หนังสือหุ้นบทที่ 7 : วิธีค้นหาการลงทุนแบบของคุณเอง
939
หนังสือหุ้นบทที่ 7 : วิธีค้นหาการลงทุนแบบของคุณเอง
"การจะรู้วิธีลงทุนแบบคุณ เกิดจากลงมือปฏิบัติ"
หากอยากลงทุนหรือเล่นหุ้นเก่ง
หลักการก็เหมือนทำอย่างอื่นให้ประสบความสำเร็จ
คือต้องเรียนรู้ ศึกษาวิธีการ
รู้อะไรทำให้ได้กำไร อะไรทำให้ขาดทุนป่นปี้
ศึกษาจนเข้าใจ รู้ลึก รู้จริง
และนำมาปฎิบัติ สร้างประสบการณ์ จนชำนาญ เชี่ยวชาญ
ซึ่งปัจจุบัน ความรู้หุ้น แพร่หลายและหาง่ายมาก
ทั้งหนังสือ นิตยสาร งานสัมนา
เมื่อค้นหาทาง google คุณจะพบเว็บไซด์การลงทุนเป็นพัน
วีดีโอสอนลงทุนเป็นร้อย เอกสารเผยแพร่มากมายมหาศาล
ให้เรียนรู้แบบ Nonstop 7 วัน 24 ชั่วโมง
ปัญหาคือ เรามีเวลาไม่พอสำหรับเรียนทุกอย่าง
เพราะเรามีภารกิจประจำวันรัดตัวอยู่แล้ว
เช่น งานประจำ ธุรกิจส่วนตัว เรียนหนังสือ
อยู่กับแฟน ดูแลพ่อแม่ รับส่งและสอนการบ้านลูก
เลยเหลือเวลาจำกัดเพื่อหาความรู้ลงทุน
หากใช้เวลาที่มีน้อยนิด เรียนแบบ "เบี้ยหัวแตก"
คือเรียนทุกแนวทางแบบกระจัดกระจาย ฉาบฉวย ไม่เจาะลึก
ผลตอบแทนก็เหมือนทำงานคือ รู้น้อย ผลตอบแทนน้อยตาม
จึงต้องเลือก “วิธีลงทุนที่เหมาะกับคุณ” มาหนึ่งวิธี
ศึกษา เรียนรู้ ให้เข้าใจ รู้จริง ทะลุปรุโปร่ง
ขับเคลื่อนชีวิตการลงทุนบนหนทางที่คุณถนัดและมีความสุข
จึงประสบความสำเร็จ ทำกำไรจากตลาดหุ้นได้
"อันความรู้รู้กระจ่างแค่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิด จักเกิดผล"
โทมัส อัลวา เอดิสัน คืออัจฉริยะของโลก ด้านการผลิตหลอดไฟ
เด็กจนหนุ่ม เอดิสันหมกมุ่นอยู่เรื่องเดียว คือไฟฟ้า
ตอนเอดิสันเข้าโรงเรียน โดนดูถูกจากครูว่า โง่มาก
โง่กว่าทุกคนในชั้นเรียน
เพราะไม่ฟังครู ไม่สนใจเรียน จนสอบตกทุกวิชา
เนื่องจากเอดิสันทุ่มเทเวลาให้กับการทดลองไฟฟ้า ไม่สนใจเรื่องอื่น
ผลสุดท้าย เอดิสันก็ไม่ได้เรียน นั่งทดลองไฟฟ้าอย่างเดียว 10 ปี
30 ปีผ่านไป เอดิสันกลายเป็นผู้รู้ลึก รู้จริง รู้ทะลุปรุโปร่ง
เรื่อง“ไฟฟ้า” มากที่สุดคนหนึ่งของโลก
จากเด็กโง่ที่สุดในชั้น กลายเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลก
และสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งผลดีต่อมวลมนุษย์อย่างมหาศาล
อย่างหลอดไฟฟ้า เครื่องบันทึกภาพ
ส่งผลให้เขาร่ำรวย มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่
สาเหตุเพราะ เอดิสัน เชี่ยวชาญเรื่องไฟฟ้ามากที่สุดในโลก
ถ้าคุณเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่าคนอื่น
คุณจะเก่งกว่าใครทั้งหมด
และถ้าคุณเก่งกว่าใครในตลาดหุ้น ความร่ำรวยจะหนีไปไหน
ขั้นตอนการค้นหาการลงทุนแบบของคุณ
1. เลือกวิธีลงทุน
พี่ณัฐวัฒน์ อ้นรัตน์ นักกลยุทธหุ้นชั้นนำของเมืองไทย
