ShineStock 800 หน้า สรุปออกมาได้ 105 ข้อ
933

ShineStock 800 หน้า สรุปออกมาได้ 105 ข้อ

ShineStock  ไม่ควรพลาด!! สรุปหนังสือ The intelligent investor สุดยอดคำภีร์ที่นักลงทุนแนว Value Investor ต้องอ่าน เพราะเคยเปลี่ยนชีวิตของวอเรน บัฟเฟตมาแล้ว

ที่น่าสนใจคือ หนังสือเล่มนี้ เบนจามิน เกรแฮม เขียนไว้ตั้งแต่ปีคศ.1950 แต่ผ่านมาเกือบ 65 ปีเนื้อหาต่างๆในเล่มยังคงใช้ได้เป็นอย่างดีในตลาดหุ้นปัจจุบันครับ

ความหนาของหนังสือเล่มนี้เกือบ 800 หน้า ผมสรุปออกมาได้ทั้งหมด 105 ข้อ ซึ่งผมขออนุญาตทยอยลงสรุปเป็น 3 กระทู้เพื่อความสะดวกของผู้อ่านนะครับ

https://www.facebook.com/ShineStock168

Re: ShineStock 800 หน้า สรุปออกมาได้ 105 ข้อ
933

Re: ShineStock 800 หน้า สรุปออกมาได้ 105 ข้อ

36.หุ้นโตเร็วจะน่าซื้อเมื่อราคาหุ้นของพวกมันอยู่ในระดับสมเหตุสมผล แต่เมื่อไหร่ที่ค่า P/E สูงกว่า 25-30 เท่าแล้วมันจะกลายเป็นเรื่องอันตราย
37.การหากำไรจากความผันผวนของตลาด ที่เกิดจากการแกว่งตัวของราคาทุกๆวัน มีอยู่ 2 แนวทาง คือ
1)การจับจังหวะตลาด โดยการคาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้น สุดท้ายมันจะทำให้คุณกลายเป็นนักเก็งกำไร
2)การพิจารณาราคาของหุ้น ว่าอยู่ในระดับต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมหรือไม่
นักลงทุนผู้ชาญฉลาด ควรมุ่งเน้นไปยังมูลค่าของบริษัทเทียบกับราคาตลาด มากกว่าการคาดการณ์ตลาดมากมายที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกวัน
38.การที่ผลลัพธ์จากการใช้ทฤษฎีดาวน์(Dow Theory หรือการนับ wave ทางเทคนิค เพื่อกะเก็งการขึ้น-ลงของตลาด) มีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่ก่อนมันใช้ได้ผลลัพธ์ที่ดี มาตอนนี้มันกลับทำให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าการซื้อแล้วถือไว้เฉยๆซะอีก
สูตรการซื้อ-ขายหุ้นและการคาดการณ์ตลาด จะใช้ได้ผลดีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อสูตรเหล่านั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ความเชื่อถือได้ของมันก็จะลดลง
39.ภาวะตลาดกระทิง เกือบทุกครั้งจะมีคุณลักษณะเด่นชัดร่วมกันหลายข้อ เช่น
1)ราคาหุ้น จะอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต
2)ค่า P/E จะสูง
3)ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลเมื่อเทียบกับผลตอบแทนตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ
4)มีการเก็งกำไรโดยใช้มาร์จิ้นสูง
5)จะมีการเสนอขายหุ้นใหม่(ipo) ของบริษัทคุณภาพต่ำให้แก่ประชาชนจำนวนมาก
40.แนวทางใดๆในการหากำไรจากตลาดหุ้นที่สามารถเข้าใจได้ง่าย และได้รับการปฎิบัติโดยคนจำนวนมากจะใช้ได้ผลเพียงช่วงเดียวเท่านั้น เช่นการกำหนดจุดซื้อ-ขายตามระดับดัชนี , January effect หรืออื่นๆ
ข้อสรุปของสปิโนซาที่ว่า “สิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งปวงเป็นสิ่งหายาก และเข้าใจลำบาก” ไม่ได้เป็นจริงแต่ในเฉพาะเรื่องปรัชญาเท่านั้น แต่มันยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน Wall Street อีกด้วย
41.เทียบกันระหว่าง คุณถือหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรพย์ กับการถือหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาด คือ บริษัทที่อยู่นอกตลาดไม่เคยทำให้คุณกังวลว่าราคาของมันจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง การที่คุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่ไม่มีราคาตลาดจะส่งผลดีเชิงจิตวิทยามาก เนื่องจากในกรณีของบริษัทนอกตลาด การตัดสินใจว่าจะซื้อ-ขายหุ้นออกไปหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวบริษัท
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนี้ กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยพิจารณาแต่เฉพาะสถานการณ์ และมูลค่าของบริษัทไม่ใช่ราคาบนกระดาน
42.ในทุกๆวัน Mr.Market จะคอยบอกคุณว่า หุ้นที่คุณถือยู่มีราคาเท่าไร ซึ่งเป็นระดับราคาที่เขายอมซื้อ และยอมยอมขายเพิ่มเติมให้กับคุณ
หากคุณมีหุ้นมูลค่า 1000 USD ของธุรกิจนอกตลาด และ Mr.Market มาขอซื้อที่ 500 USD คุณจะขายรึเปล่า? ในทำองเดียวกันหาก Mr.Market นำหุ้นเดียวกันนี้มาเสนอขายให้คุณที่ 1500 USD คุณจะซื้อมันหรือไม่?
แต่หลายๆครั้งที่ Mr.Market จะปล่อยให้ความกระตือรือล้น หรือความกลัวเข้าครอบงำตัวเขาเอง จนทำให้วันหนึ่งเขาอาจจะเสนอขายหุ้นของบริษัทเดิมนั้นให้กับคุณที่ราคา 200 USD หรือขอซื้อหุ้นต่อจากคุณที่ราคา 3,000 USD
นักลงทุนผู้รอบคอบ และนักธุรกิจที่มีเหตุผล ควรใช้ประโยชน์จาก Mr.Market มากกว่าการคล้อยตามอารมณ์อันแปรปรวนของเขาที่ขึ้นๆลงๆเอาแน่เอานอนม่ได้ทุกวัน
43.โดยพื้นฐานแล้ว ความผันผวนของราคามีความสำคัญต่อนักลงทุนพันธุ์แท้ในแง่มุมเดียวเท่านั้น นั้นคือ มันจะให้โอกาสพวกเขาซื้อหุ้นในตอนที่ราคาหุ้นลดลงอย่างหนัก และให้โอกาสพวกเขาขายหุ้นอกไปเมื่อตลาดได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปมาก
ในช่วงเวลาอื่นๆ การละเลยหน้าจอตลาดหุ้น และหันไปใส่ใจต่อเงินปันผล และผลการดำเนินงานของบริษัทจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับพวกเขา
44.ความแตกต่างอันเด่นที่สุดระหว่างนักลงทุน และนักเก็งกำไร คือ ทัศนคติของพวกเขาต่อความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น
นักเก็งกำไร จะสนใจการคาดการณ์ทิศทางตลาด และการหากำไรจากการคาดการณ์ดังกล่าว
นักลงทุน จะมุ่งเน้นไปยังการซื้อและถือครองหุ้นที่เหมาะสมในราคาที่สมเหตุสมผล ความผันผวนของตลาดมีความสำคัญต่อพวกเขาในแง่ที่ว่า มันอาจจะก่อให้เกิดระดับราคาหุ้นที่ต่ำจนมีความน่าสนใจเข้าซื้อ และราดับราคาที่สูง ซึ่งเป็นระดับที่พวกเขาควรงดซื้อหุ้นและขายหุ้นที่มีอยู่ออกไป
