ระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่น
701

ระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่น

          ต้องนับเป็นความโชคดีของญี่ปุ่นที่ผู้ยึดครองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ สหรัฐ ถ้าเป็นอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส หรือรัสเซีย ชะตากรรมของญี่ปุ่นก็คงแตกต่างไปจากที่เป็นจริงมาก
          นอกจากปัจจัยภายนอกดังกล่าวแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถกลับมาฟื้นตัว และกลายเป็นประเทศที่เจริญเติบโตและมั่งคั่งในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว ก็คือ ปัจจัยภายในของญี่ปุ่นเอง
          ประการแรกคือ ความเป็นคนญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมประเพณี มีระเบียบวินัย มีความวิริยะ อุตสาหะและมานะบากบั่น และข้อสำคัญคือมีพื้นฐานการศึกษาดี มีความรู้ความสามารถ และมีจิตใจมุ่งมั่นไม่ย่อท้อที่จะสร้างประเทศขึ้นมาใหม่
          ประการที่สองแม้ประเทศจะถูกทำลายอย่างย่อยยับ แต่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆราวครึ่งหนึ่ง ยังสามารถซ่อมสร้างขึ้นมาเพื่อประทังใช้ต่อไปได้ ส่วนที่ถูกทำลายไปแล้วก็ถือเป็น "โอกาส" ที่ดี ที่จะเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ใหม่และทันสมัยขึ้น
          ประการที่สามญี่ปุ่นโชคดีที่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ จากตะวันตก และเลือกผู้เชี่ยวชาญ "ถูกคน" เข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นบุคคลนั้นคือ เอ็ดเวิร์ด เดมิง โดยสหภาพนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรแห่งญี่ปุ่น (Japan Union of Scientist and Engineer หรือJUSE) เชิญเข้าไปสอนเรื่องการพัฒนาคุณภาพ
          เอ็ดเวิร์ด เดมิง เป็น "คุรุด้านคุณภาพ"ที่แท้จริง ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็รู้จักดีโดยเฉพาะเรื่องวงจรคุณภาพหรือ"วงจรเดมิง" ของเขาคือ PDCA หรือ Plan (วางแผน) Do (ลงมือทำ) Check (ตรวจสอบ)และ Action (แก้ไข)
          ทฤษฎีคุณภาพของเดมิง แท้จริงแล้ว คือทฤษฎีการบริหารองค์กร เพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างครบวงจร เดมิงปฏิเสธการบริหารสมัยใหม่ของตะวันตกแทบจะทุกทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการบริหารจัดการแบบวิทยาศาสตร์(Scientific Management) ทฤษฎีการพัฒนาองค์กร (Organization Development หรือOD)  ทฤษฎีการบริหารแบบยึดวัตถุประสงค์(Management By Objectives หรือ MBO)ทฤษฎีการจูงใจที่เร่งรัดบีบเค้นพนักงานโดยการล่อใจด้วยรางวัล เงินเพิ่มตามชิ้นงาน หรือโบนัส หรือทฤษฎีการหาคนผิดมาลงโทษเมื่อเกิดความผิดพลาดบกพร่อง เป็นต้น
          เดมิง เน้นความสำคัญของฝ่ายบริหาร ย้ำว่าคุณภาพเกิดจากห้องประชุมผู้บริหาร เน้นการพัฒนาคุณภาพโดยการมีส่วนร่วมของทุกคน เน้นการพัฒนาองค์กรทั้งองค์กร เมื่อเกิดความผิดพลาดต้องไม่เน้นการหาเหตุลงโทษที่จุดใดจุดหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยทั้งหมดแล้วเน้นความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูงลดหลั่นกันลงไปไม่เน้นความผิดพลาดของคนเล็กคนน้อย เมื่อเกิดปัญหาจนขาดทุนจะไม่ใช้วิธีไล่พนักงานระดับล่างออก เพื่อลดค่าใช้จ่ายแต่เน้นการรักษาคนทั้งองค์กร โดยลดเงินเดือนของผู้บริหารและพนักงานระดับสูงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อเกิดปัญหาต้องแก้ไขเชิงระบบและเน้นการฝึกอบรม