บอกว่า แนวทางลงทุนหลักๆ มีอยู่แค่ 2 แบบ
- นักลงทุนระยะยาว เลือกหุ้นของกิจการยักษ์ใหญ่
มีความสามารถแข่งขันสูง ซื้อตอนราคาเหมาะสม ซื้อแล้วถือยาว
- นักเก็งกำไร ผู้ศึกษาพฤติกรรมราคาหุ้นและปริมาณซื้อขาย
นำสถิตในอดีตมาคาดการณ์อนาคต เพื่อหาจังหวะซื้อขายหุ้นที่เหมาะสม
เลือกแนวทางที่ท่านชอบ สนใจ เข้าถึงข้อมูลง่าย มาหนึ่งวิธี
2. ลงสนามจริง
เมื่อเลือกวิธีแล้ว ให้ “ลงสนามจริง” คือ ซื้อขายด้วยเงินจริงให้เร็วที่สุด
เช่น เลือกหุ้นดีแล้วลงทุนด้วยเงินจริง ซื้อขายหุ้นด้วยเงินจริง
แม้คุณอาจลองซื้อขายหุ้นด้วยเงินจำลอง เช่น โปรแกรม Click2win หรืออื่นๆ แต่ก็ไม่ควรนานเกินไป
ทำไมเราควรซื้อขายด้วยเงินจริงโดยเร็ว
เพราะเมื่อลงสนามจริง จะมีเรื่อง “อารมณ์” มาเกี่ยวด้วย
เช่น ความโลภ ความกลัว ความทุกข์
ซึ่งจะไม่มีวันเกิดขึ้น หากลงทุนด้วยเงินจำลอง
โดยความโลภและความกลัวคือ “ศัตรูหมายเลข 1” ของนักลงทุน
เพราะเมื่อถูกมันครอบงำ จะทำให้ลงทุนผิดพลาด ขาดทุน เกิดหายนะ
เช่น โลภจนซื้อหุ้นที่ราคาแพงสุดขีด สุดท้ายราคาหุ้นพุ่งดิ่งเหว
กลัวมื่อราคาหุ้นตกหนัก จนไม่ยอมซื้อหุ้นดีในราคาเหมาะสม
ส่งผลให้เจ๊งตลอด แม้ว่าแม่นทฤษฎีแค่ไหน
ส่วนความทุกข์ คือเมื่อลงทุนแล้ว ไม่มีความสุข เบื่อ เซ็ง อึดอัด
สาเหตุมักเกิดจาก การลงทุนที่ไม่ถูกจริต
เนื่องจากคงไม่มีใครสุข หากฝืนใจตัวเอง
ซึ่งการจะรู้ว่า วิธีลงทุนที่เราเลือก ช่วยคุ้มครองเราจากอารมณ์ข้างต้น
และเหมาะกับการเดินทางไกล ไปกับเราทั้งชีวิตหรือไม่
ก็เกิดจากลงทุนด้วยเงินจริงทั้งนั้น
ผมมีเพื่อนนักลงทุนหลายท่าน ที่ค้นพบการลงทุนแบบที่ใช่และมีความสุข
ซึ่งแตกต่างกับตอนเริ่มต้นอย่างสิ้นเชิง ขนาดตัวเขาเองยังแปลกใจ
สิ่งที่รู้+สิ่งที่รัก = ความสำเร็จ
บางท่านเห็นนักลงทุนระยะยาวทำกำไรมากมาย ก็เลยอยากเป็นบ้าง
แต่เมื่อเริ่มลงทุนจริงๆ พอราคาหุ้นตก ก็กลัว วิตก กังวล
ไม่สามารถทำสิ่งที่เป็น “หัวใจ” ของการลงทุนระยะยาว
นั่นคือ “ไม่สนใจต่อความผันผวนของราคาหุ้น”
และเริ่มรู้ตัวว่ามีความสุขแบบ “มีหุ้นในขาขึ้น มีเงินสดในขาลง” มากกว่า
จนกลายเป็น “นักเก็งกำไร” ในที่สุด
ขณะที่บางท่านเริ่มจากการเป็น “นักเก็งกำไร”
แต่ไปไปมามา ก็รู้ตัวว่า “เบื่อและไม่มีความสุข” ที่ต้อง “คาดเดาและซื้อขาย” หุ้นทุกวัน
เขารู้สึกสุขที่ซื้อหุ้นพื้นฐานดี และถือไปเรื่อยๆ ตราบที่บริษัทฯเติบโตแข็งแกร่งอยู่
จึงพัฒนามาเป็น “ นักลงทุนระยะยาว ” ในที่สุด
ความรู้ที่แท้จริง เกิดจากการปฎิบัติ ไม่ใช่เกิดจากตัวหนังสือครับ
3. บริหารเงินทุนไม่ให้เจ๊ง
เมื่อเริ่ม “ลงทุนจริง” แล้ว ขั้นตอนที่ต้องเริ่มพร้อมกันเลยทันที
ก็คือ “บริหารเงินทุนไม่ให้เจ๊ง"
