เมืองไทยประกันภัย ผลประกอบการงวด 6 เดือนปี 2558 เบี้ยรับรวม 5,273 ล้านบาท
899
เมืองไทยประกันภัย ผลประกอบการงวด 6 เดือนปี 2558 เบี้ยรับรวม 5,273 ล้านบาท
เมืองไทยประกันภัย แสดงผลประกอบการงวด 6 เดือนปี 2558 เบี้ยรับรวม 5,273 ล้านบาท กำไรสูงสุดในรอบ 7 ปี
เมืองไทยประกันภัย ประกาศกำไรสูงสุดในรอบ 7 ปี ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงถึง 5,273 ล้านบาทโตขึ้น 10.7% และยังคงมุ่งเน้นการบริการให้สมกับแนวคิดองค์กร Year of SERVICE พร้อมกันนี้ได้ประกาศนวัตกรรมการบริการสินไหมผ่านสมาร์ทโฟน ภายใต้ชื่อ Muangthai ClaimDi (เมืองไทยเคลมดิ)
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด(มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2558 ของบริษัทฯ ซึ่งมีผลประกอบการที่ดีมากทั้งเบี้ยประกันภัยรับรวมและกำไรสุทธิ บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิสูงถึง 512 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรที่สูงสุดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทฯ สามารถสร้างผลกำไรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและดำเนินธุรกิจด้วยนโยบายเน้นความมั่นคงเข้มแข็งมาโดยตลอด
ผลประกอบการในรอบหกเดือนแรกของปี 2558 บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 5,273 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 10.7 เป็นผลมาจากความพยายามในหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะการปรับกลยุทธ์การจำหน่าย การออกแบบและกำหนดสัดส่วนผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสมระหว่างการประกันภัยรถยนต์และการประกันภัยทั่วไป เน้นการบริหารช่องทางการขาย การวางแผนการประกันภัยต่อ การกำหนดต้นทุนขายที่เหมาะสมและการบริหารระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้สมดุลกับรายได้ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้บริษัทฯ ได้วางแนวคิดมุ่งเน้นการให้บริการที่ดีกับลูกค้าและคู่ค้าในทุกระดับ โดยส่งเสริมแนวคิดในองค์กรที่เน้นหัวใจบริการ Year of SERVICE
เบี้ยประกันที่ถือเป็นรายได้สำหรับปีมีจำนวน 2,944 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13.0 นอกจากนี้รายได้ค่าจ้างและบำเหน็จก็ยังเพิ่มขึ้นเป็น 663.5 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 13.7 อันเนื่องมาจากการจัดโครงสร้างการประกันภัยต่อให้สอดรับกับความเสี่ยงในการรับประกันภัย ซึ่งมีการขยายตัว
อย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และผลการประกันภัยที่อยู่ในระดับดี รายได้และผลกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์รวม 239 ล้านบาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัทประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เงินสมทบฯ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มีจำนวน 3,205 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 425.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.3 อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในปีก่อนได้รวมการกลับรายได้สินไหมน้ำท่วมลดลงจำนวน 45 ล้านบาท ดังนั้นหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายตามปกติที่ไม่รวมน้ำท่วมของทั้งสองงวด ค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้รวมที่เพิ่มขึ้น
ในภาพรวมบริษัทฯ มีกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ 621 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 512 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 38 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 8.1
“สำหรับในปี 2558 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันรับตรงอยู่ที่ 11,400 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตอยู่ที่ 14 %” นางนวลพรรณ กล่าวเพิ่มเติม
