4ไม่ หลักการเรียนรู้ และ รับฟัง
73

4ไม่ หลักการเรียนรู้ และ รับฟัง

4ไม่ หลักการเรียนรู้ และ รับฟัง

คนเราทุกคนต้องหัดเรียนรู้จากคนอื่นให้มากขึ้น ฟังกันให้มากขึ้น คิดร่วมกับผู้อื่นให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของทุกฝ่าย
วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัด นับวันจะผิดแผกแยกขาดออกจากกันไปทุกที
ขณะที่คนต่างจังหวัดกำลังมีความสุขอยู่กับธรรมชาติ คนกรุงเทพฯ กลับใช้ชีวิตกับสิ่งที่หายไปและผิดเพี้ยนจากธรรมชาติมากขึ้นไปทุกขณะ
กรุงเทพฯ ถ้าอยู่ไปนานๆ ความด้านจะมากขึ้น เพราะมีแต่สิ่งไม่ดีไม่งาม

ก้าวจังหวะที่ธุรกิจน้อยใหญ่ ต่างให้ความสนใจประเด็นของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจากการทำธุรกิจแล้วมีกำไร สิ่งที่เขามองก็คือ จะทำอย่างไรให้ชุมชน สังคมไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ มาช่วยกันทำให้เมืองไทยน่าอยู่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าเพียงพึ่งพิงวัตถุ

สังคมไทยมีคนอยู่สองจำพวก
พวกแรกนิยมในอำนาจ เงินตรา และตำแหน่ง มีแต่ความอยากเป็น
พวกหลังซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย มีจิตอาสา อยากสร้างประโยชน์ให้สังคมส่วนร่วม มีจิตใจอยากลงมือทำ

เรื่องที่ควรถามตัวเองก็คือ อะไรสำคัญกับชีวิตของคนเรา อำนาจ ตำแหน่ง รถยนต์ หรือความสุข

“ไทยเราต้องปรับวิธีคิด ทัศนคติต่างๆ ปรับความรู้ ให้เข้าใจถึงค่านิยมที่ถูกต้อง เราชื่นชอบแต่ค่านิยมที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์”

คนต่างจังหวัดถึงแม้เป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดเงินทุน แต่ก็เป็นตัวของตัวเองมากกว่า ร่ำรวยน้ำใจ และมีความพออกพอใจในตัวเอง และมีอะไรหลายอย่างที่คนกรุงเทพฯ ไม่มี “มีอิสระทางความคิดมากกว่า และก็พึงพอใจในตัวเองมากกว่า”

คนกรุงเทพฯ อาจต้องดิ้นรนทั้งชีวิต เพื่อไปให้ถึงความสุขในบั้นปลายที่ฝันไว้ คนต่างจังหวัดผู้ไม่เคยเข้าถึงเงินทุน ระบบยุติธรรม แต่ทว่าสิ่งจำเป็นในชีวิตและก่อให้เกิดประโยชน์สุข คนต่างจังหวัดกลับเข้าถึงได้ด้วยตัวของเขาเอง โดยไม่ต้องรอเก็บเงินทั้งชีวิตเพื่อให้ได้มา

กระแสของ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ทำให้ธุรกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม คนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัด จำเป็นต้องขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น แทนที่จะยกประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ชี้ขาด

คนเราทุกคนต้องหัดเรียนรู้จากคนอื่นให้มากขึ้น ฟังกันให้มากขึ้น คิดร่วมกับผู้อื่นให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของทุกฝ่าย รวมถึงตระหนักในจุดอ่อนของแต่ละคนรวมถึงตัวเอง

การลงมือทำกิจกรรม CSR ใดๆ จึงต้องเน้นวิธีการเข้าถึงและอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเอาคนในชุมชนและสังคมเป็นตัวตั้ง ภายใต้ 4 แนวทางหลักคือ 1. ไม่คิดแทน 2. ไม่สรุปแทน 3.ไม่พูดแทน  และ 4. ไม่ทำแทน