โดยนิยามของ “บริหารเงินทุนไม่ให้เจ๊ง” ก็คือ ทำให้ “เงินทุน”
มีมูลค่าไม่น้อยกว่าเดิม หรือ ลดลงให้น้อยที่สุด
สาเหตุที่ต้องเริ่มพร้อมกันทันที
เพราะข้อเสียของการลงสนามจริง คือ คุณอาจจะ “เจ๊งจริง” ได้ด้วย
เนื่องจากขณะอยู่ในช่วงค้นหาแนวทาง
ก็ย่อมมี “ความผิดพลาด” หรือ “ลองผิดลองถูก” เป็นธรรมดา
ปัญหาคือความผิดพลาดบางครั้ง อาจทำให้คุณ “ขาดทุนเละเทะอ่วมอรทัย”
ตัวอย่างเช่น ซื้อหุ้นพื้นฐานดีแต่ “ราคาแพงสุดขีด”
หรือเก็งกำไรในหุ้นเล็กที่ราคาพุ่งกระฉูด แล้วเวลาผ่านไปสักพัก
คุณเกิด “ซวยสุดๆ” ที่ราคาหุ้น 2 ชนิดข้างต้นลดลงอย่างหนัก
และไม่กลับไปสู่จุดเดิมอีกเลย
ดังนั้น การบริหารเงินทุน จึงต้องควบคู่กันไปในระหว่างค้นหาแนวทางเสมอ
เพื่อป้องกันสูญเสียเงินทุนมากเกินไป
หุ้น นักเก็งกำไร
ทำไมปกป้องเงินทุนจึงสำคัญนัก
ข้อแรกคือ รักษาชีวิตในตลาด
เพราะเงินทุน คือ สายน้ำแห่งชีวิตของนักลงทุน
หากเงินทุน "แห้งเหือด" จนหมด
ชีวิตนักลงทุนก็จบลงด้วย
ข้อสองคือ เมื่อ "ขาดทุน" หรือสูญเสียสิ่งที่มีอยู่
คุณต้องพยายามมากกว่าเดิม เพื่อให้ได้ "สิ่งที่เคยมีแล้ว" กลับคืนมา
โดยหากคุณมีเงิน 100 บาท
เมื่อขาดทุน 10% คือเหลือเงิน 90 บาท
ต้องนำเงินทุนที่เหลือ (90 บาท) ไปทำกำไร 11% จึงจะมีเงิน 100 บาทเท่าเดิม
เมื่อคุณขาดทุน 30% ต้องทำกำไร 43% จึงเท่าทุน
ซึ่งหากคุณขาดทุน 50% ต้องทำกำไรถึง 100% จึงเท่าทุน
เครดิต : www.iammrmessenger.com
จะเห็นว่ายิ่งขาดทุนมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องทำกำไรกลับเป็น % มากเท่านั้น
เป็นการเสียเวลา เสียพลังงาน โดยเปล่าประโยชน์
ไม่มีอะไรงอกเงยเพิ่มขึ้นมาเลย
โดยกลยุทธ์ “บริหารเงินทุน” ที่น่าสนใจก็คือ
แบ่งเงินทุนออกมา 10-15% จากนั้นนำส่วนที่แบ่งมา
“ลองผิดลองถูก” ในตลาดหุ้นได้เต็มที่
โดยกฎคือ จะไม่มีการเพิ่มเงินทุนเข้าสู่ตลาดหุ้น
จนกว่าจะพบแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเราแล้วเท่านั้น
ซึ่งข้อดีของกลยุทธ์ข้างต้นคือ คุณสามารถ “เก็บเกี่ยวประสบการณ์”ได้เต็มที่
เพราะหากคุณ “ซวย” เกิดความเสียหายในระดับรุนแรงมากๆ
ก็จะเสียหายเฉพาะแค่ 10 -15% ที่แบ่งมาลงทุนเท่านั้น
กลยุทธ์นี้ทำให้คุณค้นหาแนวทางการลงทุนจากสนามจริงได้ โดยไม่เจ็บตัวมากเกินไปครับ
สรุป
ความรู้การลงทุนมีหลายวิธี รายละเอียดปลีกย่อยมาก
เนื่องจากเรามีเวลาจำกัด จึงต้องเลือก “วิธีการลงทุนแบบเราเอง” หนึ่งวิธี
แล้วฝึกฝนให้รู้ลึก รู้จริง ปฎิบัติได้
การรู้ว่าแนวทางไหนเหมาะกับเรา จะเกิดจากการเล่นจริง เจ็บจริง ไม่อิงสตันท์
ซึ่งขณะค้นหาแนวทาง ควรมีการบริหารต้นทุนด้วย
เพื่อป้องกันสูญเสียเงินทุนมากไปครับ
http://www.thaitfstock.com/2014/08/7.html
INSURANCETHAI.NET