ความเสียหายจากโรงเรือนชำรุด
756
ความเสียหายจากโรงเรือนชำรุด
ความเสียหายจากโรงเรือนชำรุด
เขียนโดย Vakin Youngchoay
มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือ สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดีหรือบำรุงรักษาไม่ เพียงพอก็ดีท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ จำต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทนแต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้นให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความ บกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย
ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้
มาตรา 435 บุคคลใดจะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น บุคคลผู้นั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้
มาตรา 436 บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้นหรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212/2544
โจทก์ฟ้องบังคับเพื่อให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการระงับความเสียหายอันจะบังเกิดแก่โจทก์ต่อไป ไม่ได้ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการละเมิดโดยตรงจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งอายุความ 1 ปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1342 วรรคหนึ่งและวรรคสองจนเป็นเหตุให้มีน้ำโสโครกซึมเข้าไปในที่ดินและบ้านของโจทก์และมีกลิ่นเหม็นไม่อาจพักอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านได้ตามปกติสุขอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาดจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 แม้จะได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนอาคารชุดที่เกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 2 แล้วก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 มายกเว้นความผิดของตนได้เพราะคดีนี้ความเสียหายมิได้เกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องหรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2541
โจทก์ก่อสร้างโรงงานและกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กผนังอิฐบล็อกที่พิพาทบนที่ดินของ โจทก์ ต่อมาจำเลยกับพวกได้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตสำนักงานสูง 4 ชั้นชิดกำแพงพิพาทของโจทก์เป็นเหตุให้กำแพงพิพาทมีรอยแตกร้าวเป็นเส้น เฉพาะกำแพงช่องที่ 1 ที่ 5 และที่ 22 รอยแตกร้าวของปูนเป็นช่องใหญ่ประมาณ1 นิ้ว ช่องผนังกำแพงที่แตกร้าวเป็นเส้นมีจำนวน 14 ช่อง และบริเวณแนวกำแพงที่โอนเอน*เข้ามาจากระดับตั้งฉากเดิม เมื่อนับจากผนังกำแพงใกล้กับท่อน้ำทิ้งหลังอาคารสำนักงานของจำเลยผนังกำแพง เอน*จากแนวตั้งฉากประมาณ4เซนติเมตรและเอน*เข้าไปด้านในจนถึงจุดที่เอน*มาก ที่สุดห่างจุดแรก 9 เมตร มีความเอน*ประมาณ 15 เซนติเมตร เมื่อความเสียหายของกำแพงพิพาทมีเพียงบางส่วน จำนวน 14 ช่องของจำนวนกำแพงพิพาทซึ่งมีทั้งหมด22 ช่อง ถือได้ว่ามีความเสียหายมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำแพงพิพาท อีกทั้งกำแพงพิพาทยังเอียงจากแนวระดับตั้งฉากเดิมอีกด้วยประกอบกับความเอียง ของกำแพงมิได้อยู่คงที่หากแต่มีการเอียงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลให้กำแพงพิพาทส่วนอื่นที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย มีโอกาสเอียงไปตามแรงดึงของกำแพงส่วนที่เอียงได้ เมื่อได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการทำละเมิดของจำเลยแล้ว การให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงพิพาทและก่อสร้างใหม่ย่อมมีความเหมาะสมกว่า ให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่เฉพาะส่วนที่เสียหาย แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 435 ที่บัญญัติให้บุคคลใดที่จะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่ง ปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น