นางนวลพรรณ กล่าวในตอนท้ายว่า “ผลการดำเนินงานที่ดีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นผลมาจากความพยายามในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการวางแผนและกลยุทธ์ธุรกิจ การมีบุคลากรในฝ่ายบริหารและพนักงานที่มีความสามารถ มีความซื่อสัตย์และรักษาระเบียบวินัย เน้นความโปร่งใสในบริหารงาน ตลอดจนกระบวนการทำงานที่เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพและควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ แสดงผลประกอบการที่ดี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงตลอดมา”
แผนพัฒนาด้านช่องทางการจำหน่ายของบริษัท
การบริหารช่องทางการจำหน่ายของ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จากครึ่งปีแรกของ 2558 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นความสะดวกแก่ลูกค้าเพื่อซื้อประกันภัยประเภทต่าง ๆ ได้จากทุกช่องทาง ซึ่งบริหารเป็นช่องทางที่หลากหลาย (Multi-Channels) ประกอบด้วย
ช่องทางธุรกิจตัวแทน
บริษัทมีตัวแทนที่ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วประเทศในครึ่งปีที่ผ่านมา จำนวน 5,400 ราย และสำนักงานตัวแทนทั่วประเทศ จำนวน 215 แห่ง โดยให้บริการแต่ละภาคดังนี้ ภาคกลางจำนวน 34 แห่ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 66 แห่ง ภาค เหนือ จำนวน 26 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 26 แห่ง ภาคตะวันออกจำนวน 22 แห่ง และ ภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 41 แห่ง
ช่องทางธุรกิจนายหน้า
ช่องทางธุรกิจนายหน้าบริษัทได้ขยายธุรกิจด้านการรับประกันภัยรถยนต์ในสัดส่วนที่มากขึ้นจากการขยายงานโดยการเพิ่มพันธมิตรธุรกิจนายหน้าและการรักษาฐานลูกค้าเดิมของบริษัท ฯ สำหรับงาน Non-motor จากช่องทางนี้จะเป็นงานรายใหญ่ที่บริษัทมีพันธมิตร เป็นบริษัทนายหน้าต่างประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ IAR, การรับประกันภัยระหว่างก่อสร้าง (CAR) และ ประกันภัยทางทะเล ซึ่งบริษัทมีบุคลากรที่คอยให้คำปรึกษาในการทำประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยง
ช่องทางธุรกิจขายตรง (Direct Sales)
ช่องทางธุรกิจขายตรงมีบุคลาการมืออาชีพที่มีความรู้ทางด้านประกันวินาศภัยเป็นอย่างดี โดยให้คำปรึกษา และนำเสนอประกันภัยต่าง ๆ ทั้งลูกค้ารายย่อย และรายใหญ่ ตามความต้องการในการทำประกันภัยที่แตกต่างและหลากหลายให้เหมาะสมกับความเสี่ยงทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจของลูกค้า ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทนับได้ว่าบริษัทเป็นผู้นำด้านการตลาดและมีผู้เชี่ยวชาญของผลิตภัณฑ์พิเศษ (Special Product) ที่ลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของลูกค้า ตั้งแต่ ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและผู้บริหาร (D&O) ประกันภัยการค้าระหว่างประเทศ (Trade Credit) และประกันความรับผิดของผลิตภัณฑ์ (Product liability) บริษัทฯ สามารถให้บริการประกันภัยได้อย่างครบถ้วน
ช่องทางพันธมิตรรถยนต์
บริษัท ปรับเปลี่ยนการขยายฐานของกลุ่มธุรกิจพันธมิตรรถยนต์ให้มีความคลุมทั่วประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อขยายการให้บริการประกันภัยรถยนต์อย่างครบวงจรตั้งแต่การนำเสนอประกันภัยรถยนต์และการให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้า นอกจากนี้บริษัทเริ่มนำเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิเช่น ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ประกันอัคคีภัยสำหรับบ้านอยู่อาศัยให้แก่ลูกค้าของช่องทางนี้เพื่อเป็นการตอบสนองความเสี่ยงของลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทมีพันธมิตรซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทลิสซิ่ง ที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งประกันภัยรถยนต์และผลิตภัณฑ์ที่ให้คุ้มครองเพื่อปิดความเสี่ยงของทั้งบริษัทลิสซิ่งและลูกค้า ที่ให้สินเชื่อ เพื่อรองรับการให้บริการแก่ลูกค้าของบริษัทฯ ช่องทางนี้มีการแข่งขันมากบริษัทยังคงร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนาการให้บริการเพื่อสร้างความพึงพอใจและรักษาลูกค้ารายเดิมให้เป็นลูกค้าของบริษัทตลอดไป
ช่องทางพันธมิตรธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ (Bancassurance)
