บริษัทประกันโหมซื้อหุ้น 3 หมื่นล้าน
851

บริษัทประกันโหมซื้อหุ้น 3 หมื่นล้าน

บริษัทประกันโหมซื้อหุ้น 3 หมื่นล้าน ครึ่งปีแรกสัดส่วนลงทุนแซงกองทุน/ถ่วงแรงขายฝรั่ง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กางข้อมูลกลุ่มบริษัทประกันชีวิต-ประกันภัยฮอต แห่ซื้อหุ้นไทยคึก ครึ่งปีแรกช้อนหุ้นแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดันสัดส่วนลงทุนแซงหน้ากองทุนไม่ติดฝุ่น ชี้ข้อดีเป็นขาที่สองพยุงตลาดยุคฝรั่งเทขาย เผย 9 เดือน ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย 1.08 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลฝ่ายวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4.6% หรือจำนวน 50,575 ล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,136,446 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ระดับ 1,085,871 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนของนักลงทุนสถาบัน เพิ่มขึ้นเป็น 9.41% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด จากสิ้นปีก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.76% โดยกลุ่มบริษัทประกันชีวิตมีมูลค่า AUM เพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 22,376 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวม ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน มี AUM เพิ่มขึ้นเพียง 10,813 ล้านบาท ส่วนกลุ่มประกันภัยเพิ่มขึ้นประมาณ 9,646 ล้านบาท

http://www.prachachat.net/online/2015/10/14454200981445420118l.jpg">

นักลงทุนสถาบันในประเทศ แบ่งเป็น 6 กลุ่มหลัก
บริษัทประกันชีวิต
บริษัทประกันภัย
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ประกันสังคม
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนรวม

ฝ่ายวิจัยยังประเมินว่า หากดูมูลค่าซื้อขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันแต่ละประเภท พบว่า ในครึ่งแรกปี 2558 การลงทุนของกลุ่มบริษัทประกันชีวิต มีอัตราการเติบโตที่มากกว่านักลงทุนสถาบันกลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มบริษัทประกันชีวิตมีเม็ดเงินลงทุนในหุ้นไทยประมาณ 21,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 2 ปีก่อนหน้า (ปี 2556-2557) ที่มีจำนวน 6,871 ล้านบาท และ 4,593 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนกลุ่มบริษัทประกันภัย ลงทุนหุ้นในช่วงครึ่งปีแรก 9,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2 ปีก่อน ที่อยู่ 4,529 ล้านบาท และ 9,565 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเมื่อรวมเม็ดเงินลงทุนของกลุ่มประกันชีวิตและประกันภัย สูงถึง 30,000 ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลท. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย โดย ตลท.มีเป้าหมายสัดส่วนรายย่อย 50% และอื่น ๆ อีก 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อย 59.70% ส่วนที่เหลือ 40.30% เป็นนักลงทุนสถาบันไทย 9.41% บัญชีหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) 9.05% และนักลงทุนต่างชาติ 21.85%

สำหรับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ พบว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยังขายสุทธิ 91,624 ล้านบาท ทำให้ 9 เดือนที่ผ่านมา ขายสุทธิแล้วกว่า 108,532 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนในประเทศที่เป็นรายย่อยและสถาบันที่มียอดเข้าซื้อสุทธิเกือบ 1.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายย่อยซื้อสุทธิ 58,236 ล้านบาท สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 61,721 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่า ตลาดหุ้นไทยมีอีกขาที่ช่วยพยุงตลาด และรับแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา แม้ต่างชาติจะขายหุ้นไทยจำนวนมาก แต่ดัชนีหุ้นไทยยังไม่ได้ปรับตัวเคลื่อนไหวลดลงรุนแรงนัก

"กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศถือเป็นอีกขาที่มาช่วยพยุงการลดลงช่วงที่ต่างชาติขายสุทธิได้โดยกลุ่มที่เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นไทยมากที่สุด คือบริษัทประกัน ซึ่งมีเม็ดเงินไหลเข้ามาจำนวนมากตามทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง และส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายภากรกล่าว

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1445420098



INSURANCETHAI.NET
Line+