สิทธิของผู้บริโภคในการฟ้องร้องเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียม
774

สิทธิของผู้บริโภคในการฟ้องร้องเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียม

สิทธิของผู้บริโภคในการฟ้องร้องเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียม

            ทนายคลายทุกข์ขอนำเสนอกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภควิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคให้กับผู้บริโภคที่จองคอนโดมิเนี่ยมได้ทราบและนำไปใช้ได้จริงเป็นข้อ ๆ ดังนี้ คือ
            1.  ความหมายของคำว่า “ผู้บริโภค”  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3 บัญญัติว่า ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
2.  ความหมายของคำว่า  “ผู้ประกอบธุรกิจ”  หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย
            การจองบ้านและคอนโดในเขตเมือง เช่น สีลม, สุขุมวิท, เพชรบุรี หรือรัชดาภิเษก, พหลโยธิน  หรือบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้า  เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน  โดยเฉพาะคอนโดเนื่องจากใกล้ที่ทำงาน  สะดวกสบายในการเดินทาง  ประหยัดค่าใช้จ่าย  มีห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าจำนวนมาก  หาที่กินที่เที่ยวสะดวก  บางโครงการ เช่น บริเวณสี่แยกเมเจอร์รัชโยธินเปิดให้จองใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง  มีการจองหมดโดยทันที  ราคาตารางเมตรละ 76,200 บาท  เป็นต้น  ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงมาก  เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการสูง
            ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคหลายรายเกี่ยวกับโครงการคอนโดมิเนี่ยมแห่งหนึ่งใจกลางเมือง (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ)  เปิดให้จองห้องชุดพักอาศัยเนื้อที่ประมาณ 43 ตารางเมตร  ราคา 2,000,000 บาท ในปี พ.ศ. 2551  ผู้ซื้อต้องชำระเงินจองในวันทำสัญญา 15,000  บาท  ผ่อนชำระเงินจองส่วนที่เหลืออีกประมาณ 600,000 บาท  งวดละ 20,000 บาท  รวม 29 งวด
            หลังจากจ่ายเงินจองครบ อีก 1,900,000 บาท  ให้ผู้จองไปกู้ธนาคาร  ปรากฏว่า  เมื่อชำระเงินจองครบ  เจ้าของโครงการไม่ยอมสร้างต่อ  แต่เอาโครงการไปขายให้กับคนอื่นและได้กำไรเพิ่มเติมอีกหลายร้อยล้านบาท (จากที่ได้กำไรอยู่แล้วในการเปิดให้ผู้บริโภคจอง เป็นการได้กำไรซ้อนกำไร) โดยอ้างพิษเศรษฐกิจบังหน้า  ซึ่งไม่เป็นความจริง  เพราะบริเวณตรงข้ามมีคอนโดลักษณะเดียวกันถูกจองหมดแล้ว  ผู้บริโภคหลายรายที่จองโครงการดังกล่าวได้รับจดหมายบอกเลิกสัญญาและคืนต้นเงินแต่ไม่มีดอกเบี้ยและค่าเสียหายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทำให้ได้รับความเสียหาย และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการบอกเลิกสัญญา ไปร้องเรียน สคบ.ก็ช่วยไม่ได้  จึงมาขอความช่วยเหลือที่ทนายคลายทุกข์  ต้องการเรียกค่าเสียหายให้สอดคล้องกับความเสียหายตามความเป็นจริง  เพราะต้องเจียดเงินเดือนผ่อนมา 2 ปี  แสนสาหัสและไม่ได้คอนโด
            ทนายคลายทุกข์ขอเรียนว่า ตามกฎหมายแล้วผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเจ้าของโครงการได้ดังนี้
            1.  ขอต้นเงินที่จองและชำระเงินจองทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาและตามประกาศประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543  ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2543 ข้อ 8.6 (ก)
            2.  เจ้าของโครงการไม่ยอมสร้างต่อแต่เอาโครงการไปขายให้บุคคลภายนอกได้กำไร  หลายร้อยล้านบาทเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  ผู้บริโภคต้องไปหาซื้อคอนโดใหม่ในย่านเดียวกัน  มีราคาต่อตารางเมตรสูงขึ้นจากเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์  กล่าวคือ จากเดิม 48,700  บาท  ราคาปัจจุบันสูงกว่าเดิมเป็น 76,200  บาท  เกิดความเสียหายต่อตารางเมตรละ 27,500 บาท
            3.  ค่าขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์นับแต่วันที่ต้องสร้างให้เสร็จ เป็นรายวัน-รายเดือน ตามข้อเท็จจริง
            4.  ค่าเสียหายทางด้านจิตใจ  เช่น  อาจจะจองคอนโดเพื่อใช้เป็นเรือนหอ  อาจทำให้แฟนเลิกกันหรือถอนหมั้น  ผมเคยได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว  ก็น่าจะเรียกได้ถ้าสืบได้
            5.  ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น  เพราะผู้บริโภคตั้งใจซื้อคอนโดใกล้ที่ทำงาน  แต่เมื่อเจ้าของโครงการไม่ยอมสร้าง  ทำให้ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น
            6.  ของแถมที่ตกลงจะให้กับผู้จองคอนโด เช่น ทีวี  ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ  แต่เมื่อไม่มีการสร้าง  จึงไม่มีการให้ของแถม  เจ้าของโครงการต้องชดใช้คืนให้กับผู้บริโภคตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้
            7.  ค่าเสียหายอื่นๆ  อีก (ถ้ามี)  ผู้บริโภคสามารถเรียกได้ทั้งสิ้น

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 5  ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต
มาตรา 391  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น
การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543
ข้อ 8.6  ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด
ก.      ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิเรียกเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้ว
ทั้งหมดคืนจากผู้ประกอบธุรกิจพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับ  ที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดสำหรับกรณีผู้บริโภคผิดนัดชำระหนี้  แต่ทั้งนี้  ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่น

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
มาตรา 4  ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้
(3 ทวิ) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
(4) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
มาตรา18  ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย การยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในคดีผู้บริโภคซึ่งดำเนินการโดยผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด
ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควร ประพฤติตนไม่เรียบร้อย ดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็น หรือมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ในกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร

http://decha.com/main/showTopic.php?id=5912



INSURANCETHAI.NET
Line+