การบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุด
690
การบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุด
http://www.prakard.com/default.aspx?g=posts&t=82835
นี่คือผลพวงจากการไปนั่งฟังเค้าถกกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาค่ะ วันนั้นก็ไม่ได้แสดงความเห็นอะไรเท่าไหร่เข้าไปนั่งยิ้มฟังคนนั้นคนนี้เค้าถกเถียงกัน ในฐานะที่พอรู้เกี่ยวกับบัญชีอยู่บ้าง(แต่ไม่รู้ว่าอาคารชุดเค้าทำกันยังไง) ก็เลยไปคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีของ LPN มาค่ะ เลยมาเล่าให้ฟังและขอถือโอกาสแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
ฝ่ายบัญชี LPN: นิติบุคคลอาคารชุด ไม่ใช่กิจการแสวงหากำไร จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดทำบัญชีเพื่อเสียภาษี แต่ตามหลักการควบคุมภายในก็ควรมีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายได้ นิติบุคคลจ้างผู้สอบบัญชีมาตรวจสอบ และลงลายมือรับรองเป็นหลักฐานทั้งๆ ที่กฎหมายมิได้ระบุให้มีการตรวจสอบแต่อย่างใด เพื่อความสบายใจของลูกบ้านและนิติบุคคลเอง
Lily's update:ปัจจุบันพระราชบัญญัติอาคารชุดฉบับใหม่ระบุให้มีการจัดทำบัญชีและต้องจัดให้มีการตรวจสอบบัญชีแล้วค่ะ เพิ่งประกาศปีนี้ มีผลบังคับใช้ กรกฎาคม 2551 นี้เองค่ะ
Lily's comment: การจัดทำบัญชี มีวัตถุเพื่อควบคุมตัวเลขต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำ ถ้าเป็นกิจการที่แสวงหากำไร และมีหน้าที่เสียภาษี กฎหมายระบุให้จัดทำบัญชีตามมาตรฐาน แต่ถ้าไม่ใช่การจัดทำบัญชีก็เลือกใช้หลักการที่เกี่ยวข้องมาใช้ตามความเหมาะสม
ในที่นี้นิติบุคคลอาคารชุดของเราจัดทำบัญชีโดยออกงบดุล และงบรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้ทราบว่าเรามีรายรับมากกว่าหรือน้อยกว่ารายจ่ายเท่าใด ดิฉันเห็นว่าเป็นการนำเสนอที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ(ก็เป็นการทำจดบันทึกค่าใช้จ่ายและเงินรับของบ้านหลังนึงเท่านั้นเอง)
ตามหลักการบัญชีทั่วไป เวลามีคนให้สินทรัพย์มา จะบันทึกเป็นรายได้ (แม้ไม่ได้เป็นเงินแต่ก็ต้องถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี) แต่นิติบุคคลอาคารชุดไม่ต้องจัดทำบัญชีเพื่อเสียภาษี ดิฉันคิดว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องบันทึกลงไปเป็นรายรับของนิติบุคคล(เพราะเราไม่ได้รับเงินมาจริง ทำให้งบรายรับเกิดความสับสน)
โปรดสังเกตว่า หลักการบัญชีโดยทั่วไป ที่ระบุว่าเวลาซื้อสินทรัพย์ต้องบันทึกบัญชีและตัดค่าเสื่อม เป็นไปเพื่อมิให้ปีแรกเกิดการขาดทุนทันที(เพราะกรมสรรพากรจะไม่ได้ภาษี) แต่ทยอยเอาสิ่งที่จ่ายเงินซื้อสินทรัพย์มาตัดทีละปีแต่ในที่สุดก็สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หมด แต่หากบริษัทไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำค่าเสื่อมราคามาทยอยหักให้งงเล่น เราแค่อยากรู้ว่าเงินที่เรามีอยู่เหลือเท่าไหร่ ซึ่งการเอาเงินไปซื้อสินทรัพย์ก็นำเงินออกไปซื้อทั้งจำนวนมิได้ผ่อนจ่าย (ไม่งั้นค่าเสื่อมราคาจะไปปรากฏอยู่ในรายจ่ายทั้งๆ ที่มิได้จ่ายออกไปเป็นเงินจริง)