45.นักลงทุนผู้มีหุ้นชั้นดีอยู่ในมือควรตระหนักว่า ราคาหุ้นดังกล่าวจะผันผวน พวกเขาไม่ควรกังวลต่อการลดลงของราคาแรงๆ และไม่ควรตื่นเต้นไปกับการเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาหุ้น พวกเขาควรจำไว้ว่าราคาตลาดมีขึ้นเพื่อให้เขาหาประโยชน์จากมัน หรือมองข้ามมันไปเท่านั้น
46.นักลงทุนที่ปล่อยให้ตัวเอง กังวลใจต่อการเพิ่ม-ลดลงอย่างไรเหตุผลของราคาหุ้นในตลาด จะเปลี่ยนข้อได้เปรียบของพวกเขาให้กลายเป็นข้อเสียเปรียบ
ข้อได้เปรียบที่ว่า คือ นักลงทุนผู้ชาญฉลาด มีอิสระที่จะคิดด้วยตัวเอง
47.เมื่อถามเกรแฮมว่า อะไรที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่ประสบความสำเร็จ เขาตอบอย่างกระชับว่า “สาเหตุหลักของความล้มเหลวก็คือ การใส่ใจต่อภาวะตลาดในขณะนั้นมากเกินไป”
48.คุณไม่สามารถควบคุมหลายสิ่งในลาดหุ้นได้ แต่มีบางสิ่งที่คุสามารถควบคุมได้ คือ
1)ค่าคอมมิชชั่น โดยการไม่ซื้อ-ขายบ่อยมากจนเกินไป
2)ต้นทุนของความเป็นเจ้าของ โดยการไม่ซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงเกินไป
3)ความคาดหวังของคุณ โดยการคาดการณ์ผลตอบแทนของตัวคุณ บนพื้นฐานความจริง ไม่ใช่ความเพ้อฝัน
4)ความเสี่ยงของคุณ โดยการจำกัดเงินลงทุนของคุณ
5)ภาษีของคุณ โดยการเลือกซื้อกองทุนที่ได้รับผลประโยชน์ภาษี หรือการหลีกเลี่ยงการซื้อขายบ่อยจนเกินไป
6)พฤติกรรมของตัวเอง
49.การลงทุนในสายตาคนทั่วไป อาจคิดว่ามันเป็นการแข่งขันต่อสู้เพื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม การลงทุนไม่ใช่การเอาชนะคนอื่นๆในเกมของพวกเขา มันเป็นเรื่องของการควบคุมตัวเอง ในเกมของตัวคุณเองต่างหาก
50.ในการเป็นนักลงทุนผู้ชาญฉลาด คุณจะต้องไม่ตัดสินความสำเร็จทางการเงินของตัวเองจากสิ่งที่คนอื่นทำ และคุณไม่ได้จนลงแม้แต่น้อย หากผลตอบแทนของคุณแพ้ดัชนี S&P500
51.ผลการสัมภาษณ์กลุ่มผู้เกษียณอายุกลุ่มนึงซึ่งอาศัยอยู่ในย่านของคนเกษียณผู้ร่ำรวยใน Florida ว่าพวกเขาสามารถชนะตลาดได้หรือไม่ บางคนตอบว่าได้ บางคนตอบว่าไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่แน่ใจ
อย่างไรก็ตาม มีคนหนึ่งตอบว่า “ใครจะไปสน ทั้งหมดที่ผมรู้ก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนของผม ทำให้ผมมาอยู่ที่นี้ได้”
ไม่มีคำตอบไหนจะสมบูรณ์แบบไปกว่านี้อีกแล้ว ท้ายที่สุดเป้าหมายของการลงทุน ไม่ใช่การได้เงินมากกว่าระดับเฉลี่ย หรือเอาชนะผลตอบแทนของคนอื่นๆ แต่เป็นการได้เงินเป็นจำนวนที่มากพอต่อความต้องการของคุณต่างหาก
52.วิธีที่ดีที่สุดในการวัดความสำเร็จทางการลงทุนของคุณ ไม่ใช่การวัดว่าคุณชนะตลาดได้หรือไม่ แต่เป็นการดูว่าคุณมีแผนการลงทุนและวินัยซึ่งจะนำคุณไปสู่จุดหมายที่คุณต้องการแล้วหรือไม่ต่างหาก “จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณไปถึงเส้นชัยก่อนคนอื่นรึเปล่า แต่อยู่ที่ว่าคุณไปถึงเส้นชัยรึไม่”
53.นักจิตวิทยาชี้ให้เห็นว่า ความเจ็บปวดจากการขาดทุนมีความรุนแรงเป็นสองเท่าเศษของความยินดีจาการได้กำไร
54.หลังจากคุณดูราคาหุ้นตอนบ่ายโมงสิบห้านาที แล้วคุณรู้สึกอยากเช็คราคาหุ้นอีกครั้งตอนบ่ายโมงครึ่ง ให้คุณถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้
-ผมโทรหานายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสอบถามราคาตลาดของบ้านผมตอนบ่ายโมงสิบ้านาทีหรือเปล่า? และผมโทรกลับไปสอบถามราคาอีกครั้งตอนบ่ายโทงครึ่งหรือไม่?
-หากผมโทรเช็คราคาบ้านของผม ราคาบ้านเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? ถ้ามันเปลี่ยนผมจะรีบขายบ้านออกไปหรือเปล่า?
-การไม่เช็ค หรือการไม่รู้ราคาตลาดรายนาทีของบ้านผม จะทำให้มูลค่าของมันหยุดเพิ่มขึ้น/ลดลง เมื่อเวลาผ่านไปหรือเปล่า?
คำตอบที่เป็นไปได้เพียงคำตอบเดียวของคำถามเหล่านี้ คือ ไม่อย่างแน่นอน
นี้แหละคือวิธีที่นักลงทุนผู้ชาญฉลาดควรพิจารณาพอร์ตโฟลิโอของพวกเขา ตลอดช่วงเวลาของการลงทุนนาน 10 20 หรือ 30 ปี
55.การเลือกซื้อกองทุนต่างๆ สามารถดูผลงานย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี เพื่อพิจารณาในการลงทุนได้ แต่มีข้อแม้ว่า ข้อมูลผลตอบแทนดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากการปรับตัวขึ้นอย่างมากของตลาดโดยรวม
บทเรียนที่เห็นได้ชัดคือ กองทุนที่พึ่งเปิดใหม่ ในช่วงตลาดกระทิงในปี 1966-1967 ล้วนให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยม ผู้จัดการกองทุนหนุ่มไฟแรง ต่างได้ลงหนังสือพิมพ์ชื่อดัง และถูกยกย่องว่าเป็นมนุษย์ทองคำ / ดาวดวงใหม่ของการลงทุน และอื่นๆอีกมากมาย แต่อีก 2 ปีต่อมาเมื่อภาวะตลาดหมีมาเยื่อนในปี 1969-1970 ทุกกองทุนกล่าวไปล้วนให้ผลตอบแทนขาดทุน
บทเรียนนี้ชี้ให้เห็นว่า คนกระตือรือล้น และเฉลียวฉลาดซึ่งส่วนมากมักเป็นคนหนุ่ม ชอบสัญญาว่าจะทำสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นต่อเงินของคนอื่น โดยปกติพวกเค้าทำสำเร็จแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ดูเหมือนว่าจะสำเร็จ แต่ท้ายสุดพวกเขานำการขาดทุนมาสู่ผู้คนเหล่านั้น
56.เกรแฮมยกย่องกองทุนดัชนี ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนรายย่อย การถือกองทุนดัชนีไว้นานมากกว่า 20 ปี และเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปทุกเดือนจะทำให้คุณสามารถเอาชนะนักลงทุนมืออาชีพ และนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ในตลาดได้
ข้อเสียของมันก็คือ มันน่าเบื่อ คุณจะไม่สามารถ คุยโม้ได้ว่าคุณเป็นผู้ถือกองทุนที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในประเทศได้
57.นักลงทุนผู้ชาญฉลาด ควรคัดสรรกองทุน โดยเรียงลำดับการพิจารณาดังนี้
ดูค่าใช้จ่ายของกองทุนที่คุณต้องเสีย>>>ดูความเสี่ยงของกองทุน>>>ดูชื่อเสียงของผู้จัดการกองทุน>>ดูผลตอบแทนที่เคยทำได้ในอดีต
ซึ่งจะต่างจากการพิจารณาที่คนส่วนใหญ่ใช้เลือกกองทุน คือ ไล่จากหลังสุดไปหน้าสุด
58.เราเห็นทัศนคติที่แย่ของผู้ให้บริการทางการเงินที่ทำงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น คือ นักลงทุนควรซื้อหุ้นเมื่ออนาคตอันใกล้ของธุรกิจดูสดใส และนักลงทุนควรขายหุ้นเมื่ออนาคตในช่วงสั้นๆของธุรกิจดูมืดมน ไม่ว่าราคาหุ้นจะอยู่ระดับใดก็ตาม
