบว่าเป็นก้อนแข็งๆ
4. มะ เร็งแมลิกแนนท์ เมลาโนมา ( Malignant Melanoma ) ลักษณะคล้ายไฝดำ แต่จะกระจายอย่างรวดเร็วสู่อวัยวะภายใจสามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว จัดเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงที่สุด
มะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา และมะเร็งชนิดสะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา พบได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 60 - 80 ปี
สาเหตุการเกิด มะเร็งผิวหนัง
1. แสงแดดซึ่งมีรังสีอัลตร้าไวโอเล็ท ในช่วงเวลา 10.00 - 15.00 น.
2. การระคายเคืองของสารเคมี เช่น การได้รับสารหนู ยาแผนโบราณ แหล่งน้ำ อาหาร
3. การเป็นแผลเรื้อรังจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการทำลายยีนส์ที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังตามปกติ
4. พันธุกรรม
เราจะป้องกันได้อย่างไร
1. หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 - 15.00 น.
2. ใช้ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF > 15
3. หลีกเลี่ยงภาวะที่เสี่ยงต่อการระคายเคืองของผิวหนัง เช่น การสัมผัสสารเคมีบ่อยๆ หรือ การใช้วัตถุขัดถูผิวหนังอย่างแรงๆบางชนิด
ไฝบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง เราจะสังเกตได้อย่างไร
1. ไฝที่มีลักษณะขอบไม่เรียบ
2. สีไฝไม่สม่ำเสมอ
3. ขนาดโตมากกว่า 6 มม.
4. เมื่อแบ่งเส้นผ่าศูนย์กลางแล้ว ลักษณะของไฝสองข้างจะไม่เหมือนกัน
มีวิธีการรักษาอย่างไร
1. ถ้าเป็นผื่นแอคตินิค เคราโตซิส สามารถใช้การจี้ด้วยความเย็นในการรักษาก็เพียงพอ
2. ถ้าลุกลามเป็นมะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา ใช้วิธีการจี้ไฟฟ้า ร่วมกับการขูดผิวหนังหรือการตัดออกและการผ่าตัดพิเศษที่เรียกว่า Moh's Surgery ซึ่งวิธีการใดขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายของผู้ป่วย และลักษณะของเนื้อที่ผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย
3. ถ้าเป็นมะเร็ง สะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา ต้องใช้วิธีการ ผ่าตัด Moh's Surgery
หากเกิดแผลเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ มีเลือดออก มีการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน ควรรีบมารับการตรวจจากแพทย์ผิวหนังโดยเร็ว
Re: [มะเร็ง]มะเร็งผิวหนัง
626
Re: [มะเร็ง]มะเร็งผิวหนัง
เนื้องอกในร่างกายคนเรามีอยู่ 2 แบบ คือ แบบไม่ร้ายแรง มีวาสนาได้เป็นแค่เนื้องอกไปตลอดชีวิต กับแบบที่ร้ายแรง ก็คือมะเร็ง เจ้าตัวคร่าชีวิตมนุษย์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มะเร็งนั้นเกิดได้ทุกที่ในร่างกาย รวมทั้งบริเวณผิวหนัง แต่คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงคำว่ามะเร็ง แล้วจะมีความกลัวบังเกิดขึ้นมาทันที ถ้าเป็นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็วิตกจริต กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เอาแต่เพ้อว่า ต้องตายแน่นอน แต่สำหรับมะเร็งผิวหนังแล้ว ผมอยากจะบอกว่า ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หรือที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตนั้นก็อยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างจะต่ำมาก