ที่จริงคำว่า “รายได้”ทางนิติบุคคลยังไม่ใช้เลยด้วยซ้ำ ใช้คำว่า “รายรับ” ซึ่งดิฉันมองว่าเป็นรายรับที่เป็นตัวเงิน(ส่วนใหญ่คือค่าส่วนกลางของพวกเรานั่นแหล่ะ) แต่รายได้อาจไม่ใช่ตัวเงินก็ได้เช่นรายได้จากการประเมินของเจ้าหน้าที่กรมสรรพกร ไม่ได้เงินสรรพากรจะให้เราเสียภาษีก็มาประเมินเป็นรายได้ก็มีอยู่เยอะแยะ (คนทำงานตำแหน่งสูงๆ คงทราบ เวลาบริษัทออกค่าเช่าบ้านค่าน้ำมันค่าโทรศัพท์ ทางสรรพากรให้ถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีทั้งๆ ที่มิได้รับเงิน หรืออย่างนำตัวอย่างสินค้าไปให้ลูกค้าสรรพากรก็ถือว่ามีรายได้จากการขายที่จะต้องเสียภาษีขายให้สรรพากร ทั้งๆ ที่เราให้ของเขาไปเฉยๆ เรายังกลายเป็นมีรายได้ซะงั้นแหล่ะ)
สรุปว่างบรายรับ-รายจ่ายนั้น ดิฉันมองว่าไม่ควรจะนำหลักการบัญชีที่ว่าด้วยการรับรู้รายได้เวลาได้รับของ มารวมอยู่ในรายรับ และไม่ควรนำค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ที่ได้มาจากการที่มีคนให้ (ไม่ได้นำเงินจากค่าส่วนกลางออกไปจ่ายจริง) มาหักเป็นรายจ่าย ถ้าเราต้องการให้งบรายรับรายจ่ายของเราเข้าใจได้ง่ายนะคะ แต่ถ้าจะให้บันทึกรายได้ บันทึกสินทรัพย์ก็ทำได้แต่ว่างบรายรับรายจ่ายจะไม่ใช่ตัวเงินแล้วล่ะทีนี้
ลองคิดกันเล่นๆ ดู ว่าถ้าเรานำค่าเสื่อมราคามาตัดออกเป็นรายจ่าย ในบรรทัดสุดท้ายของงบรายรับ-รายจ่าย ก็จะไม่แสดงให้เห็นถึงเงินที่เหลืออยู่จริง ต้องกระทบยอดโดยนำค่าเสื่อมราคามาบวกกลับ แล้วบรรดาเจ้าของร่วมที่ไม่เข้าใจก็จะนึกว่าเงินเหลือน้อยจริงๆ ต้องมาอธิบายกันอีก ซึ่งอาจจะมีคนสับสนหรือเข้าใจผิดอีกหลายคนทีเดียว
สินทรัพย์ที่เราอ่านเจอจากในงบดุลของนิติบุคคล คือสินทรัพย์ที่ “ได้มาจากการนำเงินรายรับไปซื้อมา” แต่สินทรัพย์จริงๆ ที่ได้มาโดยไม่ได้นำเงินค่าส่วนกลางของเราไปใช้จ่าย ไม่ได้อยู่ในงบดุลของนิติบุคคล แต่อยู่ในทะเบียนสินทรัพย์
ถามว่าการที่ไม่ได้บันทึกผิดไหม ดิฉันมองว่าไม่ผิด เพราะมีทะเบียนทรัพย์สินคุม ทะเบียนทรัพย์สินไม่ใช่อยู่ในงบดุล งบรายรับรายจ่าย เป็นรายการแยกมาต่างหาก แต่ก็เป็นการควบคุมรายการสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ ถือว่ามีการควบคุมภายในแล้ว ทะเบียนทรัพย์สินที่ว่านี้ได้แจกให้กับเจ้าของร่วมในการประชุมหนแรก และคาดว่าจะมีแจกในการประชุมทุกปี รวมทั้งงบสรุปรายรับ-รายจ่ายด้วย ซึ่งหากมีข้อข้องใจในรายการทรัพย์สินตัวใดก็น่าจะสอบถามกันได้ และไม่ใช่ว่าเรามีบัญชีสองเล่ม แต่เป็นคนละส่วนกัน สรุปว่าเรามีทั้งงบดุล งบรายรับรายจ่าย และทะเบียนคุมสินทรัพย์
เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ดิฉันเห็นงบการเงินของนิติบุคคลแล้ว ในปีที่ผ่านมาเรามีรายรับมากกว่ารายจ่ายอยู่ 3.58 ล้านบาทค่ะ ดิฉันเข้าใจว่าไม่มีการหักค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ เข้าใจว่าเป็นการบันทึกเฉพาะ “รายรับ” และ “รายจ่าย” ที่จ่ายไปจริงๆ ดังนั้นตัวเลขที่เราเห็นน่าจะเป็นเงินที่เหลืออยู่จริงๆ จากการเก็บค่าส่วนกลางหักกับค่าบำรุงรักษาคอนโดของเรา