บริษัทฯ เป็นพันธมิตรกับหลายธนาคารได้ร่วมกันวางแผนออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ค่อนข้างหลากหลายให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคาร ทั้งนี้บริษัทมีผลิตภัณฑ์สำหรับบุคคลและธุรกิจ อาทิเช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันอัคคีภัย ประกันภัย IAR และประกันภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของลูกค้าธนาคารที่เป็นผลิตภัณฑ์พิเศษ (Special Product) การรับประกันภัยความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Credit) ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี สำหรับพันธมิตรธนาคารบริษัทมีพันธมิตรหลักคือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งลูกค้าสามารถติดต่อการทำประกันภัยได้ทุกสาขาของธนาคารทั่วประเทศ
ศูนย์บริการลูกค้า หรือ Customer Service Center : CSC
ศูนย์บริการลูกค้า CSC: Customer Service Center นอกจากจะทำการสนับสนุนการบริหารในพื้นที่ ต่าง ๆ 21 แห่งทั่วภูมิภาครวมทั้งที่สำนักงานใหญ่ มีการบริการในรูปแบบ One Stop Service โดยเน้นการบริการที่รวดเร็ว ทันใจ เพิ่มความพึงพอใจให้เกิดขึ้นแก่ลูกค้าและตัวแทน ทั้งนี้ศูนย์บริการลูกค้าจะมีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ลูกค้า และมีพนักงานสินไหมคอยให้บริการรับเรื่องเคลมประกันภัยรถยนต์และอุบัติเหตุส่วนบุคคลเช่นกัน
การให้บริการประกันเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ
บริษัทมีพันธมิตรที่เครือข่ายพันธมิตรหลากหลายเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับธุรกิจของพันธมิตรเครือข่ายและการให้บริการกับลูกค้าของพันธมิตร ทั้งประกันภัยรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันภัยทรัพย์สินธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง กลุ่มเครือข่ายพันธมิตรประกอบด้วย นกแอร์ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ไทย และ กลุ่มผู้นำธุรกิจด้านค้าปลีก อาทิ เทสโก้โลตัสซึ่งมีจุดบริการรับประกันภัยทุกสาขาทั่วประเทศ ช่องทางนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของเครือข่ายพันธมิตรให้ได้รับความสะดวกในการตัดสินใจซื้อประกันภัย
ทาง Website บริษัท เมืองไทยประกันภัย www.muangthaiinsurance.com
บริษัทมีให้ลูกค้าซื้อประกันภัยผ่าน Online โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ตัดสินใจได้ง่ายเป็น Package ทั้งประกันภัยรถยนต์และประกันภัยอุบัติเหตุ นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากสำหรับช่องทางนี้ หลังจากที่บริษัทได้ศึกษาวิจัยพฤติกรรมการซื้อ จากช่องทางนี้ บริษัทได้เพิ่มผลิตภัณฑ์และเตรียมตัวให้เข้าสู่ยุค ดิจิทอล (Digital) ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาบริษัทให้เป็นผู้นำ Digital Insurance ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยวางแนวการจัดการช่องทางการจำหน่ายแบบ Omni-Channels ได้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้รับความสะดวกในการซื้อประกันภัยให้ทันในยุคนี้ด้วยแนวคิด ที่ไหนก็ได้ (Anywhere), เมื่อไรก็ได้ (Anytime), และด้วยเครื่องมืออะไรก็ได้ (Any device)
แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครึ่งปีหลังของ 2558
ในปี 2558 นี้ จากยอดขายที่ซบเซาของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ทำให้บริษัทฯ ได้มีการออกแคมเปญสำหรับประกันภัยรถยนต์เป็นระยะๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานหลากหลาย เรียกว่าแคมเปญ ฟ้าใส เซฟเซฟ (Fahsai Save Save) ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานแบบ heavy user ในกลุ่มรถปิกอัพ กลุ่มรถแบบครอบครัว เป็น SUV กลุ่มรถขนาดใหญ่ แบบรถยุโรป ซึ่งได้จัดทำแคมเปญในการทำราคาให้เป็นราคาเดียวในแต่ละช่วงทุน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เลือกซ่อมอู่มาตรฐานของบริษัท หรือกลุ่มซ่อมศูนย์ ซึ่งจะตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ราคาเริ่มตั้งแต่ 14,500 บาท นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นการทำตลาดประกันภัยผลิตภัณฑ์พิเศษ หรือ กลุ่ม Special Product ที่เมืองไทยประกันภัยเป็นเจ้าตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มผู้ที่สนใจสอบถามเข้ามาอย่างมาก เช่น Trade Credit Insurance ที่ผู้ประกอบการเล็งเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีผลกระทบทั้งในและต่างประเทศ
