SOAR Analysis คืออะไร
972
SOAR Analysis คืออะไร
SOAR Analysis หรือการวิเคราะห์สอร์อ่า เป็นกระบวนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมธุรกิจ ที่นำมาแทนการวิเคราะห์แบบเดิมคือ SWOT Analysis
โดยในขณะที่ SWOT Analysis เป็นการวิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและภัยคุกคาม
SOAR Analysis วิเคราะห์หาจุดแข็ง โอกาส แรงบันดาลใจ และผลลัพธ์ในเชิงบวกที่จะเกิดขึ้น
SOAR Analysis คิดค้นขึ้นมาโดย โดยต่อยอดมาจาก Appreciative Inquiry (AI) หรือสุนทรียสาธก โดยก่อนจะทำความเข้าใจใน SOAR Analysis ผู้อ่านจำเป็นต้องทำความเ้ขาใจพื้นฐานของ AI ก่อน โดยนิยามของ AI คือ " สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการตั้งคำถาม เชิงบวก แล้วนำคำตอบที่ได้มาสร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก โดยมีสมมติฐานคือ “ในทุกระบบ ทุกตัวคน ทุกองค์กร มีเรื่องราวดีๆ ซ่อนเร้น รอการค้นพบอยู่”
กระบวนการค้นหาสามารถใช้กระบวนการสอบถาม หรือสัมภาษณ์ด้วยการตั้งคำถามเชิงบวก ในแง่มุมต่างๆ ในบทความนี้ได้นำเสนอแนวทางการทำ SOAR Analysis อยู่ 11 แนวทางตั้งแต่การสร้างนวัตกรรม การสร้างผลิตภาพ การเรียนรู้ในองค์กร การสร้างแรงจูงจภายใน การสร้างแรงจูงใจภายนอก บรรยากาศการทำงานเป็นทีม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดต้นทุน การเพิ่มรายได้ การบริหารความเสี่ยง ภาวะผู้นำ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นตัวอย่างในการทำ SOAR Analysis ที่มีความสอดคล้องกันตั้งแต่การค้นหาจุดแข็ง (Strengths) จากนั้นในจุดแข็งประเมินหาโอกาส (Opportunities) และนำข้อมูลจากโอกาสมาสร้างแรงบันดาลใจ (Aspiration) และประเมินหาผลลัพธ์ (Results) ในที่สุด
กระบวนการการค้นหาจุดแข็ง
จุดแข็ง (Strengths) คือเรื่องราวดีๆที่เกิดขึ้นในองค์กร อาจเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร กับใครก็ได้ อาจอยู่รูปแบบของความรู้ ทัศนคติ กระบวนการที่มีอยู่ในตัวคนใดคนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ณ . เวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ อาจเป็นเรื่องดีๆ ที่แม้จะเกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้วก็สามารถนำว่าเป็นจุดดี หรือจุดแข็งได้ กระบวนการการค้นหาจุดแข็งจึงเป็นกระบวนการค้นหาเรื่องดีๆ ความสำเร็จแม้เพียงเล็กน้อยจากผู้มีส่วนได้เสียทุกคนในองค์กร
1. ด้านนวัตกรรม (Innovation): โดยการตั้งคำถามว่า " ประสบการณ์ที่ภาคภูมิในที่สุดตั้งแต่ทำงานที่นี่มาของท่านคืออะไร " ตัวอย่างเช่น ในโรงงานนำ้ตาลแห่งหนึ่งช่างอาวุโสบอกว่า " เมื่อก่อนโรงงานมีปัญหาบ่อย ต้องมีการหยุดเดินเครื่อง เนื่องจากพื้นไม้ที่อยู่ตรงสายพานสึก ทำให้ต้องปิดเครื่องซ่อม ผมภาคภูมิใจมาก ที่เคยได้เอาแผ่นอลูมิเนียมมารองพื้นสายพาน ทำให้พื้นสายพานไม่สึก และตอนนี้เครื่องไม่ต้องหยุดอีกเลย เรื่องนี้เป็นการค้นพบสิ่งใหม่ แต่เดิมเคยถามวิศวกรที่ปรึกษาก็บอกว่าต้องเปลี่ยนอย่างเดียว "