59.นักลงทุนผู้ชาญฉลาดจะไม่ซื้อ-ขายหุ้น โดยอ้างอิงจากคำแนะนำของผู้ให้บริการทางการเงินเพียงอย่างเดียว
60.Wall Street เติบโตขึ้นมาได้จากการเก็งกำไร ซึ่งโดยรวมแล้วนักเก็งกำไรจะขาดทุนในท้ายที่สุด ด้วยเหตุดังกล่าว การที่บริษัทโบรกเกอร์จะปฎิบัติงานแบบมืออาชีพจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะหากทำอย่างนั้น พวกเขาต้องลดปริมาณธุรกิจลง แทนที่จะเพิ่มปริมาณธุรกิจให้มากขึ้น
61.แม้โบรกเกอร์บางแห่งจะมีการให้ข้อมูลทางการเงินและการวิเคราะห์ แสดงความเห็นต่างๆในแง่ของการลงทุนในหุ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ ยังคงยึดสโลแกนเดิมที่ว่า พวกเขาดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างค่าคอมมิชชั่น และหนทางไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจ คือ การให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ คือ คำแนะนำเชิงเก็งกำไรรายวัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเหล่านั้นต้องขาดทุนในท้ายที่สุด
62.หากที่ปรึกษาการลงทุนของคุณกล่าวคำเหล่านี้ให้ระวัง
“ขาใหญ่กำลังซื้ออยู่ เฉพาะคนพิเศษ ธนาคารชั้นเลิศ รับประกัน คุณต้องรีบแล้วละ ของตาย ไม่ซื้อเสียดายแย่เลย เราเอาชนะตลาดได้ คุณจะเสียใจถ้าคุณไม่... ปิดประตูขาดทุน มันไม่มีความเสี่ยงเลย แม่ผมยังซื้อเลย ผลตอบแทนรายเดือน คุณควรสนใจผลตอบแทนมากกว่าค่าธรรมเนียม กลยุทธ์การจัดสรรเงินแบบแอคทีฟ เราสามารถจำกัดการขาดทุนของคุณได้ มีโอกาสกำไรมหาศาล”
63.ยิ่งการประเมิณมูลค่าของกิจการ อ้างอิงจากการคาดการณ์อนาคตมากขึ้นเท่าไร และอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขผลการดำเนินงานในอดีตน้อยลงเท่าไร โอกาสเกิดความผิดพลาดจะสูงขึ้นมากเท่านั้น
64.มุมมองของ Wall Street ที่มีต่ออนาคตของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง มักจะเป็นการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป หรือไม่ก็เป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป ยิ่งแย่ไปกว่านั้นคือ มุมมองมักสดใสที่สุดเมื่อหุ้นมีราคาแพงเกินจริง และมักมืดมนที่สุดเมื่อหุ้นมีราคาถูกมากจนน่าตกใจ
65.จากประสบการณ์ของเราชี้ว่า การศึกษาอุตสาหกรรมที่นักวิเคราะห์ทำส่วนใหญ่มีคุณค่าน้อยในเชิงปฎิบัติ เพราะเนื้อหาของการศึกษามักจะเป็นเรื่องที่ผู้คนรับรู้กันอยู่แล้ว และได้สะท้อนอยู่ในราคาตลาดเรียบร้อยแล้ว
66.การประเมิณมูลค่าแบบ 2 ขั้น จะส่งผลดีมากกว่าการประเมิณอนาคตของกิจการแบบทั่วไป
ขั้นแรกคือ การประเมิณข้อมูลทั่วไปในอดีตที่แสดงในงบการเงิน การประเมิณสภาพของกิจการ รวมถึงฐานะทางการเงิน เพื่อหามูลค่าของกิจการเบื้องต้น ขั้นที่สองคือ ปรับปรุงมูลค่าโดยอ้างอิง จากผลการดำเนินงานในอดีต โดยใช้การพิจารณาสถานการณ์ใหม่ๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
67.เกรแฮมคิดว่าปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาหุ้นมีดังนี้
1.อนาคตในระยะยาวของบริษัท
2.คุณภาพของผู้บริหาร
3.ความแข็งแกร่งทางการเงิน และโครงสร้างเงินลงทุน
4.ประวัติการจ่ายปันผล
5.นโยบายการจ่ายปันผลในปัจจุบัน
68.การวิเคราะห์อนาคตในระยะยาวของบริษัท ควรเริ่มจากการศึกษางบการเงินย้อนหลังของบริษัทนั้นๆ และตอบคำถาม 2 ข้อให้ได้ คือ 1) อะไรที่ทำให้บริษัทแห่งนี้เติบโต และ 2)ผลกำไรในปัจจุบัน และอนาคตของบริษัทมาจากแหล่งไหน
ปัญหาที่ควรระมัดวะวัง
-บริษัทมีการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยที่ซื้อมาแล้วกิจการเหล่านั้นไม่ไดสร้างผลกำไร หรือซื้อกิจการอื่นๆในราคาที่แพงจนเกินไป
-บริษัทมีการก่อหนี้ และเพิ่มทุนอยู่ตลอดเวลา
-บริษัทมีรายได้ส่วนใหญ่ มาจากลูกค้าเพียงรายเดียว
ตัวอย่างสัญญาณที่ดี
-บริษัทมีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอันแข็งแกร่ง เป็นกิจการผูกขาดหรือเกือบผูกขาด มีความยากในการหาสินค้าทดแทน
-เป็นนักวิ่งมาราธอน คือ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และมั่นคงตลอดระยะเวลาหลายปี
-มีการหว่านเมล็ดแล้วค่อยเก็บเกี่ยว คือ มีการลงทุนใน R&D ที่อาจจะเป็นแหล่งที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ในอนาคต
69.ผู้บริหารของบริษัทควรพูดเฉพาะสิ่งที่พวกเขาจะทำ จากนั้นก็ทำอย่างที่พูด และควรเปิดเผยข้อผิดพลาดแบบตรงไปตรงมา มากกว่าการหาแพะรับบาป เช่น โทษสภาพเศรษฐกิจ และโทษความไม่แน่นอน เป็นต้น
คำถามที่ช่วยตัดสินว่า ผู้บริหารทำตัวเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นรึเปล่า
-ค่าตอบแทนผู้บริหารอยู่ในระดับสูงเกินไปหรือไม่?
-พวกเค้าเป็นผู้บริหาร หรือ คนขายฝัน?
70.คำนิยามของคำว่า ธุรกิจที่ดี คือ ธุรกิจที่หาเงินได้มากกว่าที่ใช้ไป ผู้บริหารชั้นดีจะพยายามเสาะหาหนทางเพื่อนำเงินเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว บริษัทที่เข้านิยามนี้จะมีมูลค่าสูงขึ้นแน่นอน ไม่ว่าสภาพตลาดหุ้นจะเป็นแบบไหนก็ตาม
สิ่งที่ต้องดูเพื่อหาความแข็งแกร่งทางการเงิน และโครงสร้างเงินลงทุน
-กำไรส่วนของเจ้าของ = กำไรสุทธิ + ค่าเสื่อม + ค่าตัดจำหน่าย – รายจ่ายเงินลงทุน (ดูข้อมูลเหล่านี้ได้ในงบกระแสเงินสด) หากกำไรในส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6% สม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 10 ปี ถือว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้อย่างมีเสถียรภาพ และอนาคตการเจิบโตของบริษัทอยู่ในขั้นดี
-ดูงบดุลว่า บริษัทมีหนี้สินอยู่เท่าไร โดยทั่วไปหนี้สิ้นระยะยาว ควรมีสัดส่วนต่ำกว่า 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด
*นอกจากนี้ยังสามารถดูสภาพคล่องผ่านอัตราส่วน สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน หรือความสามารถในการกู้เงินจากการเทียบสัดส่วนระหว่างหนี้สินรวม/ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มเติมได้