แผนการพัฒนาการบริการสินไหมรถยนต์ในครึ่งปีหลังของ 2558
จากภาวะบนท้องถนนที่รถติดอย่างมาก ทำให้การใช้ชีวิตของผู้ใช้บริการต่าง ๆ เปลี่ยนไป โดยหันมานิยมการใช้บริการที่ให้ความรวดเร็ว ประหยัดเวลา และไม่ต้องไปประสบภาวะรถติดบนท้องถนน ทางเมืองไทยประกันภัยได้พัฒนาแอพพิเคชั่นต่อเนื่อง โดยคุณสมบัติที่โดดเด่นของแอพพลิเคชั่น MuangThai Claim Di ที่ถือว่าเป็นการพลิกโฉมวงการประกันรถยนต์ที่ต่อยอดมาจาก MuangThai I lert u แอพพลิเคชั่นนี้ลูกค้าสามารถทำเคลมด้วยตนเองได้หากไม่มีคู่กรณี ไม่ต้องเสียเวลาแจ้งเคลมและรอพนักงานเคลมอีกต่อไป และยังรู้ผลการอนุมัติเคลมพร้อมได้รับหลักฐานผ่านทางแอพพลิเคชั่นนี้ในเวลาอันรวดเร็ว
“การทำเคลมที่ไม่มีคู่กรณีผ่านแอพพลิเคชั่น MuangThai Claim Di ทำให้ลดขั้นตอนต่างๆ ไปจำนวนมาก ขณะที่ลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะเพียงใช้แอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือทำเคลมประกันได้ทุกที่ทุกเวลาก่อนกรมธรรม์หมดอายุ”
นอกจากการเคลมแบบไม่มีคู่กรณีดังกล่าวแล้วในแอพพลิเคชั่น MuangThai Claim Di ยังมีการให้บริการ K4K (knock for knock) เมื่อเกิดเหตุรถชนบนท้องถนน โดยที่ผู้ขับขี่สามารถนำโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนรถยนต์ของตนแล้ว มาทำการ shake หรือใช้มือถือเขย่ากันง่ายๆกับโทรศัพท์ของคู่กรณี เพื่อขออนุมัติซ่อม แล้วสามารถแยกจากกันโดยไม่ต้องรอพนักงานสำรวจภัยอีกต่อไป ซึ่งบริการนี้นอกจากจะทำให้ปัญหาการเสียเวลารอพนักงานเคลมของทั้งฝั่งรถประกันหรือฝั่งรถคู่กรณีอีกด้วย
บริการ K4K จะรวมถึงการที่บริษัทประกันภัยจะทำการอนุมัติซ่อมให้ทันที ณ จุดเกิดเหตุ เมื่อคู่กรณีแยกย้ายกลับแล้วก็สามารถนัดหมายอู่ได้ทันทีเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้แอพพลิเคชั่นจะดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่ในขณะนี้ระบบจะรองรับเฉพาะคู่กรณีที่เป็นลูกค้าของเมืองไทยประกันภัยเท่านั้น ซึ่งในอนาคตหากมีการทำข้อตกลงร่วมระหว่างบริษัทประกันภัยก็สามารถให้บริการลูกค้าทุกรายได้
สำหรับ บริการพื้นฐานที่ MuangThai Claim Di ก็คือ การแจ้งสถานที่เกิดอุบัติเหตุ เพียงกดปุ่มบนแอพพิเคชั่น ระบบจากมือถือจะส่งสัญญานมาที่ Call center 1484 พร้อมพิกัดของสถ่านที่เกิดเหตุ และรายละเอียดของกรมธรรม์ ทางพนักงาน Call center จะสามารถรู้สถานที่เกิดเหตุและความคุ้มครองกรมธรรมืได้ทันที และส่งพนักงานเคลมไปได้ถูกต้องและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังการให้บริการช่วยเหลือรถเสียฉุกเฉิน เป็นบริการเสริมพิเศษ เช่น รถเสียที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ แบตเตอรี่หมด หรือน้ำมันหมด เป็นต้น หรือต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินภายในบ้าน ก็สามารถกดปุ่มบริการในแอพพลิคชั่นซึ่งจะสงสัญญานไปที่ทางบริษัทคู่ค้าที่ให้บริการความช่วยเหลือฉุกเฉินทันที
ขณะนี้ MuangThai Claim Di สามารถดาวน์โหลดได้แล้ว สำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนในระบบAndroid ส่วน IOS จะเปิดให้ดาวน์โหลดได้ประมาณต้นเดือนกันยายนนี้
โครงการบริหารข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ (CRM Project)
เมืองไทยประกันภัยได้เริ่มโครงการบริหารข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ในเดือนกรกฎาคม 2557 โดยถือเป็นบริษัทประกันภัยรายแรกๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามสร้างความพร้อมของฐานข้อมูลลูกค้าให้สามารถนำมาใช้ในการสร้างสรรค์กิจกรรมและสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า เป็นการแสดงความขอบคุณ และทำความรู้จักลูกค้าของ MTI ตลอดจนรับทราบความต้องการของลูกค้า เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงการให้บริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น
