รพ.เอกชน แจงยิบ รักษาแพง-ต้นทุนสูง
645

รพ.เอกชน แจงยิบ รักษาแพง-ต้นทุนสูง

updated: 23 พ.ค. 2558 เวลา 12:20:25 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

อนุ กมธ.ชี้ปม รพ.เอกชนเก็บค่ารักษาไส้ติ่ง เพราะหวั่นถูกฟ้อง ต้องตรวจละเอียด บวกค่าเครื่องมือ

ชี้ปมไส้ติ่งแพงหวั่นฟ้อง-ตรวจยิบ

กรณีคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำรวจค่าใช้จ่าย 5 กลุ่มโรคในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐรวม 9 แห่ง พบว่าค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่ารัฐหลายเท่า โดยเฉพาะโรคไส้ติ่งอักเสบ โรคหวัด รวมถึงผ่าต้อกระจก โดยจะนำข้อมูลมาศึกษาอย่างละเอียดแยกหมวดค่ารักษาให้ชัด และจะสรุปผลเสนอให้ สนช.ในวันที่ 23 มิถุนายน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขนั้น

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะคณะอนุ กมธ.ศึกษาฯ กล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าวมีอยู่หลายปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าภาครัฐ เช่น กรณีผ่าตัดไส้ติ่ง หลายคนมองว่าเป็นโรคทั่วไป ไม่ได้ซับซ้อนนั้น ข้อเท็จจริงในโรงพยาบาลเอกชนมีความกังวลมากในเรื่องถูกฟ้องร้อง และต้องการตรวจวินิจฉัยอย่างแม่นยำที่สุด

"จากการสอบถามโรงพยาบาลเอกชน พบว่าค่ารักษาพยาบาลไส้ติ่งที่มีอัตราสูงสุดในโรงพยาบาลเอกชนระดับ 5 ดาว ถึง 211,765 บาทนั้น เป็นเพราะมีการตรวจด้วยซีทีสแกน (CT scan) รวมทั้งการใช้เครื่องมืออื่นๆ ค่าห้องพัก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดได้สอบถามกับผู้ป่วยและญาติในเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว" นพ.สรณกล่าว

เทียบปี 52 กับ 57 ค่ารักษาพุ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเปรียบเทียบหรือไม่ว่าแต่ละปีโรงพยาบาลเอกชนขึ้นค่ารักษามากน้อยแค่ไหน นพ.สรณกล่าวว่า มี แต่ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าค่าครองชีพและปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ต้นทุนย่อมต้องสูงขึ้นด้วย ทีมอนุ กมธ.ศึกษาฯได้เปรียบเทียบค่ารักษาโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน 9 แห่ง มีโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโรงเรียนแพทย์ 3 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี และ รพ.จุฬาลงกรณ์ ส่วนโรงพยาบาลเอกชน 6 แห่ง แบ่งเป็น 1.โรงพยาบาลเอกชนระดับ 5 ดาว อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มเมดิคัล ฮับ 2 แห่ง 2.โรงพยาบาลเอกชนที่มูลนิธิสนับสนุน 2 แห่ง และ 3.โรงพยาบาลเอกชนทั่วไปในหัวเมืองต่างๆ อีก 2 แห่ง โดยเปรียบเทียบค่ารักษาในปี 2557 และย้อนไปในปี 2552 พบว่ามีความแตกต่างกัน โดยโรงพยาบาลรัฐมีราคาเพิ่มไม่มากนัก อาจเพราะมีงบประมาณภาครัฐสนับสนุน ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน

"จากการเปรียบเทียบข้อมูลได้เพียง 2 กลุ่มโรค คือ กลุ่มแรกเป็นค่าใช้จ่ายขยายหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน พบว่าปี 2552 ค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลเอกชนระดับ 5 ดาว 255,528-295,997 บาท ขณะที่ปี 2557 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 422,058-811,806 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนระดับอื่นๆ ในปี 2552 อยู่ที่ 80,440-149,055 บาท และปรับเพิ่มขึ้นในปี 2557 เป็น 164,870-178,743 บาท เป็นต้น" นพ.สรณกล่าว และว่า ขณะที่โรงพยาบาลภาครัฐ พบว่าปี 2552 มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 65,226 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 89,375 บาท แต่โรงพยาบาลรัฐบางแห่งราคาลดลง ปี 2552 ค่าใช้จ่ายในการขยายหลอดเลือดอยู่ที่ 159,989 บาท ปี 2557 เหลือเพียง 142,917 บาท

นพ.สรณกล่าวว่า การผ่าตัดไส้ติ่งซึ่งไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน พบว่าโรงพยาบาลเอกชนระดับ 5 ดาว เดิมมีค่าใช้จ่ายในปี 2552 อยู่ที่ 136,266 บาท เพิ่มเป็น 180,943-211,765 บาท ในปี 2557 ส่วนโรงพยาบาลเอกชนระดับหัวเมืองและโรงพยาบาลเอกชนที่มีมูลนิธิสนับสนุนนั้น ปี 2552 มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 38,981 บาท ถึง 76,388 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 57,682 บาท ถึง 111,931 บาท ส่วนโรงพยาบาลรัฐ ในปี 2552 มีราคาที่ 16,841-24,489 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 22,313 บาท ถึง 26,964 บาท

ชี้ราคาขยับตามภาวะ ศก.

