วัด “ความฉลาดทางการเงิน”
927
วัด “ความฉลาดทางการเงิน”
เกี่ยวกับหลักการทำงานของ “ดอกเบี้ย”
- 60% ของคนอเมริกัน...มีบัตรเครดิต
- 57% ของคนอเมริกันที่มีบัตรเครดิต...เข้าใจเรื่องการทำงานของ “ดอกเบี้ย” ในเบื้องต้น
- 140 ประเทศที่ทำการสำรวจ มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีทักษะ ความรู้ และความเข้าใจด้านการเงิน
แบบสอบถาม 5 ข้อ ที่ Standard & Poor’s ทำขึ้นมา เพื่อ “วัดกึ๋นการเงิน” ของคนเหล่านั้น
คำถามที่ 1 : ถ้าคุณมีเงินก้อนหนึ่ง การนำเงินไปทำอะไร...ปลอดภัยกว่ากันระหว่าง ลงทุนทำธุรกิจเดียว หรือ ลงทุนสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง, ลงทุนทำหลายธุรกิจ หรือ ลงทุนในหลายสินทรัพย์?
A: ลงทุนทำธุรกิจเดียว หรือ ลงทุนสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง
B: สับสนใจคำตอบ
C: ลงทุนทำหลายธุรกิจ หรือ ลงทุนในหลายสินทรัพย์
D: ไม่รู้
คำถามที่ 2 : ถ้า 10 ปีข้างหน้า สินค้าที่เราซื้อมาราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าด้วย แสดงว่าเราซื้อสินค้าได้...น้อยกว่าวันนี้, เท่ากับวันนี้ หรือ มากกว่าวันนี้?
A: น้อยกว่าวันนี้
B: ไม่รู้
C: มากกว่าวันนี้
D: เท่ากับวันนี้
คำถามที่ 3 : ถ้าต้องการยืมเงิน $100…เงินก้อนไหนที่เราจะจ่ายคืนน้อยที่สุดระหว่าง $105 หรือ $100 + 3%?
A: $100 + 3%
B: สับสนในคำตอบ
C: $105
D: ไม่รู้
คำถามที่ 4 : สมมติว่าเราฝากเงินไว้ 2 ปี และธนาคารตกลงจะเพิ่มเงินให้ 15% ต่อปีในบัญชีของเรา ธนาคารจะเพิ่มเงินในบัญชีเราในปีที่สองมากกว่าปีแรก หรือเท่ากับปีแรก?
A: สับสนในคำตอบ
B: ไม่รู้
C: เท่ากัน
D: มากกว่า
คำถามที่ 5: สมมติว่าเรามีเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ $100 และธนาคารจะเพิ่มเงินให้เรา 10% ต่อปี ของเงินในบัญชีให้กับเรา เมื่อผ่านไป 5 ปี โดยที่เราไม่เคยถอนเงินออกเลย จะมีเงินอยู่ในบัญชีเราเท่าไหร่?
A: $150
B: ไม่รู้
C: น้อยกว่า $150
D: มากกว่า $150
คำตอบที่ถูกต้องคือ: 1) C 2) D 3) A 4) D 5) D
ซึ่งหากเราสามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง 75% (ตอบถูก 4 ข้อ) ก็แสดงว่าเรามีความเข้าใจในเรื่อง ดอกเบี้ย ดอกเบี้ยทบต้น การกระจายความเสี่ยง และเงินเฟ้อ...พูดง่ายๆ คือเข้าใจเรื่อง “การเงินเบื้องต้น” แล้ว
สำหรับข้อสรุปที่น่าสนใจจากการทดสอบกลุ่มตัวอย่างจาก 140 ประเทศของ ที่ Standard & Poor’s ให้ทำแบบสอบถามนี้ก็คือ
- คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว มีความสามารถในการอ่านออก เขียนได้ ทางการเงินมากกว่าค่าเฉลี่ย
- หากเรียงลำดับสัดส่วนของคนในประเทศใหญ่ๆ ที่มี “ความฉลาดทางการเงิน” จากมากไปหาน้อย จะเป็นดังนี้
แคนาดา 68%
อังกฤษ 67%
เยอรมัน 66%
สหรัฐอเมริกา 57%
ฝรั่งเศส 52%
ญี่ปุ่น 43%
รัสเซีย 38%
บราซิล 35%
อินเดีย 24%
จีน 20%
- เพศชาย มีความรู้ ความเข้าใจด้านการเงิน “มากกว่า” เพศหญิง ในทุกประเทศ ประมาณ 5% ยกเว้นสหรัฐฯ ที่ความห่างมากกว่าถึง 10% โดยชายมะกันเข้าใจด้านการเงิน 62% มากกว่าเพศหญิงที่ 52%
- ทุกคำถามจะมีคำตอบว่า “ไม่รู้” ให้เลือก และ “เพศหญิง” มักเลือกคำตอบนั้น เพราะหากไม่มั่นใจพวกเธอจะ “ไม่ฟันธง” แต่นั่นก็ทำให้พวกเธอเปิดใจเรียนรู้ด้านการเงิน ไม่ด่วนตัดสินใจ และใช้เวลามากกว่าในการหาข้อมูลก่อนการลงทุน
- ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนที่มีความฉลาดทางการเงินมาก มักอยู่ในช่วงอายุ 36-50 ปี ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา จะอยู่ในช่วงอายุที่น้อยกว่า ซึ่งในเรื่องนี้ S&P ประเมินว่า นัยของอายุไม่ใช่สาระสำคัญ เท่ากับการศึกษา ที่นานาประเทศควรรีบให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชากรของตน มิใช่ให้พวกเขาเรียนรู้จาก “ประสบการณ์” เพียงอย่างเดียว อย่างน้อยๆ ก็ควรรู้เรื่อง การออม และเข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของตลาดการเงิน
บทสรุปสุดท้ายของบทความนี้ไม่ได้จะบอกว่า...
ถ้าคุณทำแบบสอบถามได้ถูกต้อง 4-5 ข้อ แสดงว่า “เจ๋งเป้ง” แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ “จ๋อย”
หากแต่อยากให้ฉุกคิดสักนิดว่า...ตัวเราเอง หรือ คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ที่ล้วนเคยผ่านบททดสอบความสามารถแสนโหด ทั้งทางวิชาการ ภาษา สอบเลื่อนระดับ เลื่อนชั้น เอ็นทรานซ์ หรือแค่นำเสนองานหน้าชั้นเรียนที่ว่ายาก แล้วเรื่องใกล้ตัวอย่าง “การเงินส่วนบุคคล” ล่ะ เคยทดสอบตัวเองบ้างมั้ย? รู้ผลแล้วควรทำอย่างไร?
INSURANCETHAI.NET