ทีมงาน CRM ได้จัดทำนิตยสาร “ปันยิ้ม เติมสุข” ทุกไตรมาส โดยฉบับแรกส่งให้ลูกค้าในเดือนสิงหาคม 2557 และฉบับที่ 5 จะส่งถึงมือลูกค้าช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ได้มีการจัดกิจกรรมให้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง โดย 2 กิจกรรมล่าสุดที่พึงจัดไปและได้รับความสนใจอย่างมากคือ กิจกรรม เทศน์ &ทอล์คโชว์ “ความสุขอยู่ที่ใจ ความปลอดภัยอยู่ที่เรา” โดยพระมหาสมปอง และ กิจกรรม” ล่องเรือเที่ยว เกี่ยวรักแม่-ลูกผูกพัน” เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ทั้งนี้บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความพึงพอใจและจัดกิจกรรมที่มีคุณค่าให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
นางนวลพรรณ กล่าวในตอนท้ายว่า “ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2558 ของบริษัทฯ เป็นผลมาจากบริษัทฯได้ขยายช่องทางและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพันธมิตรธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ทำให้สามารถเพิ่มยอดเบี้ยประกันภัยได้อย่างต่อเนื่องอีกทั้งบริษัทฯยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมาก รวมทั้งการพัฒนาบุคคลากรของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ จะดำเนินการเช่นนี้ตลอดไป”
MTI คงเป้าเบี้ยรับประกันภัยปีนี้ 1.14 หมื่นลบ. โต 14% จากปีก่อน หลังขยายช่องทางการขายต่อเนื่อง
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) กล่าวว่า บริษัทคงเป้าหมายเบี้ยประกันรับตรงในปีนี้อยู่ที่ 11,400 ล้านบาท เติบโต 14% จากปีก่อน จากแผนพัฒนาช่องทางการจำหน่ายของบริษัทอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะการออกแคมเปญสำหรับประกันภัยรถยนต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานหลากหลาย ท่ามกลางยอดขายที่ซบเซาของอุตสาหกรรมยานยนต์
"ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2558 ของบริษัทเป็นผลมาจากบริษัทได้ขยายช่องทางและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพันธมิตรธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ทำให้สามารถเพิ่มยอดเบี้ยประกันภัยได้อย่างต่อเนื่องอีกทั้งบริษัทยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมาก รวมทั้งการพัฒนาบุคคลากรของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง"นางนวลพรรณ กล่าว
สำหรับ ผลการดำเนินงานงวดครึ่งแรกของปีนี้ MTI มีผลประกอบการที่ดีมากทั้งเบี้ยประกันภัยรับรวมและกำไรสุทธิ โดยมีผลกำไรสุทธิสูงถึง 512 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรที่สูงสุดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 8.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทสามารถสร้างผลกำไรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและดำเนินธุรกิจด้วยนโยบายเน้นความมั่นคงเข้มแข็งมาโดยตลอด
ขณะที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 5,273 ล้านบาทเติบโต 10.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการปรับกลยุทธ์การจำหน่าย การออกแบบและกำหนดสัดส่วนผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสมระหว่างการประกันภัยรถยนต์และการประกันภัยทั่วไป เน้นการบริหารช่องทางการขาย การวางแผนการประกันภัยต่อ การกำหนดต้นทุนขายที่เหมาะสมและการบริหารระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้สมดุลกับรายได้ที่เกิดขึ้น
สำหรับ แผนพัฒนาด้านช่องทางการจำหน่ายของบริษัทนั้น จะยังคงมุ่งเน้นความสะดวกแก่ลูกค้าเพื่อซื้อประกันภัยประเภทต่างๆ ได้จากทุกช่องทาง ซึ่งบริหารเป็นช่องทางที่หลากหลาย ทั้งในส่วนของช่องทางธุรกิจตัวแทน ซึ่งในครึ่งปีที่ผ่านมา มีจำนวน 5,400 ราย และสำนักงานตัวแทนทั่วประเทศ จำนวน 215 แห่ง ,ช่องทางธุรกิจนายหน้า ,ช่องทางธุรกิจขายตรง ,ช่องทางพันธมิตรรถยนต์ ,ช่องทางพันธมิตรธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ ,ศูนย์บริการลูกค้า นอกจากนี้จากยอดขายที่ซบเซาของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ทำให้บริษัทฯ ได้มีการออกแคมเปญสำหรับประกันภัยรถยนต์เป็นระยะๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานหลากหลาย เป็นต้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
