สัญญากู้ยืม ยึดทรัพย์ใช้กฏหมายบังคับ
860
สัญญากู้ยืม ยึดทรัพย์ใช้กฏหมายบังคับ
การที่ลูกหนี้ตกลงไว้ในสัญญา ให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์ได้โดยไม่ต้องฟ้องร้องแม้มีข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่อาจบังคับได้เพราะ ภายหลังลูกหนี้ไม่ยินยิม
แม้ในสัญญากู้ยืม ระบุไว้ว่า ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ให้เจ้าหนี้เข้ายึดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ โดยไม่มีเงื่อนไข
หมายความว่า ความยินยอมเฉพาะตอนทำสัญญาเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงความยินยอมล่วงหน้าในอนาคตด้วย
เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะเข้าไปยึดทรัพย์สินลูกหนี้ภายในบ้าน โดยอ้างสัญญาว่า ลูกหนี้ตกลงไว้แล้วไม่ได้ เพราะขณะที่เข้าไปทวงหนี้ ลูกหนี้เปลี่ยนใจไม่ยอม เจ้าหนี้จึงจะถือตามสัญญาไม่ได้ ควรต้องไปใช้สิทธิ์ร้องบังคังคดีตามกฎหมาย
การที่เจ้าหนี้เข้าไปยึดทรัพย์สินลูกหนี้ภายในบ้านโดยลูกหนี้ไม่ยอม จึงเป็นการกระทำโดยปราศจาก อำนาจตามกฎหมาย เป็นความผิดฐาน บุกรุก และ ร่วมกันลักทรัพย์
***************************************
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11225/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83, 364, 365, 335, 336 ทวิ และริบรถยนต์กระบะของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364,83 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนในเคหสถานโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้ยานพาหนะ และคำขอริบของกลางให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) ( 7 ) ( 8 ) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ และ 83 อีกฐานหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนในเคหสถาน โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสามกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละมีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้จำเลยทั้งสามไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี และให้จำเลยทั้งสามกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสามเห็นสมควร เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบรถยนต์กระบะของกลาง นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นางวรรณ์ ผู้เสียหาย เป็นหนี้เงินกู้ยืมจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 28,000 บาท วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสามเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้เงินกู้ยืมจากผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ชำระ จำเลยทั้งสามจึงร่วมกันเอาเครื่องซักผ้ายี่ห้อซัมซุง 1 เครื่อง ราคา 11,880 บาท โทรทัศน์สียี่ห้อเจวีซี ขนาด 21 นิ้ว 1 เครื่อง ราคา 10,000 บาท และเครื่องเล่นวีซีดี 1 เครื่อง ราคา 3,500 บาท ของผู้เสียหาย โดยใช้รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บง 4751 พะเยา ของกลางเป็นยานพาหนะบรรทุกทรัพย์ดังกล่าวไป ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อรับฟังพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามในการเอาทรัพย์ของกลางผู้เสียหายไปตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวที่ว่า ก่อนจะเอาทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายไปจำเลยทั้งสามได้ไปพบนายวิษณุ ผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ช่วยพูดให้ผู้เสียหายชำระหนี้จำเลยที่ 1 #เมื่อตกลงกันไม่ได้ #จำเลยทั้งสามจึงเอาทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายไป จำเลยทั้งสามบอกนางสาวรัตนาว่า หากอยากจะได้ทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายคืนให้ผู้เสียหายนำเงินที่กู้ยืมไปชำระ และจำเลยทั้งสามนำทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายไปคืนพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนบอกให้จำเลยทั้งสามนำทรัพย์ของกลางมาคืน ประกอบกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ที่ระบุว่า ผู้เสียหายจะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 เดือนละ 2,000 บาท #หากไม่ชำระยินยอมให้ยึดทรัพย์สินของผู้เสียหายโดยไม่มีข้อยกเว้น
เชื่อว่าจำเลยทั้งสามเอาทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายไปเพื่อให้ผู้เสียหายไปติดต่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ค้างชำระจำเลยที่ 1 แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว #เป็นการบังคับให้ผู้เสียหายชำระหนี้โดยพลการ #ซึ่งไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฐานร่วมกันลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น แต่สำหรับรถยนต์กระบะของกลางนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่พฤติการณ์แห่งความผิดของจำเลยทั้งสามไม่ร้ายแรงมากนัก โทษจำคุกและโทษปรับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดแก่จำเลยทั้งสามนั้นเชื่อว่าจะทำให้จำเลยทั้งสามหลาบจำไม่กระทำความผิดอีกแล้ว
เป็นเรื่องของกฏหมายกับ สัญญากันส่วนตัว คนละเรื่องกัน
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1566144716941333&id=100006374599209
INSURANCETHAI.NET