อายุขัยคนไทยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
917
อายุขัยคนไทยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
พ.ศ. 2505 คนไทยโดยเฉลี่ยมีอายุขัย 57 ปีเท่านั้น และสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น กระเพาะ/ลำไส้อักเสบ วัณโรคและระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ ไข้จับสั่น ฯลฯ
หลังจากนั้นด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการพัฒนาด้านสาธารณสุข เราสามารถเอาชนะโรคติดเชื้อได้หลายชนิด การเสียชีวิตของคนไทยลดลงไปอย่างมาก ส่งผลทำให้คนไทยมีการขยายอายุขัยค่อยๆเพิ่มขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
ปี พ.ศ. 2505 คนไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 57.29 ปี
ปี พ.ศ. 2515 คนไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 60.73 ปี
ปี พ.ศ. 2525 คนไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 67.28 ปี
ปี พ.ศ. 2535 คนไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 72.45 ปี
ปี พ.ศ. 2545 คนไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 72.78 ปี
ปี พ.ศ. 2555 คนไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 74.90 ปี
แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประชาชนชาวไทยมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น 17 ปีเศษ ในรอบ 50 ปีมานี้ แต่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ก็ยังตามหลังอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น ชาวญี่ปุ่นอายุขัยเฉลี่ย 84.6 ปี, ชาวสิงคโปร์อายุขัยเฉลี่ย 84 ปี, ชาวฮ่องกงอายุขัยเฉลี่ย 83.8 ปี, ชาวไต้หวันอายุขัยเฉลี่ย 80.6 ปี, ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อายุขัยเฉลี่ย 79.2 ปี, ชาวบรูไนอายุขัยเฉลี่ย 79 ปี, ชาวคูเวตอายุขัยเฉลี่ย 78.2 ปี, ชาวบาห์เรนอายุขัยเฉลี่ย 77 ปี, ชาวโอมานอายุขัยเฉลี่ย 76 ปี, ชาวจีนอายุขัยเฉลี่ย 76 ปี, ชาวมาเลเซียอายุขัยเฉลี่ย 75.7 ปี ชาวกาต้าร์อายุขัยเฉลี่ย 75.5 ปี ชาวเวียดนามอายุขัยเฉลี่ย 75 ปี เป็นต้น แต่สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยได้เปลี่ยนแปลงและทันสมัยตามประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นเดียวกัน
โดยสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ โรคมะเร็ง
สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 คือ อุบัติเหตุ
สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 คือ โรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดในสมอง
สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 คือ โรคหัวใจ
ความน่าสนใจของสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนชาวไทยที่เปลี่ยนไปนั้นมีอยู่หลายประเด็น คือ
ประการแรก การที่เรามีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า มีการสาธารณสุขที่พัฒนาขึ้น จึงสามารถเอาชนะโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อและสาเหตุการเสียชีวิตในอดีตได้มากขึ้น และน่าจะเป็นสาเหตุอันสำคัญที่ทำให้คนไทยมีอายุขัยยืนยาวขึ้น 17 ปี ในรอบ 50 ปีมานี้
ประการที่สอง ไม่ว่าอายุขัยจะยืนยาวเท่าไหร่ก็ตาม มนุษย์เราต้องเสียชีวิตจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอยู่ดี เป็นไปได้หรือไม่ว่าหากเราไม่เสียชีวิตจากการติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรคที่เราเคยเป็นแล้วเสียชีวิตโดยสาเหตุเหล่านั้น เมื่ออายุยืนยาวขึ้น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดในสมอง ติดเชื้อ/ปรสิต เป็นโรคที่เราจะต้องถูกเลือกและทำให้เราต้องเสียชีวิตหรือไม่?