จริงอยู่ตามสถิติแล้วมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนเรานั้นก็คือมะเร็งผิวหนัง แต่เป็นมะเร็งชนิดที่ไม่ทำให้มีการตายสูงแต่อย่างใด เหตุผลง่ายๆ เพราะมันเกิดที่ผิวหนัง ส่วนมากเจริญเติบโตในชั้นหนังกำพร้า เ ราจึงสามารถเห็นได้ด้วยตา จัดการกับมัน หรือเอาออกได้ไม่ยาก แค่ตัดชิ้นเนื้อขนาด 4-5 มิลลิเมตรไปตรวจ 2 สัปดาห์ก็รู้ผลแล้วว่าออกหัวหรือก้อย ไม่เหมือนพวกมะเร็งตับที่บางคนพอเจอก็อยู่ในขั้นรุนแรง หรือทำอะไรไม่ทัน ทำได้เพียงเขียนพินัยกรรมให้ลูกหลาน
ช่วงหลังๆ มานี้ มีการพูดถึงมะเร็งผิวหนังกันมาก เรียกว่ากระจายความกลัวกันเต็มที่ คน (ที่คิดว่าตัวเอง) เป็นไข้ หลายคนมาหาผมให้ช่วยวินิจฉัย เปิดไฝ โชว์ปานเนื้อ ติ่งเนื้อ อะไรต่างๆ นานา ถามว่า นี่ใช่มะเร็งหรือเปล่าคุณหมอ และส่วนมากที่ผมมักพบเจอ ก็คือเนื้องอกธรรมดา บางครั้งดูด้วยตาก็วินิจฉัยได้ทันที แต่ก็นั่นแหละครับ ปัจจัยความเสี่ยงของโรคภัยต่างๆ ทุกวันนี้มีมากขึ้นทุกที ใครจะไว้ใจได้
ผมเลยขอรวบรวมคำอธิบายเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนังมาให้อ่าน จะได้ไม่ต้องวิตกกังวลกันเกินกว่าเหตุ หรือหากมีสัญญาณว่าจะเป็นก็จะได้แก้ไขทันการณ์
มะเร็งผิวหนัง แบ่งทั่วไปได้ 3 ชนิด
1. Basal cell carcinomas เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบมากที่สุด เกิดในผิวหนังบริเวณผิวหนังที่รับแสงแดด หรือนอกร่มผ้า ซึ่งก็เหมือนๆ กับมะเร็งผิวหนังชนิดอื่น แทบจะไม่แพร่กระจายหรือลุกลาม และนำไปสู่การเสียชีวิตน้อยมาก สามารถเอาออกไปได้โดยการผ่าตัดและการฉายรังสี ง่ายๆ เหมือนกำจัดแผลเป็น
2. Squamous cell carcinomas พบทั่วไปเหมือนกัน แต่อยู่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าชนิดแรกอยู่มาก มีการแพร่กระจายบ้าง แต่ก็ในอัตราที่ช้า ยกเว้นหากเกิดบริเวณริมฝีปาก หู หรือในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำเป็นพิเศษ ทั้ง 2 ชนิดที่ผ่านมารักษาให้หายได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์น ไม่ว่าจะพบในขณะยังไม่เป็นผู้ร้ายเต็มตัว หรือขั้น Pre-cancerous หรือขั้นเป็นมะเร็งแล้วก็ตาม
3. Malignant Melanomas เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบน้อยที่สุดใน 3 ชนิดนี้ แต่เป็นชนิดที่แพร่กระจาย และน่ากลัวที่สุด เซลล์เม็ดสีมีการแบ่งตัวผิดปกติอาจลุกลามไปจุดสำคัญ เช่น สมอง ได้ ทว่าหากเจอตั้งแต่ต้นก็แก้ไขได้ไม่ยาก สัญญาณของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้คือมีแผลสีน้ำตาลไปถึงดำ เกิดการเปลี่ยนแปลงของขนาด รูปร่าง สี อย่างรวดเร็ว อาจมีอาการเจ็บ คัน เปื่อย และมีเลือดออก
มะเร็งที่อันตรายและนำไปสู่ความตายมากที่สุด คือมะเร็งปอด ในสหรัฐฯ พบปีละประมาณ 1.3 ล้านคน ส่วนมะเร็งผิวหนังชนิด Basal และ Squamous นั้นพบรวมกันปีละประมาณ 2,000 คน คิดเป็นเพียง 30 % ของชนิด Melanoma ที่พบปีละประมาณ 6,500 คน
ปัจจัยสู่มะเร็งผิวหนัง
* วัย ลักษณะทางพันธุกรรม และการสูบบุหรี่
* สีผิว คนผิวคล้ำมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนผิวขาว นอกจากนี้ยังรวมถึงการ