ที่จริงถ้าจะให้ลงกันจริงๆ ก็ลงได้นะคะ เพราะของที่เราได้มาก็เหมือนกับมีคนให้เงินเรามา แล้วเราเอาไปซื้อรถนั่นแหล่ะ รายได้ของเราก็จะมาจากค่าส่วนกลาง และรายได้จากการให้เป็นสิ่งของ (ตีมูลค่าเท่ากับรถ) เช่น รถราคา 3 ล้านก็ให้มีรายได้ 3 ล้านเข้ามา แต่เวลามาดูงบรายรับรายจ่ายจะงงไหม ที่เห็นว่าแทนที่ในบรรทัดสุดท้ายจะมีรายรับมากกว่ารายจ่าย 3.58 ล้านก็กลายเป็น มีรายรับมากกว่ารายจ่าย 6.58 ล้าน เด๋วจะมีคนเข้าใจว่านิติบุคคลมีเงินเหลือ 6.58 ล้านหรือเปล่าเนี่ย(เอ หรือว่าจะเอาไปบันทึกในส่วนของ"ทุน"ดี)
เขียนขึ้นมาตามความเข้าใจของตนเอง หากเพื่อนๆ มีความเห็นอื่นเข้ามาแสดงความเห็นได้ค่ะ หรือมีข้อมูลอื่นที่ไม่ตรงกับที่เขียนก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่ะ
==
บัญชีจริงๆ อยู่ที LPN ที่ทำหน้าที่เสียภาษีและทำตามมาตรฐานการบัญชี
แต่ที่นิติ ทำบัญชีเพื่อให้รู้ว่า LPN-NC มีรายได้กับรายจ่ายจริงๆ ที่เป็นตัวเงินจริงๆ เท่าไหร่เท่านั้นเอง (เหมือนเราทำบัญชีรายรับ-จ่าย ของตัวเอง)
บัญชีที่นิติบุคคลอาคารชุด น่าจะเป็นบัญชีที่ทำภายในมากกว่า
==
1. การลงบัญชีของนิติต้องแยกกับทาง LPN อย่างเด็ดขาด เพราะถือเป็นคนละนิติบุคคลครับ โดยเฉพาะของ LPN นี่เป็นบริษัทมหาชนด้วยครับ การลงบัญชีนี่ต้องเปิดเผยรายละเอียดมากมายภายใต้กฎหมายมหาชนและพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ด้วยครับ
2. การจัดทำบัญชีมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงฐานะ (งบดุลซึ่งมีสินทรัยพ์ หนี้สิน ทุน) และแสดงผลประกอบการ (งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด) ส่วนเรื่องการเสียภาษีก็จะมีการนำเอาบัญชีปกติเพิ่มเติมหรือหักกลบด้วยบางรายการเพื่อให้เป็นไปตามกฏหมาย การลงบัญชีโดยทั่วไปก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ระบุในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน การมีรายการทรัพย์สินโดยไม่ลงบัญชีโดยอ้างว่ามี report ประกอบอยู่แล้ว ต้องถามว่า Report ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของงบดุลหรือไม่ คำตอบคือคงไม่เพราะถ้าใช่ทรัพย์สินนั้นจะต้องอยู่ในงบดุลด้วย ส่วนเรื่องที่อ้างว่าบัญชีเราทำเพื่อการลงรายรับรายจ่ายที่เกี่ยวกับเงินสดจะได้เข้าใจง่ายก็ต้องเรียนว่านั่นคือเหตุผลของการที่ให้มีการจัดทำงบกระแสเงินสดครับ เมื่อผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดูงบดุล งบกำไรขาดทุน ประกอบกับงบกระแสเงินสดก็จะทราบได้ทั้งหมด รายละเอียดต่างๆ ที่อาจเข้าใจยาก มาตรฐานบัญชีก็ยังกำหนดให้มีหมายเหตุประกอบงบซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินต้องระบุในบางเรื่องอยู่ด้วยเช่นนโยบายการบัญชี วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาเป็นต้นครับ สรุปการไม่ลงบัญชีทรัพย์สินใดๆ แม้ว่าจะอ้างว่ามี Report ประกอบและสามารถดูได้ยังคงเป็นเรื่องน่าห่วงครับ โดยเฉพาะกรรมการและผู้สอบบัญชีครับ เราลองยกประเด็นนี้สอบถามกรรมการและผู้สอบบัญชีในวันอาทิตย์นี้ก็ได้ครับ และให้บันทึกคำตอบของกรรมการและผู้สอบบัญชีด้วยก็ดีนะครับ (ไม่แน่ใจว่าผู้สอบบัญชีจะเข้าร่วมด้วยหรือเปล่า)
ขอย้ำนะครับว่านี่เป็นการแสดงความเห็นร่วมกันนะครับ ไม่ได้มีเจตนาร้ายหรือคิดว่าใครจะมีเจตนาไม่ดีอย่างไร เพียงคิดว่ามีโอกาสทำดีทำถูกได้ก็ทำเถอะครับ หากคิดว่าผมสามารถร่วมด้วยช่วยกันได้ในทุกเรื่องก็ยินดี
==