เรื่องนี้มีเรื่องดีๆ อยู่สองประการคือ การใช้แผ่นอลูมิเนียมรองทำให้สามารถแก้ปัญหาสายพานสึกและเครื่องหยุดได้ ประการที่สองคือช่างอาวุโสมีเทคนิคการทำงานที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมที่ซับซ้อนได้ สามารถเอาการค้นพบนี้ไปสร้างโอกาสอื่นๆได้อีก
2. ด้านผลิตภาพ (Productivity): โดยการตั้งคำถามว่า " ลองนึกถึงงานที่ท่านทำแล้วงานนั้นสำเร็จอย่างรวดเร็ว แล้วได้งานดีด้วย " ตัวอย่างเช่นมีผู้ประกอบการโรงงานตะเกียบแห่งหนึ่ง ที่เริ่มตั้งข้อสังเกตว่ามีพนักงานคนหนึ่ง สามารถทำตะเกียบล๊อตเดียวกันที่พนักงานผู้อื่นทำเสร็จเวลา 5 โมงเย็น แต่พนักงานท่านนี้ทำเสร็จในเวลาบ่ายสองโมง นี่คือเรื่องราวดีๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นโอกาสได้ ( โอกาสที่จะเพิ่มผลผลิต ) นอกจากนี้ยังสามารถนำมาสร้างเป้าหมายและสามารถมองเห็นผลที่จะตามมาได้อย่างชัดเจน ( ผลิตภาพสูงขึ้น )
3. ด้านการเรียนรู้ (Learning): โดยการตั้งคำถามว่า " ให้นึกถึงครั้งที่เราทำงานได้ดีขึ้นแบบไม่เป็นมาก่อน จุดเปลี่ยนมาจากอะไร " ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการรายหนึ่งเล่าเรื่องราวดีๆ ว่า เมื่อมาช่วยพ่อทำงานใหม่ๆ ไม่กล้าสั่งพนักงาน ก็บังเอิญมีพนักงานอาวุโสสังเกตเห็น เลยเตือนว่า คุณเป็นคนให้เงินเดือนเขา คุณสั่งเขาได้นะ บทบาทของคุณเป็นอย่างนี้ การเตือนครั้งนั้นทำให้ได้คิด และเริ่มสั่งงานพนักงานทำให้สามารถทำงานได้ราบรื่นมากขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นจุดแข็ง จุดเปลี่ยนของเรื่องคือการที่มีคนเตือน หรือมีผู้ใหญ่สอน การสอนลักษณะนี้เรียกว่าการโค้ช ซึ่งในการพัฒนาองค์กรถือว่าเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงขนิดหนึ่ง แสดงว่าองค์กรแห่งนี้มีการโค้ช และการโค้ชทำให้คนทำงานดีขึ้น เรื่องนี้ก็เป็นจุดแข็งที่สามารถนำไปสร้างโอกาส สร้างเป้าหมายและเห็นผลที่คาดว่าจะเกิดได้
4. ด้านแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic Motivation) : “ ให้นึกถึงเหตุการณ์ครั้งที่เราเต็มใจทำงานอย่างดีที่สุด โดยงานนั้นไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ เป็นอะไรที่เราทำให้โดยไม่หวังผลตอบแทน งานนั้นคืองานอะไร จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไปทำงานนั้นเกิดขึ้นตอนไหน "
ตัวอย่างจากการสัมภาษณ์พนักงานรายหนึ่ง บอกว่าการที่บริษัทพาพวกเขาไปช่วยสร้างห้องสมุดให้กัยโรงเรียนในชนบท ทำให้เขารู้สึกมีความสุข รู้สึกรักบริษัทที่ได้พาเขาทำอะไรอย่างนี้ และจากการสัมภาษณ์ค้นพบว่ามีการเล่าเรื่องคล้ายๆกัน คือการที่พนักงานได้ไปมีส่วนร่วมในโครงการจิตอาสาทำให้เขามีความภูมิใจในองค์กร เรื่องนี้สามารถนำไปพัฒนาเป็นโอกาสในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน โดยยังสามารถต่อยอดไปเป็นโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