MTI ตั้งเป้าเบี้ยประกันรับตรงปีนี้ 1.14 หมื่นลบ.อัตราเติบโต 14%
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันรับตรงในปีนี้อยู่ที่ 11,400 ล้านบาท เติบโต 14% จากปีก่อน หลังมีแผนพัฒนาช่องทางการจำหน่ายของบริษัทในทุกส่วน ตลอดจนมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะการออกแคมเปญสำหรับประกันภัยรถยนต์เป็นระยะๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานหลากหลาย ท่ามกลางยอดขายที่ซบเซาของอุตสาหกรรมยานยนต์
"ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2558 ของบริษัทเป็นผลมาจากบริษัทได้ขยายช่องทางและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพันธมิตรธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ทำให้สามารถเพิ่มยอดเบี้ยประกันภัยได้อย่างต่อเนื่องอีกทั้งบริษัทยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมาก รวมทั้งการพัฒนาบุคคลากรของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ จะดำเนินการเช่นนี้ตลอดไป"นางนวลพรรณ กล่าว
นางนวลพรรณ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานสำหรับงวดครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทมีผลประกอบการที่ดีมากทั้งเบี้ยประกันภัยรับรวมและกำไรสุทธิ โดยมีผลกำไรสุทธิสูงถึง 512 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรที่สูงสุดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 8.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทสามารถสร้างผลกำไรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและดำเนินธุรกิจด้วยนโยบายเน้นความมั่นคงเข้มแข็งมาโดยตลอด
ขณะที่ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 5,273 ล้านบาท สูงขึ้น 10.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความพยายามในหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะการปรับกลยุทธ์การจำหน่าย การออกแบบและกำหนดสัดส่วนผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสมระหว่างการประกันภัยรถยนต์และการประกันภัยทั่วไป เน้นการบริหารช่องทางการขาย การวางแผนการประกันภัยต่อ การกำหนดต้นทุนขายที่เหมาะสมและการบริหารระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้สมดุลกับรายได้ที่เกิดขึ้น
สำหรับ เบี้ยประกันที่ถือเป็นรายได้สำหรับปีมีจำนวน 2,944 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้รายได้ค่าจ้างและบำเหน็จก็ยังเพิ่มขึ้นเป็น 663.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% จากปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการจัดโครงสร้างการประกันภัยต่อให้สอดรับกับความเสี่ยงในการรับประกันภัยซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงมีรายได้และผลกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์รวม 239 ล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัทประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เงินสมทบฯ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มีจำนวน 3,205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในปีก่อนได้รวมการกลับรายได้สินไหมน้ำท่วมลดลงจำนวน 45 ล้านบาท ดังนั้นหากเทียบค่าใช้จ่ายตามปกติที่ไม่รวมน้ำท่วมของทั้งสองงวด ค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้รวมที่เพิ่มขึ้น
นางนวลพรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนพัฒนาด้านช่องทางการจำหน่ายของบริษัทนั้น จะยังคงมุ่งเน้นความสะดวกแก่ลูกค้าเพื่อซื้อประกันภัยประเภทต่างๆ ได้จากทุกช่องทาง ซึ่งบริหารเป็นช่องทางที่หลากหลาย ทั้งในส่วนของช่องทางธุรกิจตัวแทน ซึ่งในครึ่งปีที่ผ่านมา มีจำนวน 5,400 ราย และสำนักงานตัวแทนทั่วประเทศ จำนวน 215 แห่ง ,ช่องทางธุรกิจนายหน้า ,ช่องทางธุรกิจขายตรง ,ช่องทางพันธมิตรรถยนต์ ,ช่องทางพันธมิตรธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ ,ศูนย์บริการลูกค้า
นอกจากนี้ จากยอดขายที่ซบเซาของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ทำให้บริษัทฯ ได้มีการออกแคมเปญสำหรับประกันภัยรถยนต์เป็นระยะๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานหลากหลาย เป็นต้น
INSURANCETHAI.NET