          ข้อสำคัญที่สุด คือ เน้นการพัฒนาคุณภาพทั้งระบบ มิใช่แค่พัฒนาที่ "ตัวผลิตภัณฑ์" หรือ"บริการ" เท่านั้น แต่ต้องพัฒนาคุณภาพของทุกปัจจัยนำเข้าและกระบวนการทั้งหมด เป็นการพัฒนาคุณภาพแบบเบ็ดเสร็จ (Total Quality Management : TQM)
          เดมิง ไม่เชื่อในระบบ"การแข่งขัน" แบบตะวันตก ซึ่งมุ่งแข่งขันด้านราคาระยะสั้นมากกว่าการเน้นคุณภาพระยะยาว ซึ่งแท้จริงแล้วเมื่อสินค้าไม่ได้คุณภาพราคาสุดท้ายกลับจะแพงกว่า
          เดมิง เชื่อในระบบการหาพันธมิตรหรือ"หุ้นส่วนธุรกิจ" โดยเลือกผู้ผลิตสินค้าที่ไว้ใจได้เป็นรายๆ มาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ จะทำให้หุ้นส่วนมั่นใจลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพบริษัทก็จะได้สินค้าคุณภาพดีแม้ราคาซื้ออาจสูงกว่า แต่เมื่อคำนวณโดยรวมแล้วจะถูกกว่า
          ด้วยความโชคดีที่ได้สหรัฐเข้าไปจัดระบบการเมืองการปกครองให้ ด้วยพื้นฐานอันแข็งแกร่งของประเทศและคนญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นกลับกลายมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญรุ่งเรืองในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว
          ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าดีขึ้นเรื่อยๆญี่ปุ่นจึงกลายเป็น "เจ้าเศรษฐกิจ" ของโลกในเวลาไม่ช้า เพราะสามารถแข่งขันได้ทั้งด้านราคาและคุณภาพญี่ปุ่นจึงกลับกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
          และเพราะไม่ต้องสูญเสียเงินไปกับการสร้างกองทัพ ทำให้ญี่ปุ่นสามารถนำเงินมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นจึงสามารถครอบคลุมประชากรถ้วนหน้าทั้งประเทศได้ตั้งแต่ปี 2504 ซึ่งปีนั้นประเทศไทยเพิ่งเริ่มแผนพัฒนาประเทศแผนแรกเป็นปีแรก
          ญี่ปุ่นสามารถประกาศใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีการพัฒนาระบบบริการอันแข็งแกร่งและมีคุณภาพสูงควบคู่กันมา
          ในปี 2555 ญี่ปุ่นมีแพทย์ถึง 295,049 คนจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 127.6 ล้านคน เทียบกับประเทศไทยซึ่งมีประชากร 65 ล้านคน แต่มีแพทย์ไม่ถึง 3 หมื่นคน
          ขณะที่คนไทยในระบบบัตรทองไปใช้บริการปีละประมาณ 3.4 ครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่ต้องมีการร่วมจ่าย (Copay) ญี่ปุ่นต้องร่วมจ่ายเกือบทุกราย แต่ไปใช้บริการปีละประมาณ 12 ครั้ง โดยโรงพยาบาลของญี่ปุ่นสามารถให้บริการด้วยคุณภาพระดับสูงทั้งในเมืองใหญ่เมืองเล็ก ทั้งในชนบทและตามเกาะแก่งห่างไกล ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง เพราะญี่ปุ่นมีประชากรมากกว่าเราเกือบ 2 เท่า แต่มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมากกว่าเรา 6-10 เท่า

ที่มา : นพ.วิชัย โชควิวัฒน  นสพ.โพสต์ทูเดย์ 24 ธ.ค.56



INSURANCETHAI.NET
Line+