5. ด้านแรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation): “ ให้นึกถึงงานที่เราได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของตัวเงิน แต่รู้สึกทำแล้วมีความหมายกับเรามาก งานนั้นคืออะไร ช่วยบอกรายละเอียด " มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือมีพนักงานรายหนึ่งบอกว่าเขามีความสุขกับงานที่ทำในโครงการนี้มาก เพราะได้ผลตอบแทนไม่มาก แต่คุ้มค่ากับที่เหนื่อย เรื่องนี้สะท้อนว่างานดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นฐานในการออกแบบโครงการที่จะทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุข ความหมายและมีความสุขกับผลตอบแทน เรื่องนี้ก็สามารถนำมาเป็นโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการการทำงานที่ทำให้เกิดแรงจูงใจสูงได้ ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
6. บรรยากาศการทำงานเป็นทีม (Team-working): “ ให้นึกถึงครั้งที่เราทำงานเป็นทีม แล้วรู้สึกมีความสุขกับการทำงานและผลงานที่เกิดขึ้น การทำงานเป็นทีมครั้งนั้นไม่เหมือนกับครั้งอื่นตรงไหน " เช่นจากการถามผู้บริหารรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งโรงงานสั่งหุ่นยนต์มา เขาเอาที่เป็นผู้จัดการด้านวิศวกรรมก็ทำอะไรไม่ถูก ช่างคนงานก็ไม่คุ้น ทุกคนต้องมาช่วยกันลงแรง ค่อยๆปรับแต่งจนกระทั่งสามารถใช้งานหุ่นยนต์ได้ในที่สุด เรื่องนี้เป็นจุดแข็งด้านกระบวนการขององค์กร แสดงว่าโอกาสที่จะสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีมที่ดีได้นั้น ควรมีการนำเรื่องใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ อย่างทั่วถึง นอกจากจะสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีแล้ว ยังอาจเพิ่มผลิตภาพได้ด้วย
7. ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development) :" ลองนึกถึงเพื่อนร่วมงานที่ท่านได้ทำงานร่วมกัน นึกถึงทุกคน แต่ละคนมีจุดแข็งอะไรบ้าง คือมีดีตรงไหนบ้าง " มีพนักงานรายหนึ่งที่ผมนับถือมาก เนื่องจากทำงานเก่ง รับผิดชอบเป็นผู้นำ เมื่อถามว่าเขาต่างจากคนอื่นตรงไหน เขาเป็นคนมีน้ำใจครับ เช่นครั้งหนึ่งตอนเลิกงานแล้ว พนักงานส่วนใหญ่ก็ขึ้นไปรอในรถเพื่อกลับบ้าน พอดีมีลูกค้ามาตอนร้านจะปิด คนๆนี้จะเป็นคนเดียวที่ลงจากรถมาช่วยขายของ มีอีกท่านมีพื้นฐานจบวิศวกรรมศาสตร์มาทำงานกับคณะวิจัย จุดแข็งคือสามารถประมวลผลข้อมูล คนหาความเชื่อมโยงได้อย่างลึกซึ้ง จุดแข็งทั้งสองประการสามารถนำมาต่อยอดพัฒนางานได้
8. ด้านต้นทุน (Cost): “ ลองนึกถึงเหตุการณ์จากการทำงาน ในกระบวนการใดก็ได้ ที่เราสังเกตว่าใช้ทรัพยากรน้อยกว่าครั้งอื่นๆ " ตัวอย่าง จากการสัมภาษณ์พนักงานท่านหนึ่งที่ได้เล่าว่า " ในโรงงานมีปัญหาเรื่องหนึ่งคือ ในกระบวนการการเปลี่ยนถังแก๊สรถโฟร์คลิฟต์นั้นอาศัยแรงงานคนคอยยกถัง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือยกขึ้นแล้วต้องยกลง ทำให้เสียเวลา ที่สำคัญทำให้พนักงานเกิดปัญหาปวดหลัง เหตุเพราะว่าตัวเชื่อมของถังแก็สและตัวโฟร์คลิฟต์ไม่พอดีกัน แต่มีแผนกหนึ่งค้นพบว่าเคยเอาจุกปิดลมยางมอเตอร์ไซด์มาครอบหัวต่อไว้ ปรากฏว่าทำให้ไม่ว่าจะใช้แบบใดก็จะพอดีกัน ทำให้ยกครั้งเดียวได้เลย จากการคำนวณค้นพบว่าถ้าสามารถนำมาขยายผลได้เต็มระบบ จะลดจำนวนการยกถังแก๊สลงกว่า 7,000 ครั้งต่อไป แสดงการสังเกตของพนักงานอาจนำมาสู่การค้นพบทางแก้ปัญหา