ให้บุคคลนั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตราย นั้นเสียได้ก็ตามแต่ในการก่อสร้างอาคารของจำเลย จำเลยมิได้อาศัยหรือใช้กำแพงพิพาทของโจทก์จำเลยเพียงแต่ก่อสร้างอาคารชิด กำแพงพิพาทของโจทก์เท่านั้น เมื่อศาลได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการก่อสร้างอาคารชิดกำแพง พิพาทรวมทั้งที่ได้กำหนดให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่ให้แก่โจทก์แล้วถือได้ว่า ได้มีการบำบัดปัดป้องภยันตรายในระดับหนึ่งแล้วกรณีจึงยังไม่สมควรที่จะให้ จำเลยรื้ออาคารที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายนั้นอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5284/2540
คดีนี้โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก และทางพิจารณาได้ความว่าทั้งสองฝ่ายต่างได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้วกล่าว คือ จำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างฝายน้ำล้นจนแล้วเสร็จตามสัญญาและส่งมอบงานแก่โจทก์ไปแล้ว และโจทก์ได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 ไปเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน หนี้ที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามสัญญาได้สิ้นสุดลง จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาอีกหรือไม่
จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างฝายน้ำล้นกับโจทก์โดยมีข้อสัญญาให้จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระและแรงงานในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และโจทก์ตกลงให้ค่าก่อสร้างแก่จำเลยที่ 1 สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 587
ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างฝายน้ำล้นที่พิพาทได้กำหนดกรณีที่การงานที่ทำชำรุด บกพร่องไว้ว่า ถ้ามีการชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างภายใน365 วัน นับแต่วันที่รับมอบงานเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างจะต้องรีบแก้ไขซ่อมแซมให้ เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหากยังมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นอีก ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดต่อผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ.อีกด้วย เมื่อปรากฏว่าการก่อสร้างฝายน้ำล้นของจำเลยที่ 1 เป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดินตามแบบแปลนที่โจทก์กำหนด โดยฝ่ายจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาสัมภาระเองและฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างได้เกิดชำรุดแตกร้าวทรุดตัว อันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติเป็นที่ ประจักษ์แก่โจทก์ภายในเวลาไม่ถึงปีนับแต่วันส่งมอบ ดังนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 595 และ 600 ไม่ว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าการชำรุดบกพร่องมีอยู่ จำเลยที่ 1ก็ต้องรับผิดในการบกพร่องนั้น เว้นแต่การชำรุดบกพร่องนั้นจะเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ผู้ว่าจ้าง ดังนั้นปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้เถียงว่า ก่อนก่อสร้างจำเลยที่ 1ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของดินบริเวณที่ก่อสร้างได้บดอัดดินจนแน่นก่อนเท คอนกรีตได้ผสมปูนตามสัดส่วนที่กำหนดไว้และได้นำแท่งคอนกรีตไปตรวจสอบหาความ แข็งแรงให้รับน้ำหนักได้ตามที่กำหนด รวมทั้งการผูกเหล็กและวางตะแกรงเหล็กได้กระทำตามที่โจทก์กำหนดไว้หรือไม่ จึงไม่ต้องวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 1 ให้การว่า ความเสียหายของฝายเกิดขึ้นเพราะการออกแบบไม่ถูกต้องมิได้เผื่อไว้ในกรณีน้ำ มากกว่าปกติ ที่ฝายกั้นน้ำเสียหายนั้นเป็นเพราะมีปริมาณน้ำเหนือฝายเกินกว่าปกติ แม้จะดำเนินการก่อสร้างฝายถูกต้องตามแบบทุกประการฝายก็ยังต้องพังทลาย เพราะมีน้ำป่าผ่านเหนือฝายสูงกว่าปกติทำให้เกิดปริมาณน้ำมากเกินกว่าความ แข็งแรงของฝายที่จะรับน้ำได้ จึงเกิดความเสียหายขึ้นนั้น เมื่อปรากฏว่าการก่อสร้างฝายน้ำล้นจำเลยที่ 1 ต้องทราบดีว่ามีวัตถุประสงค์จะจัดการเกี่ยวกับน้ำที่ไหลมาจำนวนมากผิดปกติ ซึ่งก่อนทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ก็น่าจะตรวจสอบสภาพธรรมชาติของน้ำให้ได้ข้อมูลที่แน่นอนเสียก่อนลงมือก่อ สร้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างเหตุอุทกภัยดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้
จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นข้าราชการของโจทก์เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างบกพร่อง เลือกสถานที่ก่อสร้างผิดพลาดไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นมุมหัก ไม่เอื้ออำนวยประโยชน์ เมื่อมีน้ำไหลแรงจึงเกิดการปะทะเป็นเหตุหนึ่งทำให้ฝายชำรุดและผู้ออกแบบไม่ ได้หาข้อมูลจากส่วนราชการที่มีความชำนาญเกี่ยวข้องกับการออกแบบเขื่อนกั้น น้ำและฝายขนาดใหญ่ เช่น กรมชลประทาน ดังนี้ นับได้ว่าเหตุที่ฝายน้ำล้นของโจทก์ไม่แข็งแรงเกิดชำรุดบกพร่องในภายหลัง โจทก์ได้มีส่วนผิดอยู่ด้วย
โจทก์ได้ออกคำสั่ง 2 ฉบับ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุและข้อเท็จจริงและบุคคลต้องรับผิดชอบกรณีฝาย น้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กชำรุดเสียหายคณะกรรมการได้สรุปรายงานผลการสอบสวน เสนอโจทก์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2527สำหรับความรับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า จำเลยที่ 2 (ถึงแก่กรรม)จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานไม่อยู่ควบคุมงานก่อสร้างทุกคนต้องรับผิดใช้ค่าเสีย หายทางแพ่งต่อทางราชการ ส่วนจำเลยที่ 5 ไม่ปรากฏว่าได้ละเลยหน้าที่ ไม่ควรต้องรับผิดทางแพ่ง ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้แทนของโจทก์ในขณะนั้นได้ทราบ รายงานดังกล่าวแล้วตั้งแต่เมื่อใด จึงถือได้ว่ารายงานการสอบสวนสาเหตุและข้อเท็จจริงและบุคคคลต้องรับผิดเป็น รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นเท่านั้น ไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รู้ตัวผู้ทำละเมิดแล้ว
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจการจ้างส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นกรรมการควบคุมงานก่อสร้าง และการก่อสร้างฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งได้กระทำไปโดยไม่ถูกต้องตามแบบและวิธีการก่อ สร้าง เป็นเหตุให้ฝายน้ำล้นชำรุดบกพร่องแตกร้าวและพังทลายเสียหายจนใช้การไม่ได้ใน เวลาไม่ถึงหนึ่งปีนับแต่วันส่งมอบ การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำรายงานเสนอโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยถูกต้องตามแบบรูปและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาควรรับ ไว้ใช้ในราชการ ซึ่งหากจำเลยที่ 5 กับที่ 6 ไม่ประมาทเลินเล่อเอาใจใส่สอดส่องควบคุมการก่อสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิชา โดยใกล้ชิดฝายน้ำล้นก็ไม่น่าจะแตกร้าวพังชำรุดเสียหายในเวลาอันรวดเร็วหลัง จากการส่งมอบงานเช่นนั้น และโจทก์หลงเชื่อตามรายงานของจำเลยทั้งสี่ว่าการก่อสร้างได้เป็นไปตามแบบโดย ถูกต้อง จึงได้จ่ายเงินค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ไปเต็มจำนวนตามสัญญาจ้าง ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยร่วมกันประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างทำของส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดแม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ โจทก์จำนวนเดียวกัน แต่ก็เป็นความรับผิดที่ต่างต้องรับผิดในความเสียหายอันเดียวกันเท่านั้น จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2540
