การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending: SBL)
958
การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending: SBL)
การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ เป็นการโอนหุ้นแบบชั่วคราวโดยมีการวางหลักประกันไว้ ซึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ทำธุรกรรมนี้และมีปริมาณธุรกรรมมากเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนประเทศไทยของเราอยู่ในอันดับที่ห้า โดยเราเริ่มมีการศึกษาธุรกิจนี้และส่งเสริมมาช้านาน แต่จวบจนถึงปัจจุบัน SBL ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาดบ้านเรามากนัก จำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาต SBL จากสำนักงาน ก.ล.ต. เอง ก็มีเพียง 13 รายเท่านั้น เนื่องด้วยขาดแรงจูงใจที่จะเข้ามาทำธุรกรรม เพราะมีภาระต้นทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากปริมาณธุรกรรมในขณะนี้
ความจริงแล้ว SBL เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและถือเป็นหัวใจของการทำธุรกรรมพื้นฐานในตลาดทุน โดยมีกลไกในการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม กล่าวคือ ผู้ยืมหลักทรัพย์ต้องมีการวางหลักประกันโดยมีการตีราคามูลค่าตลาด (Mark to Market) ทุกวัน และมีการทำสัญญาที่เป็นมาตรฐานระหว่างผู้ยืมและผู้ให้ยืม เมื่อถึงวันครบกำหนดสัญญา ผู้ยืมจะต้องคืนหลักทรัพย์ให้กับผู้ให้ยืม ในขณะเดียวกันผู้ให้ยืมก็จะต้องโอนหลักประกันคืนแก่ผู้ยืมด้วย โดยผู้ให้ยืมจะได้รับรายได้จากค่าธรรมเนียมการยืมและยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากบริษัทจดทะเบียนครบ ยกเว้นเพียงสิทธิในการออกเสียง ซึ่งหากต้องการใช้สิทธิก็สามารถเรียกคืนหลักทรัพย์จากผู้ยืมได้
ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก SBL จะเห็นได้จากสภาวะตลาดหุ้นช่วงที่ผ่านมา ซึ่งระดับราคาหลักทรัพย์มีการปรับตัวลดลงมากจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนที่คาดการณ์ได้ก็สามารถยืมหลักทรัพย์มาขายเพื่อทำกำไรเมื่อซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่า (Short selling) ซึ่งจากการติดตามข่าวสาร ผู้เขียนพบว่ามีการขายช็อร์ตกันมากในสหรัฐอเมริกาช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงิน ร้อนถึงสำนักงาน ก.ล.ต.ของสหรัฐฯ ออกประกาศเข้มงวดกับกฎการขายช็อร์ตให้หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินต้องมีการจัดแจงยืมหุ้นก่อนส่งคำสั่งขายและอาจทบทวนเกณฑ์เรื่องราคา ส่วนสถิติตัวเลขจำนวนหุ้นที่ขายช็อร์ตในตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนพฤษภาคมมีประมาณ 27 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 1,266.3 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่า SBL ช่วยให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพและเพิ่มสภาพคล่องให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ที่ขายช็อร์ตไป จะต้องกลับมาซื้อหุ้นเพื่อส่งมอบคืน นักลงทุนเองก็สามารถบริหารการลงทุนและความเสี่ยงได้โดยสะดวก
ปัจจุบัน TSD ใช้ธุรกรรม SBL ในการช่วยลดความเสี่ยงจากการผิดนัดส่งมอบหลักทรัพย์ ทำให้กระบวนการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่ TSD ดูแลอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยมีมูลค่าของธุรกรรม SBL นับตั้งแต่ต้นปีนี้มาสูงถึง 1,121.95 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการยืมราว 5 ล้านบาทเศษ ส่งผลให้ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพ (Settlement Efficiency) สูงถึง 99.97% นอกจากนี้ SBL ยังสามารถสนับสนุนธุรกรรมในสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อย่างเช่นการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ ETF และการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ในตลาด 2 แห่งเพื่อมุ่งหวังกำไรจากราคาที่แตกต่างกัน (Arbitrage) ซึ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นช่องทางเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งสิ้น
SBL ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน แถมยังเป็นเครื่องมือที่ดีในการนำมาใช้เพิ่มรายได้ให้ทั้งนักลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมธุรกรรม SBL ให้มีสภาพคล่องมากขึ้น TSD จึงได้พัฒนาบริการระบบยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL Service Bureau) เพื่อให้บริการแก่บริษัทหลักทรัพย์ในลักษณะการเช่าใช้ระบบ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการพัฒนาและปรับปรุงดูแลรักษาระบบงาน นอกจากนี้ TSD จะจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องด้วย สำหรับผู้ลงทุนที่อยากเรียนรู้และหาช่องทางเพิ่มรายได้ ขอเชิญร่วมสัมมนาหัวข้อ “สร้างรายได้หุ้นขาลงผ่านธุรกรรม SBL: การยืมและการขายช็อร์ต” ในวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคมนี้ เวลา 9.30-12.00 น. ณ หอประชุม ศ. สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคุณผู้อ่านท่านใดสนใจ สามารถสำรองที่นั่งฟรี ผ่าน www.tsd.co.th หรือ TSD Call Center 0 2229 2888 แล้วพบกันค่ะ
(ข่าวเก่า)
http://www.settrade.com/blog/sopawadee/2008/11/19/399
INSURANCETHAI.NET