9. ด้านรายได้ (Revenue): “ ให้นึกถึงครั้งที่ท่านสามารถทำยอดขายได้สูงกว่าปรกติ ท่านไปทำอย่างไร จุดเปลี่ยนเป็นอย่างไร " เช่นจากการสอบถามผู้บริหารรายหนึ่งเล่าว่า " ตอนที่เพิ่มยอดขายได้สูงมากๆนั้น เกิดขึ้นช่วงที่ลูกค้าเดินเข้ามา แล้วเขามีโอกาสใช้เวลาสักสิบนาทีตอบคำถามลูกค้า เขามักจะได้ยอดขายสูงกว่าเดิมเสมอ ขอให้ได้สักสิบนาทีเถอะ ลูกค้ามักมีข้อสงสัยพอตอบได้มักซื้อมากขึ้นเสมอ "
10. ด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management): “ ให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เสียงต่อการที่จะทำให้บริษัทสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม แล้วท่านได้ทำอะไรบางอย่างเป็นการป้องกัน ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ท่านทำอย่างไร " ร้านค้าขนาดเล็กแห่งหนึ่งมีตราสินค้าที่มีคนบอกว่าดูคล้ายๆร้านแม็คโดนัลด์ อาจถูกฟ้องได้ เจ้าของร้านอธิบายว่า " ผมมองเห็นเช่นกัน เลยไปหาเพื่อนที่เป็นนักกฎหมายซึ่งก็ได้ใหเคำปรึกษาแล้วว่าไม่มีปัญหา " สะท้อนว่าบริษัทบริหารความเสี่ยงด้วยการอาศัยเพื่อนที่มีความรู้ให้คำปรึกษา เป็นการบริหารความเสี่ยงด้วยความรู้
11. ด้านภาวะผู้นำ (Leadership): ด้วยการตั้งคำถาม " ครั้งไหนที่คุณรู้สึกว่าผู้นำได้แสดงความมีภาวะผู้นำออกมา แล้วคุณประทับใจมากๆ " ตัวอย่างเช่นวิศวกรรายหนึ่งบอกว่า " ผมชอบผู้บริหารท่านนี้ ท่านไม่เมือนคนอื่น ท่านเปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที ไม่แทรกแซงบทบาท ท่านเพียงแต่สนับสนุนและแนะนำขั้นตอนที่ผมจะสามารถทำงานได้สำเร็จมากยิ่งขึ้น " คำตอบเช่นนี้สามารถนำมาสร้างโอกาสการพัฒนาบุคลากรด้วยการสร้างกระบวนการที่จะดึงความสามารถของคนให้ออกมาใช้ได้ดีที่สุด
เมื่อได้เรื่องเล่าดีๆ จากผู้มีส่วนได้เสียทุกคน ขั้นตอนต่อไปสามารถนำมาจุดแข็งทั้งหมดมาปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อค้นหาโอกาส (Opportunities) พัฒนาแรงบันดาลใจ (Aspiration) และการกำหนดเป้าหมาย (Results) ต่อไป
กระบวนการการค้นหาโอกาส
โอกาส (Opportunities) คือปัจจัยสนับสนุนให้องค์กรมีความได้เปรียบ โอกาสในการวิเคราะห์ SOAR Analysis มาจากสองแหล่งคือจากจุดแข็ง หรือเรื่องดีๆ ที่ได้จากผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคน และการตีความจากเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกองค์กร ในบทความนี้จะแสดงตัวอย่างการพัฒนาจุดแข็งให้เป็นโอกาสดังนี้