Re: ShineStock 800 หน้า สรุปออกมาได้ 105 ข้อ
933

Re: ShineStock 800 หน้า สรุปออกมาได้ 105 ข้อ

1. “ศักยภาพการเติบโตอย่างชัดเจนของธุรกิจ อาจจะไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นผลกำไรให้แก่นักลงทุนได้” ยกตัวอย่างธุรกิจสายการบิน ที่ในอนาคตรู้อยู่ว่าคนใช้เครื่องบินจะเยอะมากขึ้น แต่การแข่งขันสูงจนไม่มีผู้ชนะที่แท้จริง ไม่ได้สร้างกำไรมหาศาลแบบที่คิดไว้ หรือแย่ลงมาหน่อยคือขาดทุน

2.สิ่งแรกที่นักลงทุนควรแยกให้ออก คือ ความแตกต่างระหว่างการลงทุนและการเก็งกำไร
นิยามที่เกรแฮมกล่าวไว้คือ “การลงทุนเป็นการกระทำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์อย่างละเอียดซึ่งจะปกป้องเงินต้น และสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ การกระทำใดๆที่ไม่เข้าเกณฑ์นี้จะถือว่าเป็นการเก็งกำไร”

**สังเกตว่าไม่ใช่ การแสวงหากำไร แต่เป็นการปกป้องเงินต้น และ ไม่ได้เป็นการสร้างผลตอบแทนสูงสุด แต่เป็นเป็นการสร้างผลตอบที่น่าพอใจ**

3.การเก็งกำไรอย่างชาญฉลาดก็สามารถทำได้ แต่มันมีวิธีการมากมายเหลือเกินที่การเก็งกำไรจะถูกกระทำไปแบบโง่เขลา ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือ
- การเก็งกำไร โดยคิดไปว่า คุณกำลังลงทุนอยู่
- การเก็งกำไร อย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งๆที่ยังขาดความรู้และทักษะที่เหมาะสม
- การนำเงินจำนวนมากเกินกว่าที่คุณสามารถสูญเสียได้ไปเก็งกำไร

4.แบ่งนักลงทุนออกเป็น 2 แบบ คือ นักลงทุนเชิงรับ และนักลงทุนเชิงรุก

5.สูตรแห่งความสูญเสีย
-หากำไร จากช่วงเวลาในปฎิทิน เช่น January Effect
-ใช้สูตรที่เป็นที่นิยม หรือเคยพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล เพราะมันจะดีแค่ช่วงนึงเท่านั้น คือ ช่วงที่ผู้คนยังไม่รู้จักสูตรการลงทุนนี้ในวงกว้าง

6.ขีดจำกัดของการมองโลกในแง่ดี เกรแฮมเตือนว่า “การเน้นไปยังผลตอบแทนอันสวยหรู ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ จะนำไปสู่ข้อสรุปที่อันตรายและไร้เหตุผลที่ว่า ผลตอบแทนแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อในอนาคต”

7.แม้นักลงทุนจะตระหรักดีว่า พวกเค้าควรซื้อถูก-ขายแพง แต่ในทางปฎิบัติพวกเค้ามักทำสิ่งตรงข้ามกันอยู่บ่อยๆ

8.ยิ่งนักลงทุนรู้สึกกระตือรือล้นต่อตลาดหุ้นในระยะยาวมากเท่าไร โอกาสที่พวกเขาจะได้รับการพิสูจน์ว่าคิดผิดภายในระยะเวลาอันสั้นก็มีมากขึ้นเท่านั้น
ช่วงปี 2000 ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองโลกในแง่ดีว่าตลาดหุ้นอเมริกา จะเติบโตต่อเนื่องในระยะยาวอีกนานหลายปีจากอุตสาหกรรมดอทคอม แต่พอมาถึงปี 2002 ตลาดปรับตัวลงมากกว่า -50% จากปี 2000 ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเริ่มกลับไปมองโลกในแง่ร้าย คาดการณ์ไปว่าตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนติดลบหรือเป็นศูนย์ไปอีกหลายปีข้างหน้า

9.เกรแฮมเคยตั้งคำถามง่ายๆว่า “เมื่อเห็นแล้วว่าเหล่าผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ผิดพลาดใหญ่หลวงแค่ไหน เมื่อพวกเค้าเห็นพ่องต้องกันในครั้งก่อน ไฉนนักลงทุนผู้ชาญฉลาดจึงควรเชื่อพวกเค้าในตอนนี้ด้วยละ?”
*แปลกที่คำถามนี้ใช้ได้มาตั้งแต่ปี 1964 หรือแม้แต่ในตัวอย่างปี2000-2002 หรือแม้กระทั้งปัจจุบัน*

10.ผลตอบแทนในตลาดหุ้นจะขึ้นกับปัจจัย 3 ประการ
1) การเติบโตที่แท้จริง (การเพิ่มขึ้นของรายได้-กำไรของบริษัท)
2) การเติบโตตามภาวะเงินเฟ้อ (การเพิ่มขึ้นของราคาตลาดทั่วทุกภาคเศรษฐกิจ)
3) การเติบโดตามแรงเก็งกำไร (ความกระตือรือล้นเกี่ยวกับหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงของนักลงทุน)

11.เมื่อไรก็ตามที่คุณคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคตของหุ้น สิ่งเดียวที่คุณมันใจได้ก็คือ “คุณอาจจะคิดผิด” อดีตได้สอนความจริงที่ไม่อาจปฎิเสธได้แก่เรา คือ อนาคตจะทำให้เรารู้สึกประหลาดใจอยู่เสมอ
ข้อเท็จจริงอีกประการคือคนที่มั่นใจอย่างมากว่าการคาดการณ์อนาคตของตัวเองถูกต้อง จะเป็นคนที่ถูกตลาดทำให้รู้สึกประหลาดใจอย่างโหดร้ายที่สุด

12.เราคิดว่า “อัตราผลตอบแทนที่ควรคาดหวัง ควรขึ้นอยู่กับระดับความพยายามและสติปัญญาที่นักลงทุนเต็มใจทุ่มเทให้แก่การลงทุนของตัวเอง มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้อย่างที่ใครๆก็พูดกัน”

13.เมื่อมีเหตุการณืใหม่เกิดขึ้น นักลงทุนต้องอาศัยมุมมองที่สดใหม่

14.ในทุกรอบวัฏจักรของการมองโลกในง่ดีและร้าย พวกเรายินดีที่จะละเลยหลักการและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับกรพิสูจน์มาอย่างยาวนาน แต่เรากลับยึดอคติในใจของตัวเองโดยไม่ตั้งข้อสงสัยอะไรเลย

15.คำแนะนำในการจัดสรรเงินลงทุนสำหรับนักลงทุนเชิงรับ คือ ตราสารหนี้ 50% : หุ้นสามัญ 50% โดยให้คงสัดส่วนนี้ไว้ หรือปรับสัดส่วนเป็นไม่เกิน 75% ได้แล้วแต่บุคคล และจะต้องมีการปรับ/เช็คสัดส่วนนี้ทุก 3 เดือน หรือ 1 ปี โดยที่การลงทุนนั้นจะเป็นการซื้อตราสารหนี้คุณภาพดีและหุ้นสามัญของบริษัทขนาดใหญ่ในดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์*
*รายละเอียดค่อนข้างมาก หากใครสนใจลองเสริจหาเพิ่เติ่มครัช*

