ปลายทางของการวิเคราะห์หุ้นต้องจบด้วยแผนการซื้อขาย
843

ปลายทางของการวิเคราะห์หุ้นต้องจบด้วยแผนการซื้อขาย

เวลาเราคุยกับมือใหม่เรื่องหุ้นมักจะมีคำถามเรื่อง...ซื้อหุ้นตัวไหนดี? ซื้อที่ราคานี้ได้ไหม? ซื้อตอนนี้ได้ไหม? ขายหุ้นที่ราคานี้ได้หรือยัง? ขายหุ้นตอนนี้ได้ไหม? ตอนที่ผมเป็นมือใหม่มักถามตัวเองในลักษณะแบบนี้เช่นกัน (เพราะตอนนั้นไม่มีใครให้ถาม)
พอศึกษาแนวปัจจัยพื้นฐานมากเข้า เริ่มได้แนวทางว่าต้องเลือกหุ้นที่มีการเติบโตของผลประกอบการณ์ของบริษัท ในเชิงคุณภาพคือต้องมีความสามารถในการแข่งขัน อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต วิเคราะห์ 5 force SWOT ฯลฯ ในเชิงปริมาณคือวิเคราะห์งบการเงิน แล้วนำไปสู่การคาดการณ์ผลประกอบการณ์ในอนาคตอย่างตัวเลข กำไรต่อหุ้น ปันผลต่อหุ้น กระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น ในอนาคต ...ลงท้ายคือการหามูลค่าหุ้นที่เราสนใจ
คำถามจะเริ่มเปลี่ยนมาเป็น...บริษัทนี้ผลิตสินค้าและบริการที่อยู่ใน Megatrend ไหน? มีความสามารถในการแข่งขันใดที่เหนือกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน? มีความเสี่ยงใดบ้างที่จะทำให้ผลประกอบการณ์ของบริษัทแย่ลง? กำไรต่อหุ้นในอนาคตจะอยู่ในช่วงใดได้บ้าง? กำไรต่อหุ้นเติบโตอัตราเท่าไร? มูลค่าหุ้นที่ควรจะเป็นอยู่ในช่วงใด? ฯลฯ
แต่หลายครั้งที่วิเคราะห์ออกมาแล้วเราไม่รู้ว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป ...รู้แหละว่าหุ้นน่าจะมีโอกาสโต แต่ควรจะซื้อที่ราคานี้ไหมหรือรอก่อน? ถ้าซื้อแล้วลงจะทำยังงัย? จะซื้อไม้เดียวหมดเลยหรือทยอยซื้อดี? จะรอผลประกอบการณ์ยืนยันสิ่งที่คิดก่อนไหมแล้วค่อยเข้าซื้อหุ้น? ถ้าซื้อแล้วราคาขึ้นจะทำยังงัย ถือต่อหรือซื้อเพิ่ม หรือต้องขายทิ้ง?
ผมคิดว่าการวิเคราะห์หุ้นต้องคิดให้จบถึงกระบวนการสุดท้ายคือ การวางแผนซื้อขายหุ้น
นึกถึงคำถามตอนที่เราเป็นมือใหม่ ...
ซื้อหุ้นตัวไหนดี (ประเด็นนี้คือ Stock selection ...เราจะซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการณ์ในอนาคตเติบโตต่อเนื่อง บริษัทมีอนาคต ถ้าปัจจัยเชิงคุณภาพและปริมาณยังยืนยันตรงจุดนี้ หุ้นนั้นจัดเป็นหุ้นเติบโต เราจัดไว้ใน Watch list ก่อน)
ซื้อที่ราคาไหนดี (ประเด็นนี้คือเรื่อง Valuation ...เราจะซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่เราคำนวณได้โดยประเมินในสถานการณ์ปกติ ประเมินแบบ Conservative โดยราคาที่สนใจต้องมี MOS ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หลังจากนั้นเราจะเขียนช่วงราคาที่เราสนใจจะซื้อ Buy zone)
ซื้อตอนนี้ได้ไหม (ประเด็นนี้คือเรื่อง Market timing ... อันนี้อาจจะแล้วแต่คน ผมเองถือว่า ธุรกิจบริษัทอยู่ในช่วงขาขึ้น ผลประกอบการณ์บริษัทขาขึ้น ราคาหุ้นอยู่ในช่วง Buy zone จัดเป็นจังหวะดีในการซื้อขายทั้งสิ้น ถ้าสายผสมอาจจะใช้กราฟประกอบการตัดสินใจ)
ซื้อแค่ไหนดี (ประเด็นนี้คือเรื่อง Money management ... จัดสัดส่วนหุ้นทีเราสนใจต่อพอร์ตรวมตามกำไรคาดหวังที่เราคำนวณได้ รวมถึงการมองในภาพรวม Asset allocation ด้วย)
ขายเมื่อไรดี (ประเด็นนี้คือเรื่อง Exit strategy ... ออกในเชิงพื้นฐานเปลี่ยน ราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าไปมากกกกก Sell zone บริษัทแค่ไหนก็ตามราคาหุ้นไม่มีทางทัน ขายเพื่อไปซื้อหุ้นที่น่าสนใจกว่า)
ดังนั้น...สุดท้ายต้องจบด้วยการวางแผนการซื้อขายหุ้น จากแนวคิดจะได้กลายเป็นแนวทางปฎิบัติ เราจะได้รู้ว่าเราควรทำอะไร (ปล. ตัวอย่างที่ผมยกมาผมใช้แนวทางการลงทุนแบบเน้นการเติบโตเป็นหลักในการคิดครับ)
ที่สำคัญ แผนการซื้อขายหุ้นควรจะ”ทำให้เสร็จก่อนตลาดเปิด” พอถึงเวลาก็ทำตามแผนไป ไม่มีการซื้อขายหุ้นที่หน้างานโดยวางแผนมาก่อน ไม่อย่างนั้นเราอาจจะดูจอเห็นราคาหุ้นวิ่งไปมา รู้ตัวอีกทีก็ได้ซื้อหุ้นที่ไม่ควรจะซื้อไป ขายหุ้นที่ไม่ควรจะขายไป โดนสิ่งกระตุ้นและอารมณ์ตลาดเข้าครอบงำ ทำให้ตัดสินใจอย่างขาดสติได้ครับ



INSURANCETHAI.NET
Line+