การฝากเงินตราต่างประเทศ
961

การฝากเงินตราต่างประเทศ

เงินฝากสกุล ตปท.ยอดพุ่ง 31% นักธุรกิจ-นร.นอกแห่เปิดบัญชี

แบงก์ชาติชี้บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ "FCD" สิ้นปี 2558 ยอดคงค้างพุ่ง 31% หลังขยายวงเงินฝากขึ้นเป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลแบงก์มียอดเงินฝากโตขึ้น "กรุงไทย" คาดปีนี้เติบโตแตะ 20% ฟาก "ซีไอเอ็มบี ไทย" ยอดเพิ่มบางส่วนมาจากเก็งกำไร เพราะนักลงทุนเล็งดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าตามเทรนด์ขึ้นดอกเบี้ย

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นการขยายตัวของบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือ FCD มากขึ้น โดยเฉพาะบัญชี FCD ประเภทแหล่งเงินในประเทศ แบบไม่มีภาระผูกพัน ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2558 มียอดคงค้างของบัญชี FCDประเภทนี้เพิ่มขึ้น 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 31% จากปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 แม้ว่ายอดคงค้างหลังเดือน มิ.ย. 2558 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากเงินบาทอ่อนค่า

การฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) แบบไม่มีภาระผูกพัน ถือว่ายังใช้ในวงจำกัด ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ผู้ฝากเงินยังไม่คุ้นเคยกับการเปิดบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ และผลตอบแทนจากการฝากเงินที่ไม่จูงใจ แต่ส่วนที่เป็นเงินฝาก FCD ที่เป็นแหล่งเงินจากต่างประเทศยังคงขยายตัวตามลำดับ ตามภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา และผู้เปิดบัญชี FCD ประเภทนี้ใช้เป็นบัญชีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสั่งซื้อวัตถุดิบนำเข้ามาเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกต่อไปโดยไม่ต้องแปลงเป็นเงินบาทอีกทอด

ทั้งนี้เมื่อเดือนมิ.ย.2558 ธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายวงเงินบัญชี FCD เป็นไม่เกิน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นบัญชี FCD ประเภทแหล่งเงินในประเทศ คือนำเงินบาทไปซื้อเงินตราต่างประเทศและฝากไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ได้มีภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายให้กับต่างประเทศในระยะอันใกล้

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานบริหารการเงิน ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB กล่าวว่า การฝากบัญชี FCD ในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งจากประชาชนและนักธุรกิจ หลังจาก ธปท.ได้มีการขยายวงเงินฝากมากขึ้นเป็น 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีผลให้ยอดเงินฝาก FCD ของธนาคารในปี 2558 เติบโตขึ้น 15% จากยอดคงค้าง ณ สิ้นปี′57 ที่มีอยู่ประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยการเติบโตจากกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่วางแผนส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่เปิดบัญชีประเภทนี้เพื่อความคล่องตัวในธุรกิจนำเข้าส่งออก

ส่วนแนวโน้มปี2559คาดว่าจะมีการฝากเงินFCD เพิ่มขึ้น และน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องราว 20% เนื่องจากภาคเอกชนนักธุรกิจมีความรู้เพิ่มขึ้น อีกทั้งการค้าการลงทุนระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

"การขยายวงเงินเปิด FCD ของ ธปท. ส่งผลดีในภาพรวมทั้งระดับบุคคลและธุรกิจ เพราะนอกจากภาคธุรกิจจะฝากบัญชีนี้เพื่อชำระค่าสินค้าสำหรับการนำเข้า-ส่งออกแล้ว ก็ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ส่วนพฤติกรรมการเก็งกำไร ยอมรับว่ามีให้เห็นบ้างแต่ไม่เยอะ อย่างไรก็ตาม กลุ่มรายใหญ่ก็ฝาก FCD ลดลงนับตั้งแต่ ธปท.เปิดให้บริษัทแม่และธุรกิจในเครือสามารถชำระสินค้าผ่านเครือข่ายของธุรกิจได้เอง" นางกิตติยากล่าว

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT กล่าวว่า การฝาก FCD มากขึ้นสะท้อนว่านักลงทุนยอมรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยมองว่าในอนาคตเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐที่จะปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับดอกเบี้ยไทยที่มีโอกาสขยับขึ้นยากภายใต้เศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้น นักลงทุนจึงหันมาเปิดบัญชี FCD เพื่อหวังผลตอบแทนส่วนต่าง

"นักลงทุนอาจมองว่า ถ้าเอาเงินฝากไว้บัญชีทั่วไปก็ได้ผลตอบแทนแค่ 1.5% สู้เอาไปเสี่ยงซื้อเงินตราต่างประเทศเก็บไว้ก็ไม่เห็นแปลก ถ้าสามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนได้ ก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพฤติกรรมมนุษย์ในเวลาที่ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำนาน ๆ นักลงทุนก็ต้องหาช่องทางลงทุนใหม่ ทุกคนก็เห็นแนวโน้มว่าข้างหน้าดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่า ดังนั้น จึงเลือกฝากเงินใน FCD เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งก็ได้" นายสุธีร์กล่าว

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1454476286



INSURANCETHAI.NET
Line+