16.คำแนะนำข้างต้นไม่ได้พูดถึงเรื่องอายุเลย ซึ่งขัดกับคำแนะนำโดยทั่วไปที่บอกว่าความเสี่ยงหรือการจัดสรรเงินลงทุน ควรขึ้นอยู่กับอายุของคุณ

17.นิยามของ “ความเสี่ยง” ที่ใช้แยกระหว่างการลงทุนที่ปลอดภัย คือ การขาดทุนที่เกิดจากการขายหุ้นออกไปจริงๆ หรือการขาดทุนอันเนื่องมาจากการเสื่อมถอยของปัจจัยพื้นฐานของบริษัท หรือการซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น

18.หุ้นจำนวนมากมีความเสี่ยง ในเรื่องการเสื่อมถอยของปัจจัยพื้นฐาน อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าการกระจายการลงทุนในหุ้นหลายตัวที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดี จะทำให้ความเสี่ยงชนิดนี้น้อยมาก

19.หากคิดอย่างใช้เหตุผลแล้ว การซื้อหุ้นของคุณ ณตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการขาดทุนที่ผ่านเมื่อ 2-3 ปีก่อนเลยแม้แต่น้อย เมื่อไหร่ที่คุณซื้อมันในราคาที่เหมาะสมเพียงพอจนสามารถให้การเติบโตในอนาคต คุณควรซื้อมันซะ!

20.คุณควรซื้อหุ้นที่คุณรู้จักไหม?
หลักการนี้ถูกเผยแพร่โดยงปีเตอร์ ลินช์ ผู้จัดการกองทุนที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมติดต่อกันเป็นเวลานาน และหลักการที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก คือ “การค้นหาบริษัทที่น่าสนใจ หรือบริษัทที่คุณรู้จักสินค้าเป็นอย่างดี เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ขั้นตอนต่อไปก็คือการหาข้อมูลเพิ่มเติมในเชิงลึก และการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ”
น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่มักลืมขั้นตอนที่สอง ยกตัวอย่างพนักงานของ Enron และ WorldCom ที่รู้จักบริษัทของตัวเองเป็นอย่างดี จนทำให้ต้องสูญเสียเงินเพื่อการเกษียณอายุไปเกือบหมด จากการซื้อหุ้นในบริษัทตัวเอง หรือแม้แต่ตัวอย่างอื่นๆอีกหลายตัวอย่าง ที่คนเหล่านั้นมักซื้อหุ้นในสินค้าที่พวกเค้าชื่นชอบ โดยไม่ได้ประเมิณถึงมูลค่าของกิจการในแง่อื่นๆเลย

21.การลงทุนในสิ่งที่คุณรู้จัก ก่อให้เกิดอันตรายได้ ยิ่งคุณคิดว่าตัวเองรู้มาก คุณมีแนวโน้มที่จะละเลยการตรวจสอบจุดอ่อนของมัน รูปแบบอันตรายของความมันใจในตัวเองมากจนเกินไป มีชื่อเรียกว่า “Home Bias” หรือนิสัยชอบยึดติดกับสิ่งคุ้นเคย ระวัง!อย่าให้มันเกิดขึ้นกับตัวคุณ

22.การอยู่เฉยๆ และการเลิกคาดการณ์อนาคตของตลาด จะเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดด้วยการปล่อยให้เงินลงทุน ทุกครั้งเป็นไปอย่างอัตโนมัติด้วย DCA(dollar cost average) คือการใส่เงินลงทุนจำนวนเท่าๆกันทุกเดือน ทุกสัปดาห์ ทุกไตรมาส ตามแต่คุณจะกำหนด โดยที่ไม่ต้องไปสนใจดัชนี ปล่อนให้การลงทุนเป็นไปอย่างอัตโนมัติ

23.หากคุณทำ DCA ได้อย่างมีวินัย คุณจะสามารถตอบทุกคำถามเกี่ยวกับสภาวะตลาดหุ้นได้ทุกสภาวะ เพราะคำตอบที่คุณจะให้มีอยู่อย่างเดียวคือ “ผมไม่รู้ และผมไม่สนใจ”

24.คุณเชื่อหรือไม่ ช่วงตลาดหมีในปี 1988-1990 หุ้น IPO ที่จดทะเบียนเข้าตลาด มีน้อยแทบนับตัวได้ แต่ช่วงตลาดกระทิงปี 1990-2000 มีหุ้น IPO เข้าตลาดมากถึง 5,000 บริษัท!! (เฉลี่ยปี 500 บริษัท)

25.สัญญาณที่เชื่อถือได้ว่าตลาดกระทิงใกล้จะสิ้นสุดคือ
1)หุ้น IPO เข้ามาจำนวนมาก และคุณภาพของบริษัทที่นำหุ้นมาเสนอขายจะแย่ลงเรื่อยๆ ในขณะที่ราคาเสนอขายยิ่งแพงขึ้น
2)ราคาที่เสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทขนาดเล็ก คุณภาพไม่ดีนัก กลับมีราคาสูงกว่าบริษัทขนาดกลางที่มีประวัติการดำเนินงานมากยาวนาน

26.การเสาะหาบริษัทซึ่งมีผลการดำเนินงานดีกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาเป็นแค่งานด้านสถิติ นักลงทุนสามารถรับรายชื่อบริษัทที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจำนวน 50 หรือ 100 ตัวได้จากโบรกเกอร์ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมพวกเค้าถึงไม่เลือกซื้อหุ้นที่ดูดีที่สุด ซื้อเก็บไว้แล้วนั่งรอความสำเร็จละ??
แนวคิดง่ายๆนี้มีปัญหาอยู่ 2 ข้อ 1) ราคาของมันสูงเกินไป เนื่องจากนักลงทุนแห่กันเข้ามาซื้อ เพราะความที่ผลงานในอดีตดูดี และอนาคตสดใส ซึ่งราคาเหล่านั้นได้สะท้อนอนาคตไปหมดแล้ว
2)การคาดการณ์อนาคตของพวกเขาอาจจะผิดพลาด เพราะการเติบโตในระดับสูงๆ จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป

27.ด้วยเหตุดังกล่าว เกรแฮมจึงไม่แนะนำให้นักลงทุนเชิงรุก ลงทุนในหุ้นโตร็ว ในกรณีที่อนาคตอันสดใส ได้สะท้อนอยู่ในระดับราคาปัจจุบันไปหมดแล้ว

28.การสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยให้เหนือกว่าตลาด และคนอื่นๆในระยะยาว จะต้องอาศัยคุณสมบัติ 2 ข้อ คือ 1) มีความสมเหตุสมผล และ 2)เป็นแนวทางที่แตกต่างจากนักลงทุนและนักเก็งกำไรส่วนใหญ่

29.ถ้าหากตลาดมักให้ราคาสูงเกินจริง(Overvalued) แก่หุ้นของบริษัทที่มีการเติบโตชั้นเยี่ยม หรือมีความน่าดึงดูดใจด้วยสาเหตุบางประการแล้วละก็ มันก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่จะคาดการณ์ว่า ตลาดจะให้ราคาต่ำเกินจริง(Undervalued) แก่บริษัทที่ไม่ได้รับความนิยม อันมีสาเหตุมาจากพัฒนาการเชิงลบที่เป็นเหตุการณ์ชั่วคราว*
สิ่งนี้เป็นกฏพื้นฐานของตลาดหุ้น และมันจะให้แนวทางการลงทุนที่อนุรักษ์นิยมและสามารถสร้างผลตอบแทนสูงๆใหกับนักลงทุน
*ให้ระวังบริษัทบางแห่งที่มีการเสื่อมถอยอย่างถาวร*

30.แนวทางการลงทุนสำหรับนักลงทุนเชิงรุก มี 3 อย่าง คือ
1)บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับความนิยม
2)การซื้อหลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง
3)สถานการณ์พิเศษ(Work out)