วันนี้ได้รับเอกสารประกอบการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปีนี้มาเรียบร้อยแล้วค่ะ หลังจากเปิดดูรายละเอียดทางการเงินแล้วพบว่ามี
1 งบการเงินซึ่งประกอบด้วย งบดุล งบรายรับรายจ่าย และหมายเหตุประกอบงบการเงิน
2 ทะเบียนสินทรัพย์ถาวร
ในทะเบียนสินทรัพย์ถาวรเป็นยอดสินทรัพย์ที่นิติบุคคลซื้อโดยใช้เงินจากส่วนกลางของเรา(ยอดรวมเท่ากับในงบดุล) สำหรับสินทรัพย์ถาวรที่ได้รับมอบมาจาก LPN ไม่มีรายการปรากฎในทะเบียนทรัพย์สินค่ะ
นอกจากนี้งบการเงินแสดงยอดเงินฝาก 5 ล้าน ในขณะที่ยอดรายรับมากกว่ารายจ่าย 3.58 ล้าน แสดงว่านิติบุคคลของเราก็ใช้หลักการบัญชีมาประยุตก์บางส่วน ไม่ได้ลงเฉพาะรายการรับจ่ายอย่างที่เข้าใจไว้แต่แรก (หมายความว่ารายรับมากกว่ารายจ่าย 3.58 ล้านแต่ไม่ได้หมายความว่ามีเงินสดอยู่ 3.58ล้านค่ะ) คือบัญชีรายรับรายจ่ายของบ้านเราเริ่มซับซ้อนกว่าการลงรับหักจ่ายปกตินั่นเอง
จริงๆแล้ว ทราบมาว่าหลักการบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ยังไม่ชัดเจน ก็เลยไปค้นหาใน internet พบบทความว่า "สมาคมอาคารชุดยังมีแนวคิดที่จะจัดทำและอบรมมาตรฐานการทำบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุด โดยร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการ นิติบุคคล และผู้บริโภค เนื่องจากการบริหารอาคารชุดที่ผ่านมา ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ ปัญหาด้านการจัดทำบัญชีที่เกิดความบกพร่อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมของผู้บริโภค"
บทความนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2549 http://www.dlo.co.th/oldies/news.php?page=&id=3605 จริงๆ จนบัดนี้ก็น่าจะมีหลักการที่ชัดเจนแล้วนะคะ น่าศึกษาไว้เหมือนกันว่าสรุปแล้วการบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดควรจัดทำอย่างไร
ตอนที่เขียนความเห็นข้างบนยังไม่ได้มีงบการเงินอยู่ในมือเหมือนอย่างในตอนนี้ ขณะนี้มาดูแล้วทางเราก็ใช้หลักการบัญชีหลายข้อเหมือนกัน ที่สำคัญ รายการสินทรัพย์ที่ได้รับมาจากทาง LPN ไม่ได้แสดงอยู่ในเอกสารประกอบของปีนี้ อยากจะรู้ว่ามีอะไรบ้างก็ต้องไปดูปีแรก ซึ่งจริงๆ ควรมีทุกปีเพื่อให้ทราบว่าสินทรัพย์ใดยังอยู่หรือไม่อยู่ประการใด
หลักการควบคุมที่ดี ถ้าอยู่ในงบดุลก็จะดีอย่างที่คุณ H@H ได้แสดงความเห็นเอาไว้ แต่ถ้าไม่มีลิลลี่เสนอให้มีการควบคุมในทะเบียนทรัพย์สินและแจ้งทุกปี (ของเราปีนี้ไม่ได้แจ้ง) ดังนั้นการพิจารณาบันทึกสินทรัพย์เหล่านี้ในงบดุลก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยที่ในปีแรกบันทึกเป็นรายได้จากการรับมอบสินทรัพย์จาก LPN และบันทึกทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าของร่วมก็ต้องเข้าใจด้วยว่านี่ไม่ใช่ตัวเงินจริงๆ (จากที่คุยกับเจ้าหน้าที่ LPN พบว่ารายการยาวเหยียดเป็นหางว่าวเลยทีเดียวค่ะ) ข้อดีก็คือเราจะได้เห็นทะเบียนสินทรัพย์ในเอกสารประกอบการประชุมทุกปีและตัวเลขตรงกับที่แสดงในงบดุล แสดงถึงมูลค่าสินทรัพย์ของนิติบุคคลที่มีอยู่จริงค่ะ
มีนักบัญชีอื่นจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกหรือเปล่าคะ? อยากให้มาแชร์ความคิดเห็นกันค่ะ
INSURANCETHAI.NET