ลงทุนในตั๋วแลกเงิน
80
ลงทุนในตั๋วแลกเงิน
ลงทุนในตั๋วแลกเงิน
ตั๋วแลกเงิน หรือ Bills of Exchange (B/E) เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ผู้กู้ยืมเงินจะออกตั๋วเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้เงิน ในตั๋วจะกำหนดจำนวนเงินที่สัญญาจะจ่ายคืน ในวันที่ระบุในตั๋ว ส่วนใหญ่จะเป็นตั๋วระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี และไม่มีหลักประกัน
ลักษณะของตั๋วแลกเงินจะคล้ายๆกับตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ Promissory Note (P/N) หรือตั๋วพี.เอ็น. คือเป็นเครื่องมือในการกู้ยืมเงินเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินมักจะจ่ายดอกเบี้ยต่างหาก หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ดอกตาม” ขณะที่ตั๋วแลกเงินจะจ่ายดอกเบี้ยในลักษณะของส่วนลด หรือที่เรียกกันว่า “ดอกหัก” คือผู้ออกตั๋วหรือผู้กู้จะได้รับเงินที่ผู้ซื้อหรือผู้ให้กู้หักดอกเบี้ยไว้แล้ว
การหักดอกเบี้ยไว้นี้หากคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแล้วจะมากกว่าการคิดดอกเบี้ยแบบ”ดอกตาม” เพราะไม่ได้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้น แต่คิดจากจำนวนเงินที่ต้องใช้คืน เช่น ออกตั๋วแลกเงินเพื่อกู้ยืมเงิน 1 ล้านบาท หากคิดอัตราส่วนลดร้อยละ 5 สำหรับระยะเวลา 1 ปี ผู้ซื้อหรือผู้ให้กู้จะจ่ายเงินให้ผู้กู้เพียง 950,000 บาทเท่านั้น โดยหักดอกเบี้ยจำนวน 50,000 บาทออกไป หากนำส่วนลด 50,000 บาทมาคำนวณบนเงินต้น 950,000 บาทแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับร้อยละ 5.26 ต่อปีทีเดียว ตรงนี้ทำให้ตั๋ว บี.อี.น่าสนใจ
ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ เพราะเป็นลักษณะของการกู้ยืมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจ (working capital) ดังนั้นระยะเวลากู้ยืมมักจะสั้น เช่น กู้มาเพื่อสามารถให้เครดิตการค้ากับผู้ซื้อได้ (Accounts Receivable Financing) พอเก็บเงินจากผู้ซื้อได้ก็นำมาคืนผู้ให้กู้ เป็นต้น
แต่เดิมผู้ให้สินเชื่อประเภทนี้คือธนาคารพาณิชย์ ต่อมาธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะนำตั๋วออกมาขายต่อบ้างโดยได้กำไรจากส่วนต่างเล็กน้อย และเพื่อให้ผู้ซื้อต่อสบายใจ ธนาคารก็อาจจะรับอาวัลตั๋ว คือรับว่าหากผู้ออกตั๋วไม่ชำระเงินคืน ธนาคารก็จะจ่ายคืนให้และจะไปเรียกคืนจากผู้ออกในภายหลัง โดยธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการอาวัลตั๋วเพิ่มอีกต่างหาก
เมื่อเครดิตของผู้ออกตั๋วดีขึ้น และค่าธรรมเนียมการอาวัลตั๋วของธนาคารสูงขึ้น ผู้ออกตั๋วบางรายก็ออกตั๋วขายให้กับผู้ลงทุน(ผู้กู้)โดยตรง แรกๆมีธนาคารคอยดูแลจัดการประมูลให้ โดยคิดค่าธรรมเนียมการจัดประมูล ตอนหลังผู้ออกตั๋วก็คิดว่าเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารไปไย สู้ออกขายตรงดีกว่า จึงออกขายโดยตรงให้กับผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน
การมีธนาคารจัดโปรแกรมประมูลให้ มีข้อดีอยู่ข้อหนึ่งที่ผู้ลงทุนมักจะมองข้ามไป คือธนาคารจะเป็นผู้คัดเลือกลูกค้าผู้ออกตั๋วว่ามีสถานะทางการเงินดีพอและมีกระแสเงินสดพอที่จะชำระคืนหรือไม่ แม้จะไม่ได้รับประกัน แต่ก็ผ่านการพิจารณามาแล้วขั้นหนึ่ง เพราะธนาคารไม่อยากเสียชื่อเสียง
การลงทุนในตั๋วแลกเงิน ผู้ลงทุนควรจะพิจารณาเสมือนหนึ่งการให้กู้แก่ผู้ออกตั๋ว เพราะฉะนั้น การพิจารณาความสามารถในการชำระคืนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ต่างกับการลงทุนในตั๋วเงินคลังของรัฐบาล เพราะตั๋วแลกเงินมีความเสี่ยงทางด้านเครดิต (credit risk) นั่นคือ อาจมีโอกาสที่ผู้ออกตั๋วไม่สามารถชำระคืนได้ ในขณะที่รัฐบาลมีความสามารถในการชำระคืน ตราบใดที่มีความสามารถในการเก็บภาษีจากธุรกิจและประชาชน
อ่านอย่างนี้แล้ว อย่าเข้าใจผิดนะคะว่าตั๋วแลกเงินมีความเสี่ยงกว่าตราสารชนิดอื่นๆ ในความเป็นจริงตั๋วแลกเงินเป็นตราสารที่ผู้ลงทุนสนใจ เพราะส่วนใหญ่มักจะมีระยะเวลาสั้น โดยมากไม่เกิน 9 เดือน ซึ่งโดยทั่วไปสถานะของบริษัทผู้ออกจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
หากจำกันได้ เคยมีการออกตั๋วแลกเงินยาวถึง 2 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องยื่นไฟล์ลิ่งข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและการออกตราสารในลักษณะของหุ้นกู้ ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.บังคับให้ผู้ต้องการออกหุ้นกู้เพื่อระดมเงินจากประชาชนต้องยื่น สาเหตุที่ผู้ออกตั๋วไม่อยากออกเป็นหุ้นกู้เพราะเห็นว่ายุ่งยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถวิเคราะห์และติดตามข้อมูลได้ นอกจากนั้น เนื่องจากหุ้นกู้เป็นการกู้ยืมเงินระยะยาว ดังนั้นในการเสนอขายยังต้องมีข้อปฏิบัติ (covenant) ซึ่งส่วนใหญ่จะระบุให้ผู้กู้ต้องปฏิบัติเช่น ห้ามก่อหนี้เพิ่มจนอัตราส่วนของหนี้สินต่อทุนสูงเกินไป เพราะจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เป็นต้น
จนกระทั่งเมื่อเดือนกันยายน 2547 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกเกณฑ์ให้ผู้ออกตั๋วแลกเงินต้องยื่นไฟล์ลิ่งข้อมูลต่อ ก.ล.ต.เกี่ยวกับวงเงินที่จะออกตั๋ว และรายงานการออกตั๋วเพื่อให้ ก.ล.ต.เปิดเผยต่อประชาชน ผู้ลงทุนจึงมีข้อมูลมากขึ้น
ข้อดีของตั๋วแลกเงินอีกประการหนึ่งคือ เปลี่ยนมือได้ ดังนั้นหากลงทุนไปสักพักหนึ่งแล้วต้องการใช้เงิน ก็สามารถขายต่อให้ผู้อื่นได้ ต่างกันตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งส่วนใหญ่จะห้ามเปลี่ยนมือ ตั๋วแลกเงินจึงมีสภาพคล่องมากกว่า
ปัจจุบันมีตั๋วแลกเงินอยู่ในระบบประมาณ 118,410 ล้านบาท โดยมีผู้ออกประมาณ 64 บริษัท และในอนาคตอันใกล้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้ผู้ออกตั๋วที่เป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯต้องมีผู้จัดการออกที่จะเป็นผู้เสนอซื้อเสนอขายในตลาดรอง และต้องมีผู้ซื้ออย่างน้อย 10 ราย โดยต้องเป็นกองทุนรวมไม่น้อยกว่า 3 ราย ดังนั้นการออกตั๋วจะเป็นไปได้ยากขึ้น แต่ผู้ลงทุนก็จะมีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเพิ่มขึ้นด้วย
INSURANCETHAI.NET