31.การค้นหาหุ้นสามัญที่มีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง มี 2 วิธี คือ
1)การประเมิณมูลค่าโดยอ้างอิงจากการคาดการณ์ผลกำไรในอนาคต โดยการหาข้อมูลต่างๆของกิจการอย่างรอบคอบก่อนที่จะประเมิณผลกำไรออกมา หากมูลค่าที่ได้จากการคำนวณสูงเพียงพอเทียบกับราคาในปัจจุบัน จะสรุปได้ว่า มีราคาต่ำกว่ามูลต่า
2)ใช้การคำนวณกำไรในอนาคตเช่นกัน แต่จะเน้นไปที่วิธีการหามูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริงมากกว่า คือ สินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ – หนี้สินสุทธิ(วิธีการนี้จะไม่ให้มูลค่ากับสินทรัพย์ถาวรเลย) หากราคาในปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์แท้จริงที่ประเมิณได้ จะสรุปได้ว่า มีราคาต่ำกว่ามูลต่า

32.นักเก็งกำไรและนักลงทุน ซึ่งขึ้นชื่อมากในเรื่องความจำสั้นได้แห่กันเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทธรรมดาทั้งใหม่และเก่าที่ราคาสูงในภาวะตลาดกระทิง จนทำให้ราคาของมันสูงเกินจริง

33.มันเป็นไปตามคาด เมื่อภาวะตลาดตกต่ำมาเยื่อน หุ้นที่มีราคาแพงเกินจริงเหล่านั้นได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ซึ่งในบางกรณีมันทำให้หุ้นบางตัวกลายเป็นหุ้นราคาถูก

34.สำหรับบริษัทชั้นรองที่มีอนาคตสดใสไม่แพ้บริษัทชั้นนำ การขาดเสถียรภาพจะถูกชดเชยจากศักยภาพการเติบโตที่เหนือกว่า นี้อาจทำให้นักลงทุนหลายๆคนยินดีซื้อมันในราคาเต็มมูลค่า อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเงินบ่งชี้ว่า นักลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ก็ต่อเมื่อ พวกเข้าซื้อหุ้นเหล่านั้น ในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

35.บริษัทที่ดีไม่ใช่การลงทุนที่ดี หากคุณจ่ายเงินซื้อหุ้นของมันมาในราคาแพงเกินไป

Re: ShineStock 800 หน้า สรุปออกมาได้ 105 ข้อ
933

Re: ShineStock 800 หน้า สรุปออกมาได้ 105 ข้อ

71.ประวัติและนโยบายการจ่ายปันผล
- บริษัทจะต้องพิสูจน์ว่า นังลงทุนจะได้ประโยชน์มากกว่าหากบริษัทไม่จ่ายปันผล เช่น สามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างต่อเนื่องทุกสภาพตลาด
- หลีกเลี่ยงบริษัทที่มีการแตกหุ้นบ่อยครั้งจนเกินไป
- บริษัทควรซื้อหุ้นคืน ในระดับราคาถูก ไม่ใช่ ณ ระดับราคาที่สูงสุดในประวัติการณ์ เพราะจะเป็นการผลาญเงินที่น่ารังเกียจที่สุด

72.คำแนะนำเกี่ยวกับการพิจารณาตัวเลขกำไรต่อหุ้น
- อย่าให้ความสนใจต่อตัวเลขผลกำไร ของบริษัทเพียงปีเดียวมากจนเกินไป
- ให้คุณระวังกับดักของตัวเลขกำไรต่อหุ้น

73.สิ่งที่ต้องระวังเหล่านั้น เช่น การใช้นโยบายทางบัญชีที่แตกต่างกันระหว่างปี การคิดค่าเสื่อมราคาที่แตกต่างกัน(ปีก่อนใช้แบบเส้นตรง ปีนี้ใช้แบบเร่ง) หรือการลงบันทึกรายได้ และกำไรพิเศษจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือแม้แต่ปัจจัยเรื่อง Dilution ซึ่งมาจากการแปลงสภาพของวอแรนท์ และหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวนมาก ทั้งหมดเหล่านี้จะทำให้กำไรต่อหุ้นสูง หรือต่ำเกินความเป็นจริง

74.การบันทึกบัญชีของบริษัทมักมีกลลวงอยู่บ่อยๆ การวิเคราะห์หลักทรัพย์เป็นเรื่องซับซ้อน และการประเมิณมูลค่าหุ้นจะเชื่อถือได้ในกรณีพิเศษเท่านั้น สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การมั่นใจว่าตัวเองได้หุ้นที่มีคุณค่ามากกว่าราคาที่ตัวเองได้จ่ายไป

75.การคาดหวังสูงๆจะนำไปสู่ความผิดหวังแรงๆในกรณีที่มันไม่เป็นไปตามคาด ขณะที่การผิดคาดในกรณีที่ความคาดหวังอยู่ในระดับปานกลาง จะเกิดการตอบสนองที่รุนแรงน้อยกว่า
สรุปคือ หนึ่งในความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหุ้นโตเร็ว ไม่ได้อยู่ที่ว่าการเติบโตของมันจะยุติลง แต่อยู่ที่การเติบโตในอัตราที่ลดลงของมันต่างหาก และในระยะยาวแล้วนั่นไม่ได้เป็นแค่ความเสี่ยง แต่มันเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

76.สิ่งที่นักลงทุนผู้ชาญฉลาดจะต้องคอยระวัง คือ การบันทึก “ต้นทุนซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว” ที่ท้ายที่สุดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในปีต่อๆมา

77.ข้อเตือนใจ 3 ข้อ ที่ช่วยให้คุณไม่ตกหลุมพรางของตัวเลขที่แสดงไว้อย่างหยาบๆในหน้าสรุปผลการดำเนินงาน มีดังนี้
1) เริ่มอ่านจากหน้าหลังไปถึงหน้าแรก เพราะอะไรก็ตามที่บริษัทไม่อยากให้คุณเจอจะอยู่หน้าหลังๆ
2) อ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน
3) อ่านหนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์งบการเงินเพิ่มเติม

78.เกรแฮมกล่าวไว้ว่า “นักลงทุนทุกวันนี้มุ่งเน้นกับการคาดการณ์อนาคตที่ราคาหุ้นได้สะท้อนเอาไว้หมดแล้ว ด้วยเหตุดังกล่าว แม้สิ่งที่พวกเค้าคาดการณ์ด้วยความระมัดระวังจะเกิดขึ้น พวกเขาก็จะไม่ได้กำไร และถ้าหากมันไม่เกิดขึ้นอย่างที่พยากรณ์ไว้ พวกเขาจะต้องขาดทุนอย่างหนัก ซึ่งอาจเป็นการขาดทุนแบบถาวร”

79.แม้การลงทุนของเราเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ซึ่งแทบจะไม่มีความแน่นอน(สงคราม/ภัยธรรมชาติ/บริษัทยักษ์ใหญ่ล่มสลาย และอื่นๆ) อย่างไรก็ตาม การจัดการอนาคตมีสองแนวทางที่แตกต่างกัน
- ทางแรก คือ การคาดการณ์เชิงคุณภาพ เช่น อนาคตของอุตสาหกรรม ความเก่งและซื่อสัตย์ของผู้บริหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้
- ทางที่สอง คือ การป้องกันเชิงปริมาณ เช่น ตัวเลขต่างๆในงบการเงินที่เกิดขึ้นจริง และวัดผลได้
นักลงทุนผู้ชาญฉลาดควรเลือกแนวทางที่สอง ซึ่งก็คือการป้องกันการซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไป และป้องกันไม่ให้มั่นใจในวิจารณญาณของตัวเองมากจนเกินไปเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

80.เหตุผลที่ควรยึดแนวทางการป้องกันเชิงปริมาณ เพราะ
1)เราต้องการความมั่นใจว่า เราได้รับคุณค่าซึ่งคุ้มค่ากับเงินของเรา แบบที่วัดออกมาได้ชัดเจน และ
2) อนาคตของบริษัทไม่สามารถชดเชยคุณค่าที่ขาดหายไปในปัจจุบันได้

