ทำอย่างไรให้ Cofounder อยู่กับเรานาน ๆ (1)
676
ทำอย่างไรให้ Cofounder อยู่กับเรานาน ๆ (1)
ทำอย่างไรให้ Cofounder อยู่กับเรานาน ๆ (1)
ปัญหาใหญ่มากอีกปัญหาหนึ่งที่มีคนคอยมาถามเสมอ คือ การวางสัดส่วนหุ้นบริษัท ระหว่างผู้ก่อตั้งบริษัทด้วยกัน เพราะถ้าใครเคยทำ Startup มาก่อนจะทราบว่ามันเป็น "วัตถุไปไว" มากครับ เนื่องจากว่ามันพัฒนาไวตามสไตล์ของ Startup และมันก็มักจะปิดตัวลงเร็วตามสไตล์ของมัน แถมก่อนไปมันจะทิ้งดราม่าไว้ให้ดูต่างหน้าระหว่างผู้ก่อตั้งด้วยกันเอง
เช่น การโทษกันว่า ใครทำงานมากกว่ากัน ใครรู้จักตัวธุรกิจดีกว่ากัน ใครควรจะฟังใคร ใครเพื่อนใคร ใครรู้จักใคร ใครเป็นคนนำเงินเข้ามามากกว่ากัน ใครเป็นคนทำบริษัทพัง สารพัดเรื่องจะงัดขึ้นมาตำหนิกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุของการ ขอถอนตัว จาก Startup
แล้วทีนี้หุ้นที่เราเคยคิดว่าจะแบ่งให้คนนี้เท่านี้แล้วเขาจะอยู่กับเรา มันไม่จริงเสมอไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผมจึงขอเสนอวิธีการแบ่งสัดส่วนหุ้น ที่เรียกว่า Cliff และ Vesting
หลักการของ Cliff และ Vesting จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็น SMEs ใด ๆ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ถ้าตกลงกันได้ระหว่างผู้ก่อตั้งด้วยกัน เริ่มจาก Cliff ก่อน
Cliff คือการทดลองงานนั่นเอง ส่วน Vesting ก็คือการแบ่งสัดส่วนหุ้นให้จนครบระยะการทำงานที่กำหนดไว้ ซึ่งโดยทั่วไป Cliff จะกำหนดอยู่ที่ประมาณ 4-6 เดือน เปรียบเสมือนการทดลองงาน
ถามว่าทำไมต้องทดลองงานครับ
สมมุติว่าคุณมี Startup ที่อาจจะหาเงินได้อยู่แล้ว และพอจะเล่นตัวได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าคุณอยากได้ CTO มาช่วยในงานเขียนโปรแกรมแทนการจ้าง คุณต้องทำสัญญาขึ้นมาฉบับหนึ่ง ซึ่งในสัญญาจะมีการระบุเรื่องต่อไปนี้
1.Job Description and Responsibilities ควรระบุขอบข่ายของงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนของการทำงานในตำแหน่งหัวหน้าด้านเทคนิค แนะนำให้ระบุให้ละเอียดครอบคลุมและตรงตามงานที่เราอยากให้เขาทำ อย่าปล่อยโล่ง ๆ หรือเขียนแค่ตำแหน่ง
2.รายละเอียดการถือหุ้น ว่าถือกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นจำนวนกี่หุ้น โดยทางเจ้าตัวต้องเข้ามาทดลองงานก่อนเป็นเวลา 6 เดือน Cliff Period ก็คือ 6 เดือน และหลังจาก 6 เดือนถึงจะเป็น Vesting Period ซึ่งโดยปกติคือ 4 ปี
3.เมื่อมีเหตุให้ Cofounder ต้องการที่จะถอนหุ้นก่อนเวลา 4 ปี 6 เดือน และ Cofounder 00ได้หุ้นอยู่ที่ 20% สมมุติว่าถอน ณ เวลา 2 ปี 6 เดือน Cofounder จะออกไปจากบริษัทพร้อมหุ้น 10% ทันทีแบบถาวร
4.อีกกรณีที่ควรระบุไว้คือ เมื่อได้เงินจากนักลงทุนเข้ามาแล้ว Cofounder จะได้ส่วนแบ่งจากการลงทุนหรือเอามาลงทุนในกิจการของบริษัทก่อน หรือจะได้ค่าตอบแทนลักษณะอื่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการลดสัดส่วนหุ้นออกไปแล้วทอนคืนกลับมาเป็นเงิน
5.ในกรณีที่มีความขัดแย้งในบริษัท ใครจะเป็นผู้ถือสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจ
6.ในกรณีที่มีคนทำผิดกฎข้อตกลง จะมีบทลงโทษใดบ้าง