ประการที่สาม อายุขัยกำลังถึงทางตีบตันหรืออิ่มตัวแล้วกับแนวทางการสาธารณสุขปัจจุบันหรือไม่? เพราะหากนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ในรอบ 30 ปีต่อมาจนถึง ปี พ.ศ. 2535 อายุขัยของคนไทยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 57 ปี มาเป็น 72.45 ปี เพิ่มมาถึง 15.45 ปี แต่ภายหลังจากช่วงปี พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2555 ใช้เวลา 20 ปี คนไทยมีอายุขัยเพิ่มได้เพียงแค่ 2.45 ปีเท่านั้น
ประการที่สี่ สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยใน 4 อันดับแรกนั้น คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุในประเทศไทย ดังนั้น โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ โรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนโรคหัวใจ คือภัยคุกคามยุคใหม่ที่บั่นทอนอายุขัยของคนไทยให้สั้นกว่าที่ควรจะเป็น และมีแนวโน้มที่คล้ายๆกันในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว (ยกเว้นอุบัติเหตุ) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากปัญหาจากอาหาร มลพิษต่างๆจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
ประการที่ห้า ประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะมีวิวัฒนาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่กลับมีการเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตามได้ถูก "ชะลอความเสียหาย" ให้ยาวออกไปทั้งในรูปแบบของการผ่าตัด การฉายแสง การใช้เคมีบำบัด ยาเคมี และอาหารเสริม จึงย่อมส่งผลทำให้ประเทศที่พัฒนาไปแล้วอาจจะมีอายุขัยได้ยืนยาวมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดโรคร้ายเหล่านี้ได้อยู่ดี เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุและไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุซึ่งอยู่ที่พฤติกรรมและการบริโภค
ประการที่หก โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจ สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมและเปลี่ยนวิธีการบริโภคใหม่ ทั้งในเรื่องการหยุดบริโภคไขมันทรานส์ (เนยเทียม), เปลี่ยนไขมันที่ไม่อิ่มตัวมาปรุงอาหาร (น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันรำข้าว, น้ำมันเมล็ดทานตะวัน, น้ำมันข้าวโพด) มาใช้ไขมันอิ่มตัวแทน (น้ำมันมะพร้าว, เนย, น้ำมันหมู) , ลด/งดสารพิษและฮอร์โมนที่ได้จากผลิตภัณฑ์จากสัตว์, ลด/งดการบริโภคน้ำตาลหรือแป้งขัดขาว, ลดยาฆ่าแมลงและสารพิษจากพืช, หยุดการสูบบุหรี่, เพิ่มการออกกำลังกาย, ลดความเครียดทำให้จิตใจสงบ
อย่างไรก็ตามเรื่องที่กล่าวมาข้างนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ต้องช่วยกันในการปรับสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อการบริโภค ตัวอย่างเช่น น้ำตาล ไขมันทรานส์ สุดท้ายแล้วอาจต้องมีการออกกฎระเบียบในการห้ามขายเครื่องดื่มน้ำอัดลมและน้ำหวาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีเนยเทียมในโรงเรียนทั่วประเทศ อย่างน้อยแม้จะไม่สามารถห้ามพฤติกรรมการบริโภคนี้นอกโรงเรียนได้ ก็ยังเป็นการลดความเสี่ยงที่จะสร้างภัยร้ายให้กับนักเรียนและเยาวชนในช่วงเวลาที่อยู่ในโรงเรียน
การเปลี่ยนแปลงด้วยมาตรการบังคับจากผู้ผลิตเป็นเรื่องที่ยาก แต่การทุ่มเทสรรพกำลังในการทำให้ประชาชนตื่นรู้ต่อข้อมูลและพิษและภัยจากอาหารที่ก่อโรค การตื่นรู้ในข้อมูลจะทำให้เกิดปัญญา และปัญญาที่เกิดจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคคือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของผู้ผลิตในท้ายที่สุด ดังนั้นการปฏิวัติการสาธารณสุขแท้ที่จริงก็คือการปฏิวัติความคิดของประชาชนนั่นเอง
ประการที่เจ็ด การเกิดอุบัติเหตุยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากเป็นอันดับที่ 2 เกิดขึ้นเพราะความมึนเมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เป็นเทศกาลวันหยุดยาว และยังสร้างความสูญเสียให้กับคนอื่นที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจึงควรเป็นวาระแห่งชาติในการลดอุบัติเหตุเพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างที่ไม่ควรจะเป็น
สุดท้ายแล้วการมีอายุขัยยืนยาวอาจจะสำคัญน้อยกว่าว่าช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้น มีสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจมากและนานที่สุดแค่ไหน และสามารถตอบคำถามสำคัญได้ว่าการมีอายุขัยยืนยาวนั้นจะเกิดประโยชน์อย่างไร และกับใคร จริงหรือไม่?
--
อายุเฉลี่ยของคนไทยในปี 2556 มีอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2556 เพศชายมีอายุเฉลี่ย 71.1 ปี เพศหญิงมีอายุเฉลี่ย 78.1 ปี และระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2556 คนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 ปี แสดงว่าคนไทยมีอายุยืนขึ้น ดังนั้นในอนาคตคนไทยจะมีแนวโน้มที่จะมีอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแพทย์และสาธารณะสุข คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น นอกจากนั้นคนในปัจจุบันยังหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น
INSURANCETHAI.NET