81.หากข้อเท็จจริงที่ว่า มีหุ้นจำนวนไม่น้อยในตลาดถูกมองข้ามไปในการวิเคราะห์จากโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์ เป็นเรื่องจริงแล้วละก็ นักลงทุนผู้ชาญฉลาดอาจจะสามารถหากำไรจากราคาหุ้นที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเหล่านั้นได้

82.สมรภูมิของนักลงทุนเชิงรุก คือ หุ้นประเภทที่พวกเค้าคิดว่า
1) มีราคาไม่แพงเกินไป เมื่ออ้างอิงจากตัววัดแบบอนุรักษ์นิยม
2) ดูน่าสนใจ เนื่องจากอนาคต หรือผลการดำเนินงานในอดีต หรือทั้งสองอย่างอยู่ในระดับดีกว่าหุ้นทั่วไป
ในการคัดสรรหุ้นเหล่านั้น พวกเขาจะใช้การทดสอบเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณอย่างสมเหตุสมผล

83.การตกอยู่ภายใต้ความคิดเห็นของคนอื่นเป็นเรื่องง่าย การใช้ความคิดของตัวเองในยามที่เราอยู่ลำพังเป็นเรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม คนที่ยิ่งใหญ่ คือ คนที่อยู่ท่ามกลางฝูงชน แต่ยังคงสามารถใช้ความคิดของตัวเองได้อย่างเป็นอิสระ

84.ระยะหลังๆ ตัวเลข EPS ถูกบิดเบือนด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้นให้มองไปที่ ROIC หรือผลตอบแทนจากเงินลงทุน

ROIC = กำไรในส่วนของเจ้าของ / เงินลงทุนทั้งหมด
กำไรส่วนของเจ้าของ = ผลกำไรจากการดำเนินงาน + ค่าเสื่อม + ค่าตัดจำหน่าย +ค่าความนิยม – ภาษีเงินได้ –ต้นทุนของสตอกออปชั่น-รายจ่ายลงทุนที่จำเป็นต้องบำรุงรักษา-ผลกำไรที่เกิดจากผลตอบแทนของกองทุนเพื่อการเกษียณอายุของบริษัท

เงินลงทุนทั้งหมด = สินทรัพย์รวม-เงินสด-เงินลงทุนระยะสั้น-หนี้สินหมุนเวียนที่ไม่เสีอดกเบี้ย+ค่าใช้จ่ายทางบัญชีในอดีตที่ทำให้นะดับเงินลงทุนลดลง

หากตัวเลข ROIC 6-7% ยังถือว่าน่าสนใจ และหากมากกว่า 10% ถือว่าดี

85.โดยส่วนใหญ่แล้ว บริษัทซึ่งมีประวัตการเติบโตที่ดีกว่า และมีความสามารถในการทำกำไรมากกว่า จะมีราคาซื้อ-ขายที่ค่า P/E สูงกว่าบริษัทที่ความมั่นคงแต่การเติบโตไม่หวือหวามาเป็นเวลานาน
อาจเป็นเพราะความนิยมจากตลาดที่มักให้น้ำหนักกับบริษัทเติบโตมากจนเกินไป จนราคาของพวกมันขึ้นไปสูงจากการเก็งกำไร ซึ่งอยู่ในระดับที่แพงมากเมื่อเทียบกับมูลค่า
ในทางกลับกันหุ้นที่ไม่ได้รับความนิยมจากตลาดหลายๆตัว กลับมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นอันเนื่องมากจากการมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป กับผลการดำเนินงานที่เติบโตเพียงเล็กน้อย หรือหดตัวลงชั่วคราว

86.ในระยะสั้น ตลาดเป็นเหมือนเครื่องโหวตลงคะแนน แต่ในระยะยาวมันจะเป็นเหมือนเครื่องช่างน้ำหนัก

เช่นปี 1999 มีกรณีเปรียบเทียบ
Yahoo
- รายได้ 433 ล้าน USD
- กำไร 34.93 ล้าน USD
- Market Cap. 114,000 ล้าน USD
Yum
- รายได้ 8,000 ล้าน USD (Yum สูงกว่า 17 เท่า)
- กำไร 633 ล้าน USD (Yum สูงกว่า 18 เท่า)
- Market Cap. 5,900 ล้าน USD (Yahoo กลับสูงกว่า 19 เท่า!?)

เมื่อตลาดหยุดโหวต และหันมาชั่งน้ำหนักในปี 2000-2002 ราคาของ Yum เพิ่มขึ้น +25.4% แต่ราคาของ Yahoo ลดลง -92.4%

87.นักลงุทนผู้ชาญฉลาดควรตระหนักว่า การตื่นตระหนกของตลาดสามารถทำให้หุ้นของบริษัทชั้นยอดมีราคาถูกจนเหลือเชื่อ

88.นักลงทุนในยุคปัจจุบันต่างหลงลืมคำสอบของเกรแฮม พวกเขาทุ่มเทความพยายามส่วนใหญ่ไปกับการซื้อหุ้น ใส่ใจน้อยลงต่อการขายหุ้น และไม่สนใจเรื่องความเป็นเจ้าของเลย

89.ความรับผิดชอบของผู้บริหารในการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น จะรวมถึงการพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาหุ้นของบริษัทอยุ่ในระดับต่ำจนเกินไปอย่างไม่เหมาะสม หรือสูงเกินไปแบบไร้เหตุผล

90.ในตำนานเก่าแก่ ชายผู้ชาญฉลาดได้กลั่นประวัติศาสตร์เรื่องราวทางโลก ออกมาเป็นวลีเดียว คือ “แล้วมันจะผ่านไป” ประโยคนี้แสดงความคิด ความรู้สึกได้มากขนาดไหน มันเตือนเราไม่ให้เหลิง ในยามที่เรารู้สึกภาคภูมิใจ และมันก็ปลอบโยนเรา เมื่อยามลำเค็ญ

91.บทบาทสำคัญของส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย(Margin of Safety) คือ การทำให้การคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น หากส่วนเผื่อมีค่ามากพอ นักลงทุนจะรู้สึกได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอ หากสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป

92.จากประสบการณ์ ตลอดระยะเวลาหลายปีสอนเราว่า "การขาดทุนครั้งใหญ่ของนักลงทุน จะมีสาเหตุมากจากการซื้อหุ้นคุณภาพต่ำในยามที่ภาวะเศรษฐกิจดี เพราะนักลงทุนหลงคิดไปว่า ผลกำไรสูงๆในปัจจุบันเป็นศักยภาพในการทำกำไรของบริษัท และตั้งสมมติฐานว่า ความเฟื่องฟูนั้นๆเป็นเรื่องเดียวกับความปลอดภัย”

93.การลงทุนในหุ้นโตเร็ว อาจจะให้ส่วนเผื่อที่เชื่อถือได้เหมือนกับกรณีของการลงทุนทั่วไป หากการคำนวณผลกำไรคาดการณ์ในอนาคตเป็นไปอย่างอนุรักษ์นิยม และการคำนวณดังกล่าว แสดงถึงส่วนเผื่ออันน่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับราคาหุ้น

94.ขนาดของส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยจะขึ้นอย่กับราคาหุ้นที่นักลงทุนได้จ่ายไป

95.กรณีที่ส่วนเผื่อความปลอดภัยจะมีประโยชน์เด่นชัดขึ้น คือ เมื่อมีการซื้อหุ้นซึ่งมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น(Undervalued) ส่วนเผื่อนี้จะทำหน้าที่ดูดซับผลกระทบจากการคำนวณที่ผิดพลาดหรือความโชคร้าย ซึ่งคนที่ซื้อหุ้นราคาถูกๆจะเน้นไปยังความสามารถในการทนทานต่อพัฒนาการเชิงลบ