นพ.สรณกล่าวว่า การเปรียบเทียบให้เห็นว่าค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงจริง แต่มีสาเหตุ เช่น ปี 2552 และปี 2557 ต้นทุน ค่าครองชีพ เงินเดือน ทุกอย่างต่างกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้นตามเศรษฐกิจ จึงเกิดภาพว่าโรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากปี 2552 มาปัจจุบันเกือบเท่าตัว แต่ในบางกลุ่มไม่ชัดเจน เพราะค่าใช้จ่ายคงที่ก็มี ซึ่งต้องแยกให้ชัดอีก

"สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ โรงพยาบาลเอกชนในระดับทั่วไป ประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งสามารถไปใช้บริการได้ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลภาครัฐได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันคนที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐมีถึง 24 ล้านคน ขณะที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4.8 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมาก และเป็นไปไม่ได้ที่โรงพยาบาลภาครัฐจะรองรับได้ทั้งหมด เข้าใจว่าโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะคิดค่ารักษาพยาบาลแพงจนเกินไป จึงสมควรต้องควบคุมราคาให้เหมาะสม หากผลการศึกษาแล้วเสร็จน่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาได้" นพ.สรณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อเรียกร้องโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน นพ.สรณกล่าวว่า ต้องแยกออกจากกัน โดยผลการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาค่ารักษาพยาบาลในภาวะทั่วไป แต่ที่ร้องเรียนมากๆ และกลายเป็นประเด็นคือ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า เมื่อโรงพยาบาลเอกชนรักษาจนพ้นวิกฤตแล้ว แต่เรียกเก็บเงินจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายได้ และนำไปสู่การร้องเรียนนั้น ต้องพิจารณาให้ชัด เนื่องจากนโยบายระบุว่า รักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินฟรีทุกสิทธิในโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งหากโรงพยาบาลรักษาจนพ้นวิกฤตแล้ว แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาตัวต่อเนื่อง และโดยหลักต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสิทธิ ปัญหาคือโรงพยาบาลในสิทธิกลับไม่มีเตียงว่างบ้าง ไม่มีระบบส่งตัวกลับบ้าง ตรงนี้เป็นปัญหา ผู้ป่วยต้องรักษาต่อ ค่ารักษาจึงพุ่ง ดังนั้นภาครัฐต้องพัฒนาระบบส่งต่อให้ดียิ่งขึ้น ลดปัญหาตรงนี้ด้วย

นัด 23 มิ.ย.ระดมความเห็นชง สนช.

นายสุธรรม พันธุศักดิ์ ประธาน กมธ.ศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ในคณะ กมธ.สาธารณสุข สนช. แถลงว่า ได้ศึกษาค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลรัฐ 3 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน 3 แห่ง ศึกษาใน 5 โรคที่มีผู้เข้ารับบริการมากที่สุด ได้แก่ 1.โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน 2.การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ 3.การผ่าตัดต้อกระจก 4.การผ่าตัดข้อเข่า และ 5.โรคหวัด ซึ่งเป็นการศึกษาในรูปแบบงานวิจัยข้อมูลเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2552-2557 ผลการศึกษาพบว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐเฉลี่ย 2.5 เท่า ซึ่งอนุ กมธ.เห็นว่าในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลยังมีงานวิจัยเผยแพร่จำนวนน้อยมาก หากจัดตั้งศูนย์การศึกษาในรูปแบบสหวิทยาการ จะทำให้ข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้เชื่อถือได้ในอนาคต

"ดังนั้น เพื่อให้การศึกษาของคณะอนุ กมธ.เป็นที่ยอมรับ และสามารถนำไปพัฒนาให้เป็นมาตรฐาน จำเป็นต้องระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทางอนุ กมธ.จึงกำหนดให้จัดสัมมนาในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ที่รัฐสภา เพื่อรายงานผลการศึกษาของอนุ กมธ. ก่อนรวบรวมความเห็นและข้อมูล จัดทำเป็นรายงานเสนอคณะ กมธ.สาธารณสุข และเสนอต่อที่ประชุม สนช." นายสุธรรมกล่าว

พาณิชย์ตรวจ 2 รพ. พบปฏิบัติตาม กม.

