Short Selling
884

Short Selling

เห็นข่าวหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจนะคะ เกี่ยวกับการ Short Selling หุ้นสามัญที่เทรดในตลาดหลักทรัพย์

Short คือการที่นักลงทุนยืมหุ้นจากผู้อื่นมา และขายออกไปทันที โดยหวังว่าจะซื้อหุ้นตัวเดิมนั้นกลับมาคืนเจ้าของหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าเดิม และทำกำไรจากส่วนต่างนั้น ซึ่งนักลงทุนจะทำกำไรก็ต่อเมื่อราคาหุ้นตัวนั้นลดลง

ในขณะที่ Long ก็คือการที่เราลงทุนให้หุ้นปกติ และหวังว่าราคาหุ้นจะขึ้น และทำกำไรเมื่อราคาหุ้นนั้นขึ้น (Buy Low Sell High)

การ Short หุ้นมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในหุ้นหรือ Long เพราะว่า การที่นักลงทุน Long หุ้นนั้น เราจะขาดทุนมากที่สุดก็แค่เงินต้นที่ลงไปเท่านั้น เท่ากับขาดทุน 100% ในขณะที่ราคาหุ้นสามารถขึ้นไปได้เรื่อยๆไม่จำกัด (Limit Loss, Unlimited Gain) ในขณะที่การ Short หุ้น กำไรจะจำกัดแค่ที่ราคาหุ้นลงไปถึง 0 (หุ้นที่เราต้องซื้อคืนให้คนที่เรายืมมา ไม่มีมูลค่าแล้ว) แต่เราสามารถขาดทุนได้ไม่จำกัด เนื่องจากราคาหุ้นสามารถขึ้นไปได้เรื่อยๆ (Limit Gain, Unlimited Loss)

ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ นาย Joe Campbell ได้ลงทุน $37,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านบาท) ในการ short หุ้นบริษัทยา KaloBios (KBIO) ในวันพุธที่แล้ว และพบว่าวันต่อมา เขามีหนี้เป็นมูลค่า $106,445.56 (หรือ 3.8 ล้านบาท) โดยราคาหุ้นนั้นได้ขึ้นไปมากกว่า 400% ภายในวันเดียว (จาก $2.07 ขึ้นไปที่ $10.4)  หลังจาก CEO ของบริษัทยา Turing ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ KBIO หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นาย Joe ได้สร้างเพจระดมทุนในเวบไซต์ GoFundMe เพื่อหาเงินไปปิด position ถ้าไม่อย่างนั้นเขาอาจจะต้องนำเงินที่สะสมไว้ยามเกษียณของเขาและภรรยาออกมาใช้หนี้ (อัพเดทล่าสุด นาย Joe ได้ปิดเพจระดมทุนไปแล้ว หลังจากได้เงินไปมากกว่า $5,000 ซึ่งยังห่างไกลจากจำนวนหนี้ทั้งหมดอยู่ดี)

เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่านาย Joe ได้ทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำตรงไหนบ้าง

1. นาย Joe มีแค่ Short position นี้เพียงอย่างเดียวในพอร์ตของเขา (Concentration Risk) ไม่มีการกระจายความเสี่ยงใดๆ

2. ไม่มีการตั้ง Stop Order ซึ่งเป็นคำสั่งปิด position เมื่อราคาหุ้นขยับไปถึงราคาที่เราได้ตั้งไว้ล่วงหน้า หรือในเวลาที่มูลค่าพอร์ตลดลงอย่างมาก ซึ่งจะช่วยจำกัดผลขาดทุนที่เกิดขึ้นได้

3. ประมาทมากในการ Short หุ้นที่มี Free Float ต่ำ (ปริมาณหุ้นที่เทรดในตลาดมีไม่มาก) ทำให้ราคาหุ้นค่อนข้างผันผวนได้มาก เนื่องจากการชักนำราคาสามารถทำได้ง่ายกว่าหุ้นที่มี Free Float เป็นจำนวนมาก ซึ่งกว่านาย Joe จะเรียนรู้บทเรียนนี้ก็เมื่อต้องจ่ายค่าเรียนเป็นราคาแพงเสียแล้ว จนเจ้าตัวถึงกับออกมาพูดว่า "I will not be shorting low float stocks ever again!" (ต่อไปนี้จะไม่ short หุ้นที่มี float ในตลาดต่ำๆอีกเด็ดขาด!)

4. ประมาท (อีกแล้ว) ในการมองผลตอบแทนที่น่าจะได้รับเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ (Risk/Reward) นาย Joe เข้า short หุ้นที่ราคา $2 ซึ่งเขาจะได้กำไรสูงสุดก็ต่อเมื่อหุ้นลงไปที่ 0 ในขณะที่เขาต้องรับความเสี่ยงว่าหุ้นสามารถที่จะขึ้นไปได้ไม่จำกัด ซึ่งเห็นได้เลยว่าความเสี่ยงสูงกว่าผลตอบแทนที่จะได้รับมากนัก

แม้กระทั่งมืออาชีพอย่าง Hedge Fund ที่ลงทุนในหุ้นทั้ง Long และ Short ก็ยังมีการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะฝั่ง short อย่างเข้มงวด เช่น จำกัดขนาดของแต่ละ position, จำกัดว่าทั้งพอร์ตจะถือ short position มากที่สุดแค่ไหน และมักจะถือ short position ในระยะสั้นกว่า long position มาก เนื่องจากการยืมหุ้นมาขาย มีต้นทุนเหมือนดอกเบี้ย ซึ่งมักจะคิดเป็นรายวัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วการ Short หุ้นก็สามารถทำกำไรให้กับนักลงทุนได้ในเวลาที่ตลาดเป็นขาลง และช่วยให้ราคาหุ้นในตลาดสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่นักลงทุนควรคำนึงถึงคือ การจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ในการที่จะอยู่รอดในตลาดได้ในระยะยาวค่ะ

สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://www.marketwatch.com/story/why-you-should-never-short-sell-stocks-2015-11-19



INSURANCETHAI.NET
Line+