* ได้รับรังสี UV ทั้งชนิด UVA และ UVB
* การรับประทานสารหนูปนเปื้อนจากยาหม้อ ยาต้ม ยาลูกกลอน ที่ไม่ทราบแหล่งผลิตที่แน่นอน ส่วนผู้ที่อาศัยในแหล่งน้ำที่มีสารหนูจะก่อให้เกิดผลในระยะยาว
* แผลเรื้อรังที่ไม่รักษาให้หายไปเป็นปกติ โดยเฉพาะแผลเปื่อย อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Squamous cell carcinoma ได้ รวมถึงปาน หรือ ไฝ ที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ ตั้งแต่ 20 มิลลิเมตรขึ้นไป มีความเสี่ยง โปรดอย่านิ่งนอนใจ
* ไวรัสในตำแหน่งที่ลับ อวัยวะเพศ ที่ชื่อ Human papailloma virus (HPV) อาจจะเริ่มจากการเป็นหูด ให้รีบรักษา อย่าอายหมอ เพราะทิ้งไว้ระยะยาวก็อาจจะลุกลามเป็นมะเร็งได้ แม้จะเกิดในเปอร์เซ็นต์น้อย ซึ่งมีวัคซีน HPV สามารถป้องกันได้ เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง
กันไว้ดีกว่าแก้ มะเร็งผิวหนัง
* แน่นอน เราไม่อาจใช้ชีวิตโดยไม่โดนแสงแดดได้ แต่ก็มีทางป้องกันมะเร็งผิวหนังได้มากมาย
* ผิวที่อยู่ในร่มผ้า นอกร่มผ้า ผิวด้านในและผิวด้านนอกมีสุขภาพต่างกัน แม้อายุผิวจะเท่ากัน การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดไม่ใช่เพราะอายุ แต่เป็นเพราะรังสียูวี อย่างผิวหน้าท้องนี่เนียนนุ่มนี่แทบจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งเลย ฉะนั้นเราจึงควรลดการเผชิญแสงแดด โดยเฉพาะระหว่างเวลา 9 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น
* หากจำเป็นต้องอยู่กลางแดด ให้สวมเสื้อแขนยาว และทาครีมกันแดดที่ป้องกันทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี ทาทุกๆ 2 ชั่วโมง และโดยเฉพาะหลังการว่ายน้ำ
* ไม่ควร รับวัฒนธรรมต่างชาติ ที่ชอบอาบแดดให้เป็นสีแทน เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่าการมีสีแทนเป็นสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพดี และการมีปัญญาไปเที่ยวตากอากาศต่างแดน ด้วยความไม่รู้ตัวเพราะเหตุนี้ฝรั่งผิวขาวจึงเป็นมะเร็งผิวหนังกันมาก
* คนหัวล้านก็มีโอกาสเป็นมะเร็งหนังศีรษะได้ ต้องใส่หมวก แต่ไม่ใช่หมวกแก๊ปที่เปิดโล่งเตียนกลางกระหม่อมที่ชอบใส่กันตอนตีกอล์ฟนะครับ
* เลิกสูบบุหรี่ งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า บุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งผิว หนัง นอกจากป้องกันมะเร็งผิวหนังแล้วยังป้องกันมะเร็งปอดอีกด้วย ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบที่สุดก็เลิกดื่มเหล้าเสียด้วยเลย
แนวทางการรักษามะเร็งผิวหนัง
การรักษานั้นไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปซื้อยาใช้เอง ไม่ว่าจำพวกยาทาหรืออะไรก็ตาม อาจรักษาได้จริงแต่ก็เพียงระยะเริ่มต้น เพราะหากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก็จะมีความเสี่ยงสูง ซึ่งข้อนี้สำคัญที่สุด เม็ดสีที่สงสัยว่าผิดปกติ ขึ้นมาได้ยังไง ทำไมโตไว เปลี่ยนสี ขนาด รูปร่าง อย่างรวดเร็ว ควรไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชายด้านผิวหนังโดยตรง บอกหมอให้ครบถึงรายละเอียด แล้วจะได้รับการรักษาที่ตรงจุด และทันท่วงที
จากนิตยสาร Men's Health ฉบับเดือนกุมภาพันธ๋ 2553
INSURANCETHAI.NET