1. โอกาสการสร้างนวัตกรรม : องค์กรสามารถพัฒนานวัตกรรมได้โดยการถามหาความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในองค์กร ซึ่งในกรณีนี้สามารถได้คำตอบที่ดีกว่าผู้รู้ในบริษัทที่ปรึกษา ดังนั้นถ้าถามมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะค้นพบนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น
2. โอกาสการสร้างผลิตภาพ : การที่บุคลากรตั้งข้อสังเกตหาสิ่งผิดปรกติเชิงบวก เช่นในกรณีที่ค้นพบว่ามีพนักงานท่านหนึ่งทำงานที่คนอื่นใช้เวลาทำตั้งแต่เช้าเสร็จห้าโมงเย็น แต่ท่านนี้ทำเสร็จภายในบ่ายสอง ทำให้สามารถสร้างโอกาสการพัฒนาผลิตภาพได้ ดังนั้นหากมีการสังเกตมาย่ิงขึ้น ย่อมสร้างโอกาสการพัฒนาผลิตภาพได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
3. โอกาสในการส่งเสริมการเรียนรู้ : การโค้ชช่ิงทำให้คนในองค์กรมีขีดความสามารถมากขึ้น สามารถสร้างผลงานได้มากยิ่งขึ้น
4. โอกาสในการสร้างแรงจูงใจจากภายใน : พนักงานได้ทำงานจิตอาสาแล้วมีความสุข ความภูมิใจในองค์กร แสดงว่าองค์กรสามารถใช้งานจิตอาสา เป็นตัวช่วยสร้างขวัญกำลังใจพนักงาน นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปในงาน CSR ที่จะสอดคล้องกับความพยายามที่จะทำโครงการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
5. โอกาสในการสร้างแรงจูงใจภายนอก : การที่มีการค้นพบว่างานบางงานพนักงานที่ต้องมีการให้ผลตอบแทน พนักงานรู้สึกว่างานนั้นมีความหมายคุ้มค่ากับการลงแรง เป็นโอกาสที่องค์กรจะได้ทำการสำรวจค้นหาต่อไปว่ามีงานอะไรอีกบ้าง ที่ทำให้คนแต่ละคนในองค์กรมีความสุข ด้วยผลตอบแทนที่พอเหมาะ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาออกแบบระบบงานที่ทำให้คนมีความสุข ทำงานได้ผล ด้วยผลตอบแทนที่เป็นที่ยอมรับได้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง
6. โอกาสการสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีม : พบว่าการที่พนักงานได้ทดลองร่วมมือกันค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ๆ จะทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นทีมดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เพิ่มผลิตภาพได้ด้วย
7. โอกาสการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : การที่พนักงานที่มีน้ำใจมีความสำพันธ์กับความสามารถของพนักงานในอนาคต รวมทั้งการยอมรับของเพื่อนร่วมงาน การปลูกฝังวัฒนธรรมความมีนำ้ใจต่่อกันสามารถนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถและบรรยากาศขององค์กร ในอีกกรณีการที่พนักงานท่านหนึ่งมีขีดความสามารถในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูล ก็สามารถนำความสามารถของพนักงานผู้นี้ไปถายทอดให้ผู้อื่น หรือนำมาวิเคราะห์งานในโครงการอื่นได้
8. โอกาสด้านต้นทุน : การตั้งข้อสังเกตของพนักงานถึงความผิดปรกติในเชิงบวกของพนักงาน นำไปสู่การค้นพบวิธีการประหยัดต้นทุน และการสร้างสวัสดิภาพให้พนักงานโดยรวม
9. โอกาสการสร้างรายได้ : การที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าซักถามข้อสงสัยอย่างเต็มที่สามารถสร้างโอกาสการขายได้ด้วยยอดขายมากขึ้นมีสูงมาก
