มะเร็งหลอดอาหาร
630
มะเร็งหลอดอาหาร
มะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 55-65 ปี โรคเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
สาเหตุของมะเร็งหลอดอาหาร สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแต่จากการศึกษาวิจัยพบปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่
1. อาจมีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติ เพราะอุบัติการณ์จะสูงกว่าในชาวอิหร่าน โซเวียตและจีน
2. สุรา บุหรี่ เพิ่มปัจจัยเสี่ยง
3. การบริโภคสารพวกไนโตรโซ (Nitroso compound) หรือไนโตรซามีน (Nitrosamines) ซึ่งมีอยู่ในอาหารบางจำพวกในปริมาณสูงและบริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัย เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร
4. การรับประทานผัก ผลไม้มากๆ อาจลดปัจจัยเสี่ยง
อาการและอาการแสดงของมะเร็งหลอดอาหารไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งหลอดอาหารแต่จะเป็นอาการคล้ายคลึงกับโรคทั่วๆไปของหลอดอาหารที่พบบ่อย ได้แก่
1. กลืนอาหารไม่สะดวก รู้สึกติด หรือสำลัก
2. อาจมีเสลดปนเลือด
3. ไอ สำลัก ขณะรับประทาน
4. อาจคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอได้
5. ผอมลงเพราะรับประทานไม่ได้หรือได้น้อย
ดังนั้น ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
การตรวจคัดกรองมะเร็งหลอดอาหาร
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่จะตรวจคัดกรองมะเร็ง หลอดอาหารได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกเป็นโรคแต่อาจลดปัจจัยเสี่ยงลงได้ โดยการ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวได้แล้วได้ตอนต้น
การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและหาระยะของโรคมะเร็งหลอดอาหาร แพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งหลอดอาหารได้โดย
1. ซักประวัติ อาการ อาการแสดง การตรวจร่างกาย
2. ถ้าสงสัยอาจตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ด้วยการกลืนแป้งตรวจหลอดอาหาร ซึ่งเป็นการตรวจทางเอกซเรย์เพื่อดูภาพและพยาธิสภาพของหลอดอาหาร
3. การส่องกล้องตรวจพยาธิสภาพของหลอดอาหารและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ทางพยาธิวิทยา
เมื่อผลตรวจทางพยาธิวิทยา ระบุว่าเป็นมะเร็งแน่นอนแล้ว แพทย์มักตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วยและหาระยะของโรคโดย
1. ตรวจเลือดดูการทำงานของไขกระดูก ตับ ไต เบาหวาน เป็นต้น ...
2. ตรวจปัสสาวะดูการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ
3. ตรวจเอกซเรย์ปอดดูการแพร่กระจายของโรค
4. อาจตรวจภาพอัลตราซาวด์ตับ ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปตับ
5. อาจตรวจภาพสแกนกระดูก ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปกระดูก
6. ในผู้ป่วยบางราย ถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แพทย์อาจส่งตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการลุกลามของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ ใกล้เคียง หรือดูการแพร่กระจายของต่อมน้ำเหลืองในช่องอกหรือในช่องท้อง
การตรวจเพิ่มเติมต่างๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกัน ทั้งนี้จะเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
มะเร็งหลอดอาหารแบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กยังอยู่เฉพาะในตัวหลอดอาหารยังไม่ลุกลาม
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้นลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามทะลุเนื้อเยื่อต่างๆ ของหลอดอาหารและมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกล
ออกไปหรือกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น
ความรุนแรงของโรคมะเร็งหลอดอาหารขึ้นกับปัจจัยต่างๆ หลายอย่างที่สำคัญได้แก่
1. ระยะของโรคระยะที่สูงขึ้น โรคจะรุนแรงมากขึ้น
2. สภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้าแข็งแรงผลการรักษาจะดีกว่า
3. โรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้
4. อายุ ในคนสูงอายุ มักจะทนการรักษาได้ไม่ดี
การรักษามะเร็งหลอดอาหารมีวิธีการหลัก 3 วิธีคือ การผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด
การผ่าตัด จะเป็นวิธีการรักษาในมะเร็งระยะต้นๆ และเป็นมะเร็งหลอดอาหารในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดได้ โดยผ่าตัดเอาหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป แต่ในโรคระยะลุกลามจนผู้ป่วยรับประทานทางปากไม่ได้ อาจมีการผ่าตัดเล็กทางกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กเพื่อให้อาหารทางสายยางแทน
รังสีรักษา โดยทั่วไปมักเป็นการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว หรือฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด หรือฉายรังสี เคมีบำบัด และผ่าตัด ซึ่งจะเป็นไปตามข้อบ่งชี้การแพทย์เป็นรายๆ ไป การฉายรังสีก็เช่นเดียวกัน การผ่าตัด จะมีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือใช้รักษาเพื่อควบคุมโรค ซึ่งจะใช้รักษาผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มากและมี สุขภาพแข็งแรงและการรักษาแบบประคับประคองที่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็น มากแล้วหรือสุขภาพไม่แข็งแรง
เคมีบำบัดจะเช่นเดียวกัน มักใช้รักษาร่วมกับรังสีหรือร่วมกับรังสีและการผ่าตัด
การติดตามผลการรักษา
ภายหลังให้การรักษาครบแล้ว แพทย์มักนัดตรวจรักษาเพื่อติดตาม ผลการรักษาโดยใน 1-2 ปีหลังการรักษา อาจนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ปีที่ 3-5 หลังการรักษา อาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ในปีที่ 5 ไปแล้วอาจนัดตรวจ ทุก 6-12 เดือน ในการมาตรวจรักษาแต่ละครั้ง ควรพาญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อร่วมพูดคุยปรึกษากับแพทย์โดยตรง และควรนำยาและผลการตรวจต่างๆ ถ้ามีการตรวจรักษาจากแพทย์ท่านอื่นมาให้แพทย์ดูด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้มีการรักษาได้อย่างเหมาะสม
INSURANCETHAI.NET