โรคจอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากอายุมาก
634
โรคจอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากอายุมาก
จอประสาทตา คือ เนื้อเยื้อพิเศษที่ทำหน้าที่เป็นจอรับภาพ และรับแสงอยู่ที่ผนังชั้นในสุดของลูกตาประกอบด้วยเซลล์รับภาพเป็นล้าน ๆ ตัว เพื่อทำหน้าที่รับภาพแล้วส่งภาพผ่านเส้นประสาทตาเข้าไปยังสมอง โดยปกติแล้วจอประสาทตาทำหน้าที่รับภาพได้ดี แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น เช่นมากกว่า 50 ปีขึ้น ไป เซลล์รับภาพจะเริ่มเสื่อมหรือถูกทำลายไปเองโดยเฉพาะกลุ่มเซลล์รับภาพตรง ศูนย์กลางจอประสาทตา ทำให้เกิดอาการมองภาพไม่ชัด เห็นภาพบิดเบี้ยวไป หรือมีเงาดำ จุดดำ อยู่ตรงกลางภาพ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคโรคจอประสาทตาเสื่อม
1. มีอายุมาก
2. การสูบบุหรี่
3. มีโรคความดันโลหิตสูง
4. มีโรคเบาหวาน
5. มีภาวะโคเลสเตอรอลสูง
6. มีกรรมพันธุ์ คือ มีประวัติของบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
มีวิธีสังเกตอาการโรคจอประสาทตาเสื่อม
ปิดตาทีละข้างแล้วใช้อีกข้างมองภาพวัตถุหรือเส้นตรงแล้วเห็น เป็นเส้นคดหรือมีเงาดำบดบังตรงกลาง ก็แสดงว่า ตาข้างนั้นอาจมีโรคจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นแล้ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุมากแล้ว มีวิธีการดูแลรักษาอย่างไรบ้าง
การดูแลรักษาจอประสาทเสื่อมควรทำโดยจักษุแพทย์ โดยจุดประสงค์การรักษาคือ การยับยั้ง หรือชะลอการสูญเสียสายตา ยืดอายุการใช้งานสายตาไปให้นานที่สุด เพราะโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีการรักษาในปัจจุบันมี 2-3 วิธีคือ การใช้แสงเลเซอร์ที่เกิดความร้อน การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำร่วมกับการใช้แสงเลเซอร์ที่ไม่เกิดความร้อน และการผ่าตัดจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้แนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะ สมให้แก่ท่าน
ข้อสำคัญคือการหมั่นสังเกตตัวเองและไปตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ หากอายุมากกว่า 60 ปีควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อเกิดโรคนี้ขึ้น จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที
ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับดวงตาอาจนำพาไปสู่อันตรายขั้นร้ายแรงที่คุณคาดไม่ถึงเพราะ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตา อาจไม่ใช่เพียงแค่โรคตา แต่เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง ภาวะโคเลสเตอรอลสูง อายุที่มากขึ้น จากพันธุกรรม รวมถึงเกิดจากอุบัติเหตุหากพบมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
INSURANCETHAI.NET