10. โอกาสด้านการบริหารความเสี่ยง : การบริหารความเสี่ยงสามารถทำได้ด้วยการปรึกษาผู้รู้ ที่อาจเป็นเครือข่ายเพื่อนฝูงของพนักงานในองค์กรก็ได้
11. โอกาสด้านภาวะผู้นำ : สะท้อนว่าในองค์กรนี้กระบวนการการให้โอกาส การสนับสนุนพนักงานให้ได้คิดริเริ่ม มีอิสระในการทำงาน และทำหน้าที่สนับสนุนทรัพยากร จะทำให้พนักงานสามารถแสดงศักยภาพได้สูงสุด ผู้นำในองค์กรสามารถเรียนรู้และทดลองให้พนักงานลองคิดทำอย่างมีอิสระในโครงการอื่นได้
กระบวนการสร้างแรงบันดาลใจ (Aspiration)
แรงบันดาลใจ คือ พลังอำนาจในตนเองชนิดหนึ่ง ที่ใช้ในการขับเคลื่อนการคิดและ การกระทำใด ๆ ที่พึงประสงค์ โดยปรกติเมื่อมีการค้นหาและระบุจุดแข็งและโอกาส ผู้มีส่วนได้เสียจะค้นพบแรงบันดาลใจที่จะอยากขยายผลจุดแข็งและโอกาสนั้นขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ เนื่องจากเป็นจุดแข็งและโอกาสที่มีฐานจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง ผู้มีส่วนได้เสียจะรู้สึกถึงพลังอำนาจในตนเอง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค้นพบเป็นเรื่องที่เป็นความำสเร็จที่เกิดขึ้นจริงมาก่อน สามารถทำซ้ำ หรือขยายผลด้วยเงื่อนไข ทรัพยากรที่มีอยู่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่หากไม่เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาเอง สามารถประเมินได้ว่าจุดแข็งและโอกาสดังกล่าวอาจเกินขอบเขตอำนาจของผู้ทำ SOAR Analysis หรือไกลตัวเกินไป ต้องมีการทบทวนใหม่
1. แรงบันดาลใจด้านการสร้างนวัตกรรม : องค์กรสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ โดยลดการพึ่งพิงจากที่ปรึกษาภายนอก ด้วยการอาศัยองค์ความรู้จากผู้รู้ภายในองค์กร เมื่อใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของคนในองค์กรให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ทำให้พนักงานรู้สึกได้รับความสำคัญ ทำให้มีความผูกพันธ์ในองค์กรมากยิ่งขึ้น (Employee Engagement)
2. แรงบันดาลใจจากโอกาสการสร้างผลิตภาพ : พนักงานในองค์กรพัฒนาทักษะการตั้งข้อสังเกตสูงขึ้นจนชำนาญ ส่งผลให้มีการค้นพบโอกาสการลดต้นทุน และการเพิ่มผลผลิตมากขึ้น
3. แรงบันดาลใจจากการส่งเสริมการเรียนรู้ : พนักงานงานองค์กรมีขีดความสามารถสูงขึ้น มีทัศนคติเปลี่ยนไปในเชิงบวกเนื่องจากผ่านกระบวนการโค้ชทุกคน จนทำให้ผลิตภาพโดยรวมสูงขึ้น KPI ทุกตัว จากทุกแผนกสูงขึ้น
4. แรงบันดาลใจจากโอกาสในการสร้างแรงจูงใจจากภายใน : องค์กรกลายเป็นองค์กรที่มีโครงการจิตอาสา มากกว่าเดิมจนกลายเป็นที่กล่าวขวัญ พนักงานมีกำลังใจสูง มีความผูกพันธ์กับองค์กรมากขึ้น
5. แรงบันดาลใจจากโอกาสในการสร้างแรงจูงใจภายนอก : เกิดการปรับปรุงกระบวนการการทำงานของพนักงานทุกคน ส่งผลให้พนักงานรู้สึกว่าการทำงานของเขากับผลตอบแทนมีความยุติธรรม และงานที่ได้ก็มีความหมายกับชีวิต ทำให้เกิดการผูกพันธ์กับองค์กรสูงขึ้น
6. แรงบันดาลใจจากการสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีม : องค์กรมีการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเพื่อยกระดับผลิตภาพมากขึ้น คนมีความกระตือรือร้น มีความรู้มากขึ้น บรรยากาศการทำงานเป็นทีมแข็งแกร่งมากอย่างไม่เป็นมาก่อน
7. แรงบันดาลใจจากโอกาสการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : พนักงานขององค์กรสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้ออาทร มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงานและลูกค้าจนเป็นที่กล่าวขวัญถึง พนักงานจำนวนหนึ่งมีทักษะการวิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูลสูงขึ้น จนสามารถปรับปรุง สร้างนวัตกรรมได้
8. แรงบันดาลใจจากโอกาสด้านต้นทุน : พนักงานทุกคนพัฒนาทักษะการสังเกตหาผิดปรกติ หรือสิ่งที่ดีกว่าปรกติได้ จนนำไปสู่การค้นพบวิธีการลดต้นทุน จนทำให้สวัสดิภาพของพนักงานสูงขึ้นอย่างไม่เป็นมาก่อน
9. แรงบันดาลใจจากโอกาสการสร้างรายได้ : มีการปรับโครงสร้าง กระบวนการทำงานของพนักงานทุกระดับ ส่งผลให้ผลิตภาพสูงขึ้น ลูกค้ามีความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น รายได้องค์กรสูงขึ้น
10. แรงบันดาลใจด้านการบริหารความเสี่ยง : ในทุกกระบวนการมีแผนการบริหารความเสี่ยง ที่ผ่านการกลั่นกรองจากผู้รู้ ส่งผลให้ผลิตภาพสูงขึ้น เนื่องจากไม่มีการหยุดชะงักโดยไม่จำเป็น
11. แรงบันดาลใจด้านภาวะผู้นำ : พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดสิ่งใหม่ๆ ภายใต้การสนับสนุนจากผู้บริหาร ทำให้เกิดกิจกรรมที่นำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร และทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันธ์กับองค์กรมากขึ้น
ผลดีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Results)
หลังจากสามารถระบุโอกาสได้แล้ว ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร่วมกันประเมินผลดีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยสามารถเชื่อมโยงเข้ากับ KPI หลักขององค์กรได้ หรือถ้าไม่มีสามารถพัฒนา KPI ขึ้นมาใหม่ได้ดังนี้ โดย KPI แต่และตัวควรมีการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้มีส่วนได้เสียควรตกลงกันให้ชัดเจน
1. KPI จากการสร้างนวัตกรรม : ต้นทุนลดลง อัตราการเติบโตของรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
2. KPI ของโอกาสการสร้างผลิตภาพ : ต้นทุนลดลงและผลิตภาพของทุกแผนกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
3. KPI ของการส่งเสริมการเรียนรู้ : KPI ของทุกแผนกสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
4. KPI แรงจูงใจจากภายใน : วัดจากอัตราการลาออกของพนักงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
5. KPI การสร้างแรงจูงใจภายนอก : วัดจากอัตราการลาออกของพนักงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
6. KPI จากการสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีม : ผลิตภาพโดยรวมขององค์กรเติบโตขึ้น และอัตรการลาออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
