มะเร็งโคนลิ้น มะเร็งต่อมทอนซิล (มะเร็งออโรฟาริ้งค์)
636
มะเร็งโคนลิ้น มะเร็งต่อมทอนซิล (มะเร็งออโรฟาริ้งค์)
โคนลิ้นและต่อมทอนซิลเป็นอวัยวะที่อยู่ในส่วนเรียกว่า ออโรฟาริ้งค์ (Oropharynx) ออ โรฟาริ้งค์เป็นตำแหน่งที่เชื่อมต่อระหว่างช่องปากและช่องคอ อวัยวะที่อยู่ในบริเวณนี้มากหลากหลายอวัยวะที่รู้จักคุ้นเคยกัน คือ โคนลิ้น ต่อมทอนซิล เพดานอ่อนและลิ้นไก่ มะเร็งของอวัยวะต่างๆ ในบริเวณนี้จะมีสาเหตุ อาการ อาการแสดงระยะโรค ความรุนแรงและวิธีการดูแลรักษาเหมือนกัน
มะเร็งออโรฟาริ้งค์ มักพบในอายุ 50 ปีขึ้นไป พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง
สาเหตุของการเกิดมะเร็งออโรฟาริ้งค์ สาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งออโรฟาริ้งค์ยังไม่ทราบ แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ
1. การดื่มสุราจัด
2. การสูบบุหรี่จัด
3. ส่วนเรื่องอาหารและการติดเชื้อไวรัสยังอยู่ในการศึกษาวิจัยว่าจะมีความสัมพันธ์กับมะเร็งชนิดนี้หรือไม่?
อาการและอาการแสดงของมะเร็งออโรฟาริ้งค์ อาการที่พบได้บ่อยได้แก่
1. เจ็บคอเรื้อรัง
2. มีแผลเรื้อรังในบริเวณออโรฟาริ้งค์ เช่น ที่โคนลิ้น ที่ต่อมทอมซิลหรือในช่องปากข้างๆ ด้านในของลำคอ เป็นต้น
3. มีก้อนในบริเวณออโรฟาริ้งค์ตรงอวัยวะที่เป็นมะเร็ง เช่น มีต่อมทอนซิลโตผิดปกติ เป็นต้น และก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ โตเร็ว
4. อาจมีเลือดปนน้ำลายหรือเสลด
5. กลืนอาหารแล้วรู้สึกติดคอ ไม่คล่อง เจ็บ
6. ถ้าก้อนโตมากอาจมีอาการหายใจไม่ได้ หายใจไม่ออก เพราะก้อนจะโตไปอุดทางเดินหายใจได้
7. ถ้าเป็นระยะลุกลาม โรคจะกระจายมาต่อมน้ำเหลืองที่คอข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้
การตรวจเพื่อวินิจฉัยและเพื่อหาระยะของโรค แพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคโดย
1. ซักถามประวัติ อาการ อาการแสดงและการตรวจร่างกาย
2. การตรวจทางหู คอ จมูก ในช่องปาก ช่วงออโรฟาริ้งค์และลำคอ
3. การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอทั้ง 2 ข้าง
4. ถ้าสงสัยแพทย์จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา
เมื่อผลการตรวจทางพยาธิวิทยา ระบุว่าเป็นมะเร็งแพทย์จะตรวจเพิ่มเติม เพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วยและหาระยะของโรคได้แก่
1. การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการและตรวจปัสสาวะ
2. การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดดูการทำงานของปอดและการแพร่กระจายของโรค
3. อาจมีการตรวจทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูการลุกลามของโรค
4. อาจมีการตรวจภาพอัลตราซาวด์ตับ ถ้าสงสัยว่ามีโรคกระจายไปตับ
5. อาจมีการตรวจภาพสแกนกระดูก ถ้าสงสัยว่ามีโรคกระจายไปกระดูก
การตรวจเพิ่มเติมต่างๆ จะทำตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งจะแต่กต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นการตรวจต่างๆ ของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ระยะของโรคมะเร็ง มะเร็งออโรฟาริ้งค์ แบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ก้อน / แผล มะเร็งมีขนาดเล็ก
ระยะที่ 2 ก้อน / แผล มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น
ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียงและต่อมน้ำเหลืองที่คอโต คลำได้
ระยะที่ 4 ก้อน / แผล มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียงมากขึ้น กระจายไปต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตมาก และอาจโตทั้ง 2 ข่างของลำคอ หรือมีโรคแพร่กระจายไกลไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น กระจายไปปอดหรือกระดูก เป็นต้น
ความรุนแรงของโรค ปัจจัยที่เสริมความรุนแรงของมะเร็งออร์โรฟาริ้งค์ มีหลายปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่
1. ระยะของโรค ยิ่งระยะสูงขึ้น โรคก็รุนแรงมากขึ้น
2. สภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย ถ้าแข็งแรงผลการรักษาก็ดีกว่า
3. โรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา
4. อายุ ผู้ป่วยสูงอายุ มักทนการรักษาแบบหายขาดไม่ได้
วิธีการรักษามะเร็งออโรฟาริ้งค์ วิธีที่ใช้รักษามะเร็งออโรฟาริ้งค์ มี 3 วิธีคือ รังสีรักษา เคมีบำบัด และการผ่าตัด
รังสีรักษา เป็นวิธีการรักษาหลักในการรักษามะเร็งออโรฟาริ้งค์ ใช้รักษาทุกๆ ระยะของโรค โดยทั่วไปจะเป็นการฉายรังสี ครอบคลุมทั้งส่วนออโรฟาริ้งค์และต่อมน้ำเหลืองที่คอ จะฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันทุกๆวัน ใน 1 สัปดาห์จะฉาย 5 วันติดต่อกัน หยุดพักสัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลก็จะหยุดวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการใช้ ระยะเวลารักษาทั้งหมดประมาณ 6-8 สัปดาห์ติดต่อกัน การฉายรังสีจะมีผลกระทบต่อช่องปากและฟัน ฟันจะผุเสื่อมสภาพได้ง่าย ดังนั้นก่อนการฉายรังสีผู้ป่วยจึงต้องได้รับการตรวจรักษาช่องปากและฟันจาก ทันตแพทย์ก่อน ทันตแพทย์จำเป็นต้องถอนฟันที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ออกให้หมดก่อน และจะเริ่มฉายรังสีหลังจากมีการดูแลช่องปากและฟันเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ามีการถอนฟันก็จะต้องรอจนกว่าแผลถอนฟันจะติดดีก่อน
เคมีบำบัด มัก ให้ร่วมกับรังสีรักษาเสมอจะให้ในผู้ป่วยที่มีโรคลุกลามแล้ว และมีสุขภาพแข็งแรง การให้เคมีบำบัดมักให้ไปพร้อมกับการฉายรังสีแต่ถ้าระหว่างรักษาผู้ป่วยทนการ รักษาได้ไม่ดี แพทย์มักจะพักการให้เคมีบำบัดไว้ก่อนแต่จะยังฉายรังสีต่อจนครบแล้วจึงจะกลับ มาให้เคมีบำบัดต่อ
การผ่าตัด การผ่าตัดรักษามะเร็งออโรฟาริ้งค์มีข้อจำกัดมาก มีผู้ป่วยน้อยรายที่จะใช้การผ่าตัดเพื่อการรักษาโรคนี้
การตรวจรักษาเพื่อติดตามผลการรักษา
ภายหลังครบการรักษาแล้ว แพทย์จะยังนัดตรวจรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นระยะๆ ไป โดยใน 1-2 ปีแรก หลังการรักษามักนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ภายหลัง 3-5 ปี มักนัดตรวจทุก 2-3 เดือน แต่ถ้าภายหลัง 5 ปีไปแล้วมักนัดทุก 6-12 เดือน ในการมาตรวจเพื่อติดตามโรคทุกครั้ง ควรนำญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อจะได้ร่วมรักษา พูดคุยกับแพทย์โดยตรง และควรนำยาที่ รับประทานอยู่หรือถ้ามีการตรวจจากแพทย์ท่านอื่นๆ ด้วย ก็ควรนำผลการตรวจนั้นๆ มาแจ้งแพทย์ด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
INSURANCETHAI.NET