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวหลังตรวจเยี่ยม รพ.วิภาวดี และ รพ.นนทเวช ว่าการตรวจเยี่ยมพบว่าทั้ง 2 รพ.ทำตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ที่แสดงราคายาและค่าบริการ จัดทำเป็นเอกสารอัพโหลดบนคอมพิวเตอร์และมีในรูปของบัญชีกระดาษด้วย ให้ผู้มารับบริการเข้ามาดูได้ มีป้ายขนาดใหญ่เห็นชัดเจนติดบริเวณที่รับยาและจ่ายเงิน บอกแก่ผู้มารับบริการให้สามารถมาขอตรวจสอบราคายาได้ ส่วนเรื่องการกำหนดราคายาสูงสุดหรือราคายากลาง ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาราคายากลาง จะประชุมหารือในวันที่ 25 พฤษภาคม โดยมีตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดคุยกันถึงราคายาที่เหมาะสมต่อไป

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับการแสดงรายละเอียดราคายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาลลงในใบสั่งยา หรือใบเสร็จรับเงินให้ละเอียดชัดเจน กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะออกเป็นประกาศข้อกฎหมาย ขณะนี้กรมการค้าภายในกำลังพิจารณาข้อกฎหมายที่จะประกาศใช้เป็นการทั่วไปอยู่ การดำเนินการตรวจสอบ รพ.เอกชน หลังจากนี้จะตรวจสอบที่เข้มข้นในช่วงเดือนนี้และเดือนหน้า โดยส่งทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบตามสถานพยาบาลเอกชนต่อไป

กก.วิภาวดีชี้ทุนสูงต้องเปิด 24 ชม.

นายชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องยา ค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชนเป็นประเด็นทางสังคมมานานแล้ว เมื่อได้มาทำงานบริหารโรงพยาบาลเอกชนเป็นเวลา 10 ปี จึงได้รู้ว่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลมีมากมายมหาศาล ต้องเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายประจำแม้จะไม่มีผู้มารับการรักษาหรือใช้บริการก็ตาม ต้นทุนตรงนี้ผู้รับบริการอาจจะมองไม่เห็น

"ดังนั้นจะต้องแจกแจงออกมาให้ผู้รับบริการได้รับทราบ และแจกแจงให้ชัดเจน สะท้อนให้เห็นต้นทุนที่แท้จริง พร้อมคลี่ค่าใช้จ่ายที่อยู่ใต้พรมให้ผู้มารับบริการที่จะจ่ายเงินยอมรับได้ แล้วรวมในค่าบริการแก่ผู้มารับการรักษา โรงพยาบาลต้องบริหารจัดการตัวเองในฐานะเป็นคนทำธุรกิจ และต้องทำกำไรอย่างเป็นธรรม" นายชัยสิทธิ์กล่าว

นางปัทมา พรมมาส ประธานกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลนนทเวช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาลมีบริการให้ผู้มารับบริการตรวจสอบราคายา ค่ารักษาครอบคลุมทุกรายการ โดยให้บริการในรูปแบบตู้คีออส จำนวน 3 ตู้ มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำการใช้งาน สามารถสอบถามได้ที่เคาน์เตอร์ มีป้ายขนาดใหญ่ติดให้ผู้มารับบริการเห็นว่าสามารถขอตรวจราคายา ค่าบริการต่างๆ ได้ สำหรับใบเสร็จหรือใบรับยาปกติจะพิมพ์ออกแบบรวมค่ายาและค่าบริการไว้ในใบเดียว แต่ก็ทำให้เห็นส่วนค่ายา ค่าบริการเป็นเท่าไหร่ แต่หากผู้รับบริการต้องการใบเสร็จแบบแจกแจงค่ายา ค่ารักษาเป็นรายการก็สามารถขอได้ ส่วนค่ายา ค่าบริการที่จะอัพโหลดข้อมูลบนเว็บไซต์อยู่ในขั้นพิจารณาศึกษาอยู่

ตั้งอนุ กก.แก้เอกชนเก็บแพง

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการ สธ.ดูแลคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บเงินค่ารักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน ว่ามีความคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคณะกรรมการได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1 ชุด เป็นคณะทำงานเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อพัฒนาระบบร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 3 กองทุน รวมทั้งภาคเอกชนและโรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้เกิดการบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมีกติกาที่ชัดเจน ไม่สร้างภาระทางการเงินแก่ประชาชน ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน และจะช่วยให้เกิดค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

นพ.สมศักดิ์กล่าวถึงสาเหตุค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนที่แพงว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากทุกแหล่ง ซึ่งมีองค์ประกอบจากหลายปัจจัย ไม่เฉพาะค่ายาเพียงอย่างเดียว อาจมีทั้งค่าบริการ ค่าดูแล รวมทั้งปริมาณตัวยา วัสดุและการตรวจที่เกิดขึ้น ในระหว่างนี้ สธ.ได้เชิญโรงพยาบาลเอกชนเดินหน้าทำระบบให้ประชาชนสามารถทราบและเปรียบเทียบราคาค่ายาและค่าบริการที่มีอยู่ โดยมอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) หารือกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อจัดทำระบบข้อมูลให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

ที่มา : นสพ.มติชน



INSURANCETHAI.NET
Line+