David Rook และ William Torbert ได้จำแนกประเภทของผู้นำไว้ 7 ประเภท
713
David Rook และ William Torbert ได้จำแนกประเภทของผู้นำไว้ 7 ประเภท
David Rook และ William Torbert ได้จำแนกประเภทของผู้นำไว้ 7 ประเภท โดยมุ่งเน้นเรื่อง คุณลักษณะและแนวทางใน การแก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาจุดเด่นให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น มีประเด็นสำคัญ ดังนี้...
ผู้นำประเภทนักฉวยโอกาส (Opportunist)
ผู้นำประเภทนี้มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด มีลักษณะเด่นคือ ยึดถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จิตใจคับแคบ ไม่ไว้ใจใคร มองโลกในแง่ร้าย บ้าอำนาจ สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง การยอมรับ และผลประโยชน์ มองเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้าเป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้นำประเภทนี้จะมองว่า โลกมนุษย์เต็มไปด้วยความโหดร้าย การเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น ถูกต้องเสมอ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็พร้อมจะโต้ตอบกลับให้รู้ดำรู้แดงกันไปข้างหนึ่ง ผู้นำประเภทนี้มักจะดำรงตำแหน่งได้ไม่นานเพราะไม่มีใครชอบ ไม่มีใครอยากให้ความร่วมมือ ยากที่จะเจริญก้าวหน้า และหาความสุขไม่ได้ในชีวิต แนวทางการแก้ไขคือ พยายามมองโลกในแง่ดี เปิดใจให้กว้าง มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และจริงใจกับคนอื่นบ้าง ถึงแม้ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราอาจจะเจอแต่คนเอารัดเอาเปรียบ แต่ไม่จำเป็นว่า ปัจจุบันจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ถ้าอยากมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า และได้รับการยอมรับ ก็ต้องรู้จักเปิดใจยอมรับผู้อื่นบ้าง อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราเช่นไรเราก็ต้องทำเช่นนั้นกับเขาก่อน
ผู้นำประเภทนักการทูต (Diplomat)
มีประมาณร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด ผู้นำประเภทนี้มักเป็นที่รักของลูกน้องและเจ้านาย เพราะกลุ่มนี้จะชอบสร้างภาพ ให้ตัวเองเป็นที่รักอยู่ตลอดเวลา เช่น พูดจาไพเราะ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่วิพากษ์วิจารณ์ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย ดูผิวเผินอาจจะเป็นสิ่งดี แต่ในความเป็นจริง การไม่ตำหนิติเตียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ใครเลย จะทำให้องค์กรไม่มีการพัฒนา หรือการเก็บงำข้อบกพร่องและความขัดแย้งภายในองค์กรไม่ยอมบอกให้หัวหน้ารู้ เพราะกลัวว่าภาพพจน์ตนเอง จะเสียและจะถูกมองว่าเป็นคนช่างฟ้อง จะทำให้ปัญหาบานปลาย เนื่องจากไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างทันท่วงที ดังนั้น ผู้นำประเภทนี้เมื่ออยู่ในตำแหน่งสูง ๆ มักจะเกิดปัญหาและไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากนัก บุคคลประเภทนี้เหมาะที่จะเป็นฝ่ายต้อนรับและให้บริการมากกว่าการบริหาร เนื่องจากไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เพราะสนใจแต่ภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น กอปรกับมองว่าปัญหาและข้อบกพร่องเป็นเรื่องน่าอับอาย และยุ่งยากจึงชอบ หนีปัญหา เป็นต้น แนวทางการแก้ไขคือ มองปัญหาและความขัดแย้งในแง่ดี และเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องเกิดขึ้น องค์กรใดที่ไม่มีความขัดแย้ง ย่อมไม่มีการพัฒนา ดังนั้น การติเตียนและวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ ย่อมเป็นสิ่งดี ทำให้องค์กร มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าต่อไป
ผู้นำประเภทชำนาญการ (Expert)
มีประมาณร้อยละ 38 ผู้นำประเภทนี้จะใช้ความรู้ที่ลุ่มลึกในงานที่ตนเองรับผิดชอบทำให้ผู้อื่นยอมศิโรราบ บุคคลเหล่านี้ จะชอบใฝ่หาข้อมูล ใส่ตัวให้มากที่สุดเพื่อแสดงว่ าตนนั้นอยู่เหนือผู้อื่นและมักคิดว่า ตนเองเก่งที่สุด และไม่มีวันที่คนอื่น จะรู้เท่าทัน ทำให้บ่อยครั้งเกิดการทะเลาะกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยง เสียไม่ได้ ผู้แต่งได้ยกตัวอย่าง อาชีพที่มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมดังกล่าว เช่น นักบัญชี นักวิเคราะห์ทางการตลาด นักวิจัยการลงทุน วิศวกรเกี่ยวกับโปรแกรมข้อมูล และที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีข้อดีคือ มีความรู้อย่างแท้จริง และสามารถพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น มีความรับผิดชอบ และตั้งใจทำงานเพราะต้องการผลิตผลงานออกมาให้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ งานส่วนใหญ่มักจะต้องทำคนเดียว และหน้าที่การงานก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร เพราะชอบโอ้อวดและดูถูกคนอื่น ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญดังกล่าว จึงไม่ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าดูถูกดูแคลนผู้อื่นเพราะจะเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว และให้ตระหนักว่าเหนือฟ้า ย่อมมีฟ้า อย่ามั่นใจในตัวเองมากนัก