ธุรกิจต้องให้โอกาสกับชุมชน สนับสนุนส่งเสริมโอกาสอันกว้างขวาง เพราะการทำธุรกิจทำให้มีเงิน มีอำนาจ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราต้องปรับวิธีคิดเพื่ออยู่ร่วมกัน ความขัดแย้งมีได้ คิดต่างได้ แต่ถ้าเรามีประสงค์ร่วมกันในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราต้องมีกระบวนทัศน์ที่เหมาะสม”

มีแต่ความเข้าใจ หันหน้าเข้าหากัน และความศรัทธาซึ่งกันและกันเท่านั้น ที่จะทำให้ธุรกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

สร้างฝาย สร้างคน
ก่อนหน้านี้เอสซีจีประกาศความสำเร็จในการสร้างฝายครบ 2 หมื่นแห่งในปีนี้ และอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2556) บริษัทเดินหน้าสร้างเพิ่มอีกปีละ 1 หมื่นแห่ง จนกว่าจะครบ 5 หมื่นแห่ง เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 100 ปีเอสซีจี
ทำไมต้อง 5 หมื่นฝาย? ศาณิต เกษสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด บอกว่า เพราะการเริ่มต้น 1 หมื่นฝายแรก ทำให้ธุรกิจและชุมชนสามารถสัมผัสร่วมกันได้ถึงประโยชน์ เมื่อผ่านไปอีก 1 หมื่นฝายจึงเป็นการขยายผลความร่วมมือ เพื่อยังประโยชน์ในวงกว้าง ดังนั้นเมื่อองค์กรเอสซีจีมีอายุครบ 100 ปี จึงถือเป็นความท้าทาย ในการร่วมกับเครือข่ายธุรกิจและสังคม มาช่วยกันทำสิ่งดีๆ ให้กับสิ่งแวดล้อม

  ปูนลำปางเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เอสซีจีพยายามตอกย้ำมาอย่างต่อเนื่อง ข้อดีของการมาตั้งโรงงานทำปูนในป่าคือ เปิดทางให้ธุรกิจได้แสดงให้เห็นว่า สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ถ้าเพียงแต่ผู้บริหาร พนักงาน คนในชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาช่วยกัน

“สิบหกปีที่แล้วตอนที่เรามาสร้างโรงงาน คิดกันเยอะมากว่าทำอย่างไรชุมชนถึงจะไม่คัดค้าน เรื่องของทุน เรื่องของธุรกิจ เรามีความสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้คนในชุมชนยอมรับ และทำให้สภาพแวดล้อมไม่เสียหาย ปูนลำปางเป็นตัวอย่างของการสร้างโรงงานสีเขียว ทำให้ป่าไม้อยู่ได้ แรกๆ เราเน้นปลูกป่าอย่างเดียว แต่เอาชนะไฟป่าไม่ได้ พอมาทำเรื่องฝาย ทำให้รู้ว่าเราจะอยู่กับชุมชนอย่างไร และพยายามเปลี่ยนแนวทางจากการให้เงินบริจาค มาเป็นการคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน”

การสร้างฝายไม่ว่ามากหรือน้อย คือกระบวนการเรียนรู้ในตัวคน การลองผิดลองถูก เปิดทางให้คนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นองค์ความรู้ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นำไปสู่การสงวนรักษาป่าและธรรมชาติในท้ายที่สุด

“การสร้างคนในองค์กร เราสร้างคนให้ผูกพัน เราทำให้คนเก่ง คนดี และเป็นคนที่รักองค์กร เน้นสื่อสารพูดคุยสองทาง เพราะปัญหาจากการสื่อสารเป็นเรื่องใหญ่ ต้องให้รู้ ให้เข้าใจ เปิดโอกาสให้ซักถาม ขณะที่กิจกรรมสร้างฝาย คือการสร้างความสัมพันธ์ เกิดเป็นโมเดลผู้นำการสร้างฝาย เพราะถ้าฝายสำเร็จ คนก็สำเร็จด้วย”



INSURANCETHAI.NET
Line+