มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
641

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองคืออะไร (Lymphoma)
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือเนื้องอกของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย ระบบน้ำเหลือง(Lymphatic System) จัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ประกอบไปด้วยอวัยวะน้ำเหลือง
ได้แก่ ม้าม และไขกระดูก ภายในอวัยวะเหล่านี้ จะเต็มไปด้วยน้ำเหลือง ซึ่งมีหน้าที่นำสารอาหาร และเซลล์เม็ดเลือดขาว (Lymphocyte) ไปทั่วร่างกาย ความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้น

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน ( Non-Hodgkin Lymphoma)

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน ( Hodgkin Lymphoma)
จัดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่พบได้น้อยกว่า และมีลักษณะเฉพาะคือ พบ Reed-sternberg cell ซึ่งไม่พบในมะเร็งต่อน้ำเหลืองชนิดอื่น
ในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน 62,000 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ชาย 60% และเป็นผู้หญิง 40 %
โดยเฉลี่ยในแต่ละปี ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน 25,000 คน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma)
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 30 ชนิดย่อย ถ้าอาศัยการเจริญของตัวมะเร็งแล้ว จะสามารถแบ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินออกได้ 2 ชนิด คือ
1. ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolet) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งค่อนข้างช้า แต่มะเร็งชนิดนี้มักจะไม่หายขาดด้วยการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2. ชนิดรุนแรง (Aggressiv) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน ถึง 2 ปี ข้อแตกต่างจากมะเร็งชนิดค่อยเป็นค่อยไปคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรงมีโอกาสหายหาดจากโรคได้ ถ้าได้รับการรักษา
ในแต่ละปี มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน 286,000 คนทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นชาย 58% และเป็นหญิง 42%

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
    เนื่อง จากอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถพบได้ในหลายภาวะ เช่น การติดเชื้อ ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง แต่โดยทั่วไปอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักจะกินเวลานาน และไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุอื่น

อาการเริ่มต้นของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบได้บ่อย
    - การพบก้อนที่บริเวณต่าง ๆของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ หรือ ขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น มักไม่เจ็บต่างจากการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน
    - ไข้ หนาวสั่น
    - มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน
    - เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
    - อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
    - ไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวก
    - ต่อมทอนซิลโต
    - อาการคันทั่วร่างกาย
    - ปวดศีรษะ (พบในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท)

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะลุกลาม
    - ในผู้ป่วยบางราย จะพบอาการปวดที่ต่อมน้ำเหลือง หลังการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    - ในรายที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองภายในช่องท้อง จะพบอาการแน่นท้อง หรืออาหารไม่ย่อยได้

ต่อมน้ำเหลืองที่โตจะมีผลกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดเลือด หรือเส้นประสาท อาจทำให้เกิดอาการชา หรือ ปวด ตามแขนขาได้
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบมีความสัมพันธ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในผู้ที่มีภาวะพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ในผุ้ที่ได้รับการปลูกถายอวัยวะและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, ผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้มีบางรายงานพบว่ามีความสัมพันธ์กับการได้รับสารเคมีบางชนิด

แนวทางการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีหลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การรักษาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ สามารถใช้ได้ทั้งเป็นการรักษาเดี่ยวหรือการรักษาแบบผสมผสาน
1. การเฝ้าติดตามโรค
    - การเฝ้าติดตามโรคมักใช้ในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent) หรือในรายชื่อที่ผู้ป่วยมีอาการจากตัวโรคไม่มาก
    - ระหว่างการเฝ้าติดตามโรค จะมีการตรวจเลือดหรือตรวจทางรังสีเป็นระยะ

2. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
    - ยาเคมีบำบัดจะทำลายเซลล์มะเร็งโดยไปรบกวนการแบ่งตัวเซลล์มะเร็งการเลือกชนิด ของยาเคมีบำบัดนั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไปการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักจะให้ยาเคมีบำบัดหลายขนานร่วมกัน หรืออาจให้ร่วมกับการรักษาด้วย แอนติบอดี (Monoclonal Antibodies)

3. การรักษาด้วยแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies)
    - แอนติบอดี คือ สารสังเคราะห์ที่จะไปจับกับโปรตีนบนผิวของเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อมากำจัดเซลล์ มะเร็งนั้น

4. การรักษาด้วยการฉายรังสี (Radiation Therapy)
- คือการรักษาด้วยการใช้รังสีปริมาณสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง

5. การรักษาด้วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Transplantation)
    - หลักการของรักษาด้วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดคือ การทำลายเซลล์มะเร็งให้หมดไป แล้วแทนที่ด้วยเซลล์ที่ปกติ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
    5.1 การถูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด โดยอาศัยเซลล์ของผู้บริจาค ( Allogeneic Transplantation)
    5.2 การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด โดยอาศัยเซลล์ของผู้ป่วยเอง (Autologous Transplantation)

ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ข้อมูลทั่วไป
- ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เป็น
- ผลกระทบของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- การตรวจค้นเพิ่มเติมที่ต้องทำ

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ทางเลือกและกลไกในการรักษา
- ผลกระทบของการรักษาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- ชื่อยาเคมีบำบัดที่ได้รับ
- ระยะเวลาของการรักษา
- ความถี่ของการใช้ยาเคมีบำบัด
- จุดมุ่งหมายของการรักษา เพื่อรักษาให้หายขาด หรือเพื่อควบคุมโรค

ผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
    - อาการไม่พึงประสงค์และความเสี่ยงจากการรักษา

การปฏิบัติตัวระหว่างรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ควรงดบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก และสะอาด ไม่ควรรับประทานอาหารหมักดอง



INSURANCETHAI.NET
Line+