ตัวอย่างข้างบนคือการใช้ Vesting และ Cliff แบบเล่นตัวได้ครับ แต่สมมุติว่าคุณเล่นตัวไม่ได้ ดันเป็น Startup ใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก คุณอาจจะปรับโครงสร้างให้จูงใจมากขึ้น เช่น อาจจะไม่มี Cliff Period และลด Vesting ลงจาก 4 ปี เหลือ 3 ปี ได้ 30% ก็จะเท่ากับปีละ 10% แต่ในเรื่องสัญญาการทำงานก็ควรจะเขียนไว้เหมือนเดิม เพื่อป้องกันปัญหาบานปลาย เพราะเท่าที่ผมเห็นไม่ว่าจะเป็น Startup หรือ SMEs ตอนเจอกันใหม่ ๆ รักกันมาก 100% พอผ่านไปสัก 1 ปีมีปัญหากันเกือบทุกบริษัท เพราะฉะนั้น สัญญาตัวนี้จะช่วยให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น ไม่ว่ากฎหมายจะบังคับได้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม หรือถ้าอยากให้จูงใจมากขึ้นไปอีก เราอาจจะเติมเข้าไปในสัญญาได้อีกว่าเราให้ 20% และถ้าหลังจาก Vesting Period ไปแล้วเขาสามารถซื้อหุ้นบริษัทเพิ่มได้อีกในมูลค่าช่วงที่เขาเริ่มเข้ามาทำงานก็ได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจที่มากขึ้นไปอีก
ทีนี้มักมีคำถามตามมาอีกแน่นอนครับว่า แล้วเราควรจะแบ่งให้ Cofounder แค่ไหน บอกได้เลยครับ หัวข้อนี้ "ดราม่า" ไม่แพ้หัวข้อข้างบนเลย ที่ผมเจอมาหลาย ๆ คนจะเริ่มตั้งป้อมว่าไอเดียเป็นของเขา ดังนั้น เขาควรจะมีส่วนใหญ่คือ 90% ให้คนที่มาใหม่เพียง 10% เพราะว่าเขามาใหม่เลยได้แค่ 10% โดยใช้ข้ออ้างว่าเดี๋ยวถ้ามีผลงานดีขึ้นจะให้เพิ่มเรื่อย ๆ
วิธีนี้ไม่ได้ผลดีแน่นอนครับ เพราะคุณจะไม่ได้คนเก่ง และเผลอ ๆ คุณจะไม่ได้คนทำงานให้ด้วยซ้ำ ผมบอกตรง ๆ เลยก็ได้ว่า คนมีไอเดียมันเยอะ ไอเดียดีด้วย แต่คนที่จะมาทำหน้าที่ Execute บางงาน เช่น เทคนิคอล, งานวิจัย, โปรแกรมเมอร์, งานการตลาดเชิงลึก เป็นต้น พวกนี้ถือว่าเป็นงานเฉพาะด้าน ซึ่งคนทำงานด้านนี้พอจะรู้ค่าตัวของตัวเอง คิดกลับกันคนเป็นเจ้าของไอเดียต้องง้อเขาด้วยซ้ำ แต่คำว่าง้อก็ไม่ได้หมายถึงว่าเจอหน้ากันชอบใจให้ไปเลย 50% อันนั้นก็ดูจะใจดีเกินไปครับ
ผมมีหลักแนวคิดให้ยึดคร่าว ๆ 5 ข้อต่อไปนี้
1.คนคนนั้นเคยมีประสบการณ์การทำ Startup มาก่อนไหม สังเกตว่าผมจะเน้นคำว่า Startup ครับ เพราะบางครั้งได้ผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานประจำจนชิน เขาก็จะพยายามทำ Startup ให้เป็นงานประจำเหมือนเดิม ซึ่งหลาย ๆ ครั้งทำให้ไม่เข้าใจกัน มองภาพคนละภาพได้ และที่สำคัญการทำธุรกิจเองกับการทำงานประจำต้องใช้เวลาพอสมควร โดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำมานานต้องใช้เวลาในการปรับตัว สรุปว่าคนทำธุรกิจเองมาก่อนได้เปรียบ
2.เขามีประสบการณ์หรือความรู้เฉพาะด้านที่ตรงกับ Startup ของเราหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องดูว่าใช้ต่อยอดได้จริงไหม หรือมีไปอย่างนั้น เอาไว้ทำงานกับเราแล้วเราดูดีขึ้นเท่านั้น
3.ในบางกรณีคนที่เข้ามาร่วมกับเราเป็นเจ้าของความรู้พิเศษบางอย่างที่เราขาด เช่น คุณอาจมีไอเดียทำเทคโนโลยีบางอย่างที่โรงงานต้องการ แต่คุณทำไม่สำเร็จจนมีคนนี้เข้ามา ซึ่งเคยทำงานประเภทเดียวกันสำเร็จ ถ้าเป็นกรณีนี้ผมคงไม่ต้องพูดต่อว่าจะต้องเอาใจเขาแค่ไหนนะครับ
4.ความรับผิดชอบและเวลาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสมมุติว่าคนที่เข้ามาร่วมอาจจะไม่ได้มีความสามารถพิเศษมากมาย แต่มาเพียงการโปรแกรม แต่ถ้าเขาต้องมาทำ Fulltime ในขณะที่เราทำงานหลายอย่างนั้น ก็มีเหตุผลเพียงพอแล้วที่คุณต้องเอาใจเขามากกว่า เพราะความรับผิดชอบเขามากกว่า
5.การลงทุนและลงแรงคืออีกปัจจัยหนึ่ง เพราะ Cofounder บางคนนั้นมาในรูปแบบของคนที่อยากจะช่วยงานและลงทุนให้เพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ผู้ก่อตั้งบริษัทหลาย ๆ คนอยากได้ Cofounder แบบนี้ แทนที่จะแค่เอาเงินมาลงแล้วหายตัวไป
ไว้ครั้งหน้าเรามาต่อถึงวิธีว่าเราจะใช้ 5 ข้อข้างต้นนี้ในการวางน้ำหนักการวิเคราะห์อย่างไร
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1433824872
INSURANCETHAI.NET