จำเลยเป็นเจ้าของเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกกอล์ฟซึ่งมีการออกแบบโครงสร้างผิดพลาดและไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาที่จะรับแรงปะทะจากพายุธรรมดาได้เมื่อมีพายุฝนเป็นธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติทำให้โครงเหล็กและตาข่ายซึ่งก่อสร้างไว้บกพร่องล้มลงทับคลังสินค้าซึ่งมีสต๊อกสินค้าของบริษัทล. ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายจำเลยจึงต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา434วรรคหนึ่ง ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยได้ระบุไว้ว่าการประกันภัยรายนี้ได้ขยายความคุ้มครองการสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดขึ้นจากลมพายุฯลฯเปียกน้ำด้วยเมื่อเกิดพายุฝนขึ้นทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายของจำเลยล้มทับคลังสินค้าเป็นเหตุให้สต็อกสินค้าของบริษัทล. ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เปียกน้ำฝนซึ่งจำเลยเจ้าของสิ่งก่อสร้างต้องรับผิดชอบเมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทล.แล้วโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทล.ซึ่งมีต่อจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2538
ต้นสนที่อยู่ข้างถนนซึ่งเทศบาลจำเลยที่1มีหน้าที่ดูแลมีสภาพผุกลวงแม้จะมีฝนตกและฟ้าคะนองในวันเกิดเหตุแต่ก็เป็นฝนตกเล็กน้อยและปานกลางในช่วงสั้นๆและความเร็วของลมก็เป็นความเร็วลมปกติการที่ต้นสนล้มลงทับรถยนต์โจทก์จึงมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัยเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนแต่เป็นความบกพร่องของจำเลยที่1ที่ไม่ยอมโค่นหรือค้ำจุนต้นสนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นจำเลยที่1จึงต้องรับผิด ค่าเสียหายเพราะเหตุที่โจทก์ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตโดยระบบประสาทไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เสียสมรรถภาพทางเพศและไม่สามารถเดินได้กับค่าเสียหายที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานจากการทุพพลภาพตลอดชีวิตเป็นค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินทั้งสองกรณีอันเนื่องมาจากเหตุที่ต่างกันจึงแยกจำนวนให้ชดใช้ตามเหตุที่แยกออกจากกันเป็นแต่ละเหตุได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2534
โจทก์สร้างศูนย์การค้าและอาคารพาณิชย์เพื่อให้เช่าและจำหน่ายจึงมีความจำเป็นต้องสร้างถนนภายในบริเวณศูนย์การค้าและอาคารพาณิชย์เพื่อให้บุคคลที่อยู่อาศัยในศูนย์การค้าและประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางเข้าออก เพื่อประโยชน์ในกิจการค้าขายของผู้ที่เช่าหรือซื้ออาคารพาณิชย์ และโจทก์ได้จัดยามเฝ้าดูแลถนนหนทางเข้าออกบริเวณศูนย์การค้าตลอดเวลา ทั้งโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยใช้ถนนและทางเท้าเข้าออกโรงแรมจำเลยซึ่งสร้างติดกับที่ดินของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังคงยึดถือครอบครองถนนภายในบริเวณศูนย์การค้าอยู่ไม่ได้มีเจตนาที่จะยกถนนและทางเท้านั้นให้เป็นทางสาธารณะ เมื่อจำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำและทำให้ถนนดังกล่าวเสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยสร้างถนนหน้าโรงแรมจำเลยสูงกว่าถนนอื่นภายในบริเวณศูนย์การค้าของโจทก์ และทำคันซีเมนต์กั้นเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าไปที่ถนนหน้าโรงแรมจำเลย เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยมิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณศูนย์การค้าของโจทก์ ทั้งถนนที่จำเลยเสริมสร้างให้สูงขึ้นเป็นถนนของโจทก์ และโจทก์ยังรับผิดชอบเกี่ยวกับถนนทั้งหมดภายในบริเวณศูนย์การค้าของโจทก์ โจทก์จึงได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4128/2528
แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 จะบัญญัติให้ผู้ครองหรือเจ้าของต้นไม้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตามแต่มูลละเมิดในเรื่องนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นมะพร้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ของจำเลยโจทก์ก็มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า เหตุที่ต้นมะพร้าวล้มจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เกิดจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนของจำเลยหาใช่ว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ดังกล่าวไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2526
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของจำเลย มิใช่ให้รับผิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบถึงฐานะความเกี่ยวพันของลูกจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายเกิดจากท่อระบายน้ำจากดาดฟ้าโรงแรมชำรุดบกพร่องหรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอ จำเลยซึ่งเป็นทั้งผู้ครองและเจ้าของดาดฟ้าโรงแรมและท่อระบายน้ำดังกล่าว จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ผู้รับประกันภัย ซึ่งได้ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 ประกอบด้วยมาตรา 880
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2520
จำเลยให้เช่าตึกของจำเลยทั้งสามชั้นแต่จำเลยยังใช้ตึกของจำเลยบางส่วนเป็นที่ตั้งบริษัทและสำนักงานของจำเลยอยู่ ถือว่าจำเลยยังครองตึกของจำเลยอยู่ หากความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นเพราะเหตุที่ตึกของจำเลยก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องหรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอ จำเลยซึ่งเป็นทั้งผู้ครองและเจ้าของตึกจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2505
โจทก์จำเลยต่างเป็นผู้เช่าที่ดินของวัดปลูกเรือนอาศัยอยู่จำเลยได้ปล่อยปละละเลยให้ต้นมะม่วงที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่จำเลยเช่าแผ่กิ่งก้านสาขาเข้ามาปกคลุมหลังคาเรือนโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยฐานละเมิดและเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2502
จำเลยเป็นเทศบาลละเว้นหน้าที่อันจะต้องกระทำ กล่าวคือจัดให้ถมบ่อทำให้เป็นพื้นเดียวกับพื้นถนนเสียก่อนที่จะเปิดถนนให้รถผ่านไปมาได้ ทั้งยังปรากฏว่า จำเลยมิได้จัดให้มีสิ่งกีดกั้นบ่อนี้เป็นเครื่องหมายให้สดุดตาแก่ผู้คนที่ผ่านไปมา และในเวลากลางคืนก็มิได้จัดให้มีโคมไฟจุดให้ความสว่างตามสมควร จำเลยย่อมเห็นได้อยู่แล้วว่าเป็นสิ่งอันตรายแก่รถและผู้คนสัญจรไปมาอย่างมากที่จะปล่อยให้มีบ่ออยู่เช่นนั้น จนเป็นเหตุให้รถโจทก์ขับไปชนขอบบ่อนี้เข้าและเกิดการเสียหายขึ้น ดังนี้ต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับ ความเสียหายจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1358 - 1359/2496
ผู้เป็นเจ้าของอาคารได้พยายามที่จะซ่อมแซมอาคารของตนที่ชำรุดทรุดโทรม แต่ผู้เช่าซึ่งครองอาคารอยู่ขัดขวาง ไม่ยอมออกจากอาคาร จึงทำการซ่อมไม่ได้ เจ้าของอาคารจึงขายอาคารให้จำเลย เมื่อตกมาเป็นของจำเลยแล้ว จำเลยก็ยังพยายามที่จะหาทางรื้อถอนเพื่อป้องกันอันตรายอันอาจมีขึ้น แต่ผู้เช่าก็คงขัดขวางเช่นเดิมจำเลยร้องต่อกรมการอำเภอ แต่ทางอำเภอก็ไม่อาจช่วยจัดการให้ได้ มิหนำซ้ำผู้เช่ายังไปรับรองต่ออำเภออีกว่าถ้าเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้น ผู้เช่าจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง แต่แล้วผู้เช่าก็หาได้จัดการบำบัดปัดเป่า เพื่อมิให้เกิดอันตรายขึ้นอย่างใดไม่ คงปล่อยทิ้งไว้ จนกระทั่งฝาผนังตึกพังลงมาทับตึกของโจทก์เสียหาย ดังนี้ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารที่พัง ไม่จำต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2485
ต้นนุ่นที่มีความชำรุดโดยรากโคนไม่ดีจนลำต้นมิได้ตั้งตรงโอนเอนมาทางเรือนโจทก์. โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้วถึงความชำรุด. ก็มิได้จัดการป้องกันแต่ประการใด. เมื่อต้นนุ่นล้มทับเรือนโจทก์เสียหาย. แม้จะเป็นโดยพายุหรือมิใช่ก็ตาม.จำเลยก็ต้องรับผิด
http://thai-civil-code.blogspot.com/2009/08/blog-post_7355.html
INSURANCETHAI.NET