ผู้นำประเภทจัดการ (Achiever)
มีประมาณร้อยละ 30 บุคคลประเภทนี้สามารถทำงานทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี ตามระยะเวลาที่กำหนด รับฟังความคิดเห็น ของผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี รู้จักการประนีประนอม และมีมนุษยสัมพันธ์ดี ภาพรวมของบุคคลประเภทนี้ เหมือนจะดี แต่ผู้แต่งกล่าวว่า คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่ค่อยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จะทำเฉพาะสิ่งที่ได้รับ มอบหมาย ถ้าเกินกว่านี้ก็จะไม่กล้าทำ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงและกลัวการสูญเสียอำนาจ และมักจะมีปัญหา กับลูกน้อง ที่อยู่ในประเภท "ผู้ชำนาญการ (Expert)" เป็นต้น ผู้นำประเภทนี้ถึงแม้ว่า จะไม่เป็นตัวสร้างปัญหา แต่ก็มิได้สร้างประโยชน์ ให้กับองค์กรมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักคิดนอกกรอบและกล้าที่จะเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์
ผู้นำประเภท "ข้าแน่คนเดียว" (Individualist)
มีประมาณร้อยละ 10 บุคคลประเภทนี้มีความคล้ายคลึงกับกลุ่ม "ผู้ชำนาญการ (Expert)" คือชอบทำงานคนเดียว แต่คนกลุ่มนี้จะรู้จักมองโลกสองด้านเช่น การรู้จักแยกแยะข้อมูลทางทฤษฎีกับการนำไปปฏิบัติจริงว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง หรือเป้าหมายของบริษัทนอกจากจะได้กำไรแล้วผลกระทบที่ตามมามีอะไรบ้าง คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่สักแต่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่จะรู้จักวิเคราะห์และไตร่ตรองข้อมูลต่าง ๆ กล้าที่จะคิดและเสนอสิ่งที่แตกต่าง เต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรู้ความสามารถ และต้องการผลักดันให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่จุดอ่อนของคนประเภทนี้คือ ไม่รู้จักการยืดหยุ่น หรือประนีประนอม และพร้อมที่จะสู้ตายเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดของตนเองนั้นถูกต้อง จึงทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนทุกระดับ ไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรเพราะขาดคนสนับสนุน หรือกว่าจะไปถึงจุดสูงสุดก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างหนักเพื่อสู้กับแรงต้านที่มาทั่วทุกสารทิศ แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่ามั่นใจตัวเองมากนัก เปิดใจยอมรับความคิดของผู้อื่นบ้าง รู้จักทำงานเป็นทีม และในฐานะหัวหน้าหากมีลูกน้องประเภทนี้ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่ขาดการเจียรนัย จึงควรให้การอบรมสั่งสอนให้รู้จักการวางตัวและแสดงออกอย่างเหมาะสม
ผู้นำประเภทนักยุทธศาสตร์ (Strategist)
มีประมาณร้อยละ 4 บุคคลประเภทนี้จะมีความรู้ ความสามารถมาก มองเห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร รู้ว่าสิ่งไหนทำได้ หรือทำไม่ได้ หรือยังขาดทรัพยากรใดบ้าง มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล สามารถสร้างความรักและศรัทธา จากลูกน้องและผู้ร่วมงานได้ ยึดเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก รับความขัดแย้งได้ทุกรูปแบบ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้า และมีคุณธรรมไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ขององค์กรแต่เพียงฝ่ายเดียว
ผู้นำประเภทนักสร้างสรรค์พัฒนา (Alchemist)
มีประมาณร้อยละ1 บุคคลกลุ่มนี้พร้อมที่จะพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคล้ายคลึงกับ"กลุ่มนักยุทธศาสตร์ (Strategist)" แต่แตกต่างกันตรงที่นักยุทธศาสตร์นั้นจะมองภาพรวมทั้งหมดและจัดการทุกอย่างได้อย่างไม่มีที่ติ แต่นักสร้างสรรค์ พัฒนานั้นนอกจากจะบริหารงานได้อย่างดีเยี่ยมแล้วยัง สามารถริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เหนือ ความคาดหมาย ได้อีกด้วย นอกจากนั้น คุณลักษณะอื่น ๆ ของผู้นำประเภทนี้คือ สามารถรับได้ทุกสถานการณ์ ไม่มีความขัดแย้งเพราะ มองปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา พูดจานุ่มนวล ถูกต้องตามกาละเทศะ มีบุญญาบารมี มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้า อยู่ตลอดเวลา มีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม
http://www.novabizz.com/NovaAce/Relationship/Leadership_Seven.htm
INSURANCETHAI.NET