96.มันเป็นเรื่องจริงที่ว่า หากหุ้นตัวนั้นๆมีอนาคตเลวร้ายมาก ไม่ว่าราคาหุ้นจะถูกแค่ไหนก็คงไม่มีใครซื้อ อย่างไรก็ตามหุ้นราคาถูกส่วนใหญ่ จะมีอนาคตแบบไม่ดีเด่นหรือเลวร้ายแบบชัดเจน ถ้าหากนังลงทุนซื้อหุ้นเหล่านั้น ณ ระดับราคาถูกๆ กระทั้งมีการลดลงของผลกำไรในระดับปานกลาง พวกเค้าก็ยังอาจจะได้รับผลตอบแทนอันน่าพอใจ ซึ่งนั้นหมายความว่าส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว

97.การมีส่วนเผื่อบ่งชี้เพียงว่า โอกาสการทำกำไรจะสูงกว่าโอกาสขาดทุน แต่มันไม่ได้รับประกันว่าการขาดทุนจะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนให้หุ้นซึ่งมีส่วนเผื่อหลายๆตัวจะทำให้ผลกำไรโดยรวมสูงกว่าผลขาดทุนแน่นอนยิ่งขึ้น สิ่งนี้เป็นหลักการพื้นฐานของธุรกิจประกัน

98.มันไม่มีหุ้นดีหรือหุ้นไม่ดี จะมีก็แต่หุ้นถูกกับหุ้นแพง หุ้นของบริษัทชั้นเยี่ยมจะไม่น่าสนใจซื้อ หากราคาของมันอยู่ในระดับสูงเกินไป ขณะที่หุ้นของของบริษัทแย่ๆจะน่าซื้อ หากราคาของมันต่ำมากพอ

99.การลงทุนจะเป็นไปอย่างชาญฉลาดที่สุด เมื่อมันมีลักษณะเหมือนการดำเนินธุรกิจมากที่สุด มันเป็นเรื่องแปลกที่นักธุรกิจผู้เก่งกล้าจำนวนมากเข้ามาลงทุนในตลาดโดยละเลยหลักการอันสมเหตุสมผล ซึ่งพวกเขาได้นำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จ

100.พวกเขาต้องใช้หลักการทางธุรกิจอันสมเหตุสมผล ถ้าอยากจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ
1) หลักข้อแรก คือ รู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ รู้จักธุรกิจของคุณ สำหรับนักลงทุนมันหมายถึงการไม่พยายามหาผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุน
2) หลักข้อสอง คือ อย่าปล่อยให้คนอื่นมาบริหารธุรกิจแทนคุณ นอกเสียจาก
- คุณมีความสามารถ และระมัดระวังสูงพอในการตรวจสอบการทำงานของเขา
- คุณมีเหตุผลดีๆ ที่จะให้ความเชื่อมั่นในความสามารถและจริยธรรมของเขา
3) หลักข้อสาม คือ อย่าเข้าไปดำเนินธุรกิจใดๆ หากปราศจากการคำนวณที่เชื่อถือได้ ซึ่งแสดงว่ามันมีโอกาสสูงที่จะให้ผลตอบแทนในระดับสมเหตุสมผล จงหลีกเลี่ยงธุรกิจซึ่งคุณอาจจะได้กำไรเพียงเล็กน้อย แต่อาจจะขาดทุนเป็นเงินจำนวณมาก สำหรับนักลงทุนมันหมายถึงว่า เมื่อพวกเขาจำกัดผลตอบแทนของตัวเองอยู่ในระดับต่ำแล้ว พวกเขาต้องมีหลักฐานยืนยันว่า ตัวเองไม่ได้กำลังนำเงินลงทุนจำนวนมากไปเสี่ยง
4) หลักข้อสี่ คือ มีความเชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ของตัวเอง ถ้าคุณได้ข้อสรุปจากข้อเท็จจริง และคุณรู้ว่าคุณใช้วิจารณญาณอย่างสมเหตุผลแล้ว ให้ลงมือทำตามข้อสรุปนั่น แม้ว่าคนอื่นๆจะลังเลหรือเห็นแตกต่างก็ตาม คุณไม่ได้ถูกหรือผิด เพราะฝูงชนเห็นขัดแย้งกับคุณ คุณถูกเพราะข้อมูล และการใช้เหตุผลของคุณเป็นไปอย่างถูกต้อง ในโลกของการลงทุน “ความเชื่อมั่น” เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดถัดจาก ความรู้อันเพียงพอ และวิจารณญาณที่ได้รับการทดสอบแล้ว

โชคดีที่นักลงทุนทั่วๆไป ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบทั้งหมดจึงจะประสบความสำเร็จได้ ข้อแม้ก็คือ “ความคาดหวังของพวกเขาจะต้องสอดคล้องกับ ความสามารถของตัวเอง และใช้การลงทุนเชิงรับแบบมาตรฐานซึ่งมีความปลอดภัยสูง” การได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจเป็นเรื่องง่ายกว่าที่ผู้คนส่วนใหญ่คิด แต่การแสวงหาผลตอบแทนชั้นเลิศนั้นเป็นเรื่องยากกว่าที่เห็น

101.ข้อแรกอย่าขาดทุน ความเสี่ยงคืออะไร? คำตอบที่ได้จะแตกต่างกันไป ซึ่งมันขึ้นกับว่าคุณถามใคร และถามเมื่อไหร่ ในปี 1999 ความเสี่ยงไม่ได้หมายถึงการขาดทุน แต่หมายถึงการได้กำไรน้อยกว่าคนอื่นต่างหาก สิ่งที่คนกลัวคือ การไปงานเลี้ยงแล้วเจอคนที่กำไรมากกว่า เร็วกว่า จากหุ้นดอทคอม ต่อมาในปี 2002 ความเสี่ยงเปลี่ยนความหมายไปเป็น การที่ตลาดตกลงมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้เงินอันน้อยนิดที่เหลืออยู่ของคุณมลายหายไป

102.ความเสี่ยงไม่ได้อยู่ที่ตัวหุ้นแต่อยู่ที่ตัวคุณ ที่จริงแล้วความเสี่ยงทางการเงินจะไม่ได้อยู่ในประเภทการลงทุนที่คุณมี แต่จะอยู่ที่ประเภทของนักลงทุนที่คุณเป็นต่างหาก

103.นักลงทุนผู้ชาญฉลาด ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปยังการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง แต่ยังต้องรักษาตัวให้รอดพ้นจากการขาดทุน ในกรณีที่การวิเคราะห์ของคุณผิดพลาดอีกด้วย

104.การให้น้ำหนักในเรื่องความปลอดภัย และความระมัดระวังสำคัญกว่าการมุ่งเน้นไปยังการทำกำไรให้ได้มากๆ

105.จุดร่วมเชิงภูมิปัญญาของนักลงทุนจากหมู่บ้านเกรแฮมและดอดด์ ก็คือ การเสาะหาความแตกต่างระหว่างราคาหุ้นและมูลค่าของมัน โดยไม่ได้สนใจว่ามันจะเป็นวันจันทรืหรือวันพุธ เดือนมกราคมหรือเดือนกรกฏาคม ผมคิดว่าตอนที่นักธุรกิจจะซื้อกิจการหรือบริษัท พวกเขาก็คงไม่ได้สนใจว่าการซื้อจะเกิดขึ้นในวันไหน เวลาเท่าไหร การซื้อธุรกิจจะเกิดขึ้นในวันจันทร์หรือศุกร์ก็ไม่ได้มีอะไรต่างกันเลย
พวกเค้าไม่รู้จักค่าเบต้า ,Capital Asset Pricing model หรือ Covariance ของผลตอบแทนของหุ้นต่างๆ นักลงทุนกลุ่มนี้มุ่งเน้นไปยังตัวแปรสองตัว คือ “ราคา และมูลค่า”
*ข้อ105 วอเรนท์ บัฟเฟตได้กล่าวไว้ท้ายเล่ม พร้อมยกตัวอย่างผลงานของลูกศิษย์เกรแฮมและดอดด์ทั้ง 5 คน รวมถึงตัวเขาเอง ซึ่งแต่ละคนสามารถทำผลตอบแทนได้อย่างยอดเยี่ยม*



INSURANCETHAI.NET
Line+