7. KPI ของโอกาสการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ : พนักงานมีขวัญกำลังใจสูงขึ้นวัดจากอัตราการลาออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนทักษะการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลดีขึ้นวัดจากความพึงพอใจของลูกค้าที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
8. KPI ของโอกาสด้านต้นทุน : มีอัตราการลดลงของต้นทุน และอุบัติเหตุจากการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
9. KPI ด้านโอกาสการสร้างรายได้ : ผลิตภาพสูงขึ้น มีอัตราการลดลงของต้นทุน และอัตราการเติบโตของรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
10. KPI ด้านการบริหารความเสี่ยง : ผลิตภาพสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
11. KPI แรงบันดาลใจด้านภาวะผู้นำ : พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดสิ่งใหม่ๆ ภายใต้การสนับสนุนจากผู้บริหารสามารถวัดได้จาก อัตราการเติบโตของโครงการที่พัฒนาโดยพนักงาน เปอร์เซ็นการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน อัตราการเติบโตของรายได้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการที่พนักงานรู้สึกผูกพันธ์กับองค์กรมากขึ้น สามารถวัดได้จากอัตราการลาออกที่ลดลงลองพนักงาน โดยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
Reference:
The Thin Book Of® SOAR: Building Strengths-Based Strategy
โดย Jacqueline M. Stavros,Gina Hinrichs
Re: SOAR Analysis คืออะไร
972
Re: SOAR Analysis คืออะไร
ในการทำ Appreciative Inquiry ระยะหลังเราใช้ SOAR แทน SWOT
SOAR = Strength, Opportunity, Aspiration และ Result
Ex.
เธอเรียน MBA ยังไม่มีกิจการของตัวเอง...MBA นี่ต้องการสร้างผู้ประกอบการณ์
ลองวิเคราะห์แบบ SOAR ให้เธอดู...
ถาม
ชอบธุรกิจแบบไหนที่สุด (ชอบร้านอาหาร)
ทำอาหารเป็นไหม? (เป็น)
ทำอะไรแล้วคนชมเป็นพิเศษ (แกงเขียวหวาน)
Strength จุดแข็งเธอคือ..เธอทำแกงเขียวหวานแล้วคนชอบ
Opportunity..โอกาส มองไปรอบๆเมืองที่เธออยู่ ร้านที่ทำแกงเขียวหวานอร่อยๆ ยังไม่มี
เป็นไปได้ไหมเธอจะทำร้านที่เน้นแกงเขียวหวานเป็นตัวเด่นขึ้นมา ให้อร่อยที่สุด...
Aspiration เป้าหมาย ความฝันของเธอ เลยคิดพัฒนาร้านที่ขายแกงเขียวหวานเป็นหลัก ใครชอบก็มาซื้อ อาจพัฒนาเป็นร้านรับทำแกงเขียวหวานโดยเฉพาะ ประมาณว่าเป็นเจ้าแม่แกงเขียวหวาน..พัฒนาเป็นแกงเขียวหวานสูตรเฉพาะคนกลัวอ้วน สูตรเด็ก เขียวหวาน Organic
Result มานั่งคิดดูว่าจะให้โครงการนี้เกิดเมื่อไหร่..จะได้วันละเท่าไหร่..ถึงอยู่ได้กัน...คิดถึงความเป็นจริงกันเลย..ถ้าไม่พออาจค้นหาจุดแข็งเพิ่ม..แล้วไล่ SOAR กันลงมาอีก
คุยกันแบบ SOAR การวิเคราะห์ SOAR เป็นอะไรที่เริ่มต้นจากจุดแข็ง คุยกับแป๊บเดียว ดึงไปสู่จุดแข็งออกมาสู่..ความฝัน และความเป็นจริงกันเลย...
INSURANCETHAI.NET