แอบบันทึกเสียงใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม่
973
แอบบันทึกเสียงใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม่
กฎหมายไทย (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖) กำหนดไว้ว่า สิ่งที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานนั้นจะต้องไม่ได้เกิดขึ้นโดยมิชอบ ดังนั้น ถ้าพยานเกิดขึ้นโดยไม่ชอบ เช่น ไปข่มขู่เขา ไปซ้อมเขาจนเขาสารภาพ แบบนี้ถือว่าพยานหลักฐานนั้น เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ
ส่วนมาตรา ๒๒๖/๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี ๒๕๕๑ กำหนดว่า ถ้าเป็นพยานหลักฐานที่ชอบแต่วิธีการได้พยานหลักฐานนั้น เป็นวิธีการที่ไม่ชอบ ก็ไม่ให้รับฟังเช่นกัน เช่น ตำรวจจับยาเสพติดได้เพราะไปหลอกลวงคนร้าย จะเห็นว่ายาเสพติดเป็นพยานหลักฐานได้อยู่ในตัวเอง แต่วิธีการที่ตำรวจได้พยานมาเป็นวิธีการที่ไม่ชอบ
นี่คือความแตกต่างของ พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ กับพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยมิชอบ
เฉพาะกรณีหลังที่ มาตรา ๒๒๖/๑ ระบุให้มีข้อยกเว้นให้ศาลรับฟังพยานได้ แต่กรณีแรกไม่มีข้อยกเว้นระบุไว้ครับ
เอาละทีนี้มาดูเรื่องการลอบอัดเทป
การลอบอัดเทป ถือเป็นวิธีการที่ชอบหรือไม่ คำตอบอาจต้องดูเป็นกรณีๆ ไป เช่น ตามกฎหมายยาเสพติด ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดักฟัง หรือแอบบันทึกคำสนทนาได้ อย่างนี้เรียกว่า มีกฎหมายให้อำนาจให้ทำได้ จึงไม่ถือว่าการลอบอัดเทป เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ดังนั้น เทปที่อัดมาได้จึงเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลรับฟังได้
ปัญหาต่อมาคือ แล้วประชาชนด้วยกันเอง แอบอัดเทปจะถือว่าทำได้ไหม ผิดกฎหมายไหม
คำตอบ ยังต้องแยกว่า ใครเป็นคนแอบอัด
ถ้าเราที่เป็นคู่สนทนาแอบอัดเอง อันนี้ทำได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสิทธิของคู่สนทนาที่จะบันทึกถ้อยคำที่ตนเองสนทนาได้อยู่แล้ว และไม่น่าต้องขออนุญาตคู่สนทนาอีกฝ่ายด้วย
เคยมีคำพิพากษาฎีกา ๑๑๒๓/๒๕๐๙ ตัดสินไว้ เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมแอบอัดเสียงของจำเลยไว้ ซึ่งศาลก็รับฟังิิัเทปบันทึกเสียงดังกล่าวร่วมกับพยานหลักฐานอื่นลงโทษจำเลยไป
แต่ถ้าเป็นคนอื่นแอบอัด อันนี้ไม่มีสิทธิทำได้ จึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า วิธีการที่ได้พยานหลักฐานมาไม่ชอบ แต่เนื้อหาของถ้อยคำอาจเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ เช่น แอบบันทึกถ้อยคำสนทนากันของคนร้าย พยานที่เอามาใช้ในศาลคือ ถ้อยคำที่คนร้ายคุยกัน คนร้ายเขาคุยกันเรื่องทำไม่ดีอยู่แล้ว ไม่ไปอัดเทป เขาก็พูด ดังนั้น ถ้อยคำที่เอามาเป็นพยานจึงเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยชอบอยู่ก่อน แต่วิธีที่ได้มาเท่านั้นที่ไม่ชอบ
มีข้อสังเกตที่ทำให้หลักกฎหมายพยานข้อนี้ลึกซึ้งไปอีกขั้นหนึ่ง คือ กรณีคู่สนทนาแอบอัดเทป ถ้าเป็นการหลอกให้คู่สนทนาพูด แล้วแอบอัดไว้เพื่อจะเอามาใช้เป็นพยานหลักฐาน จะเห็นว่า ปกติเขาไม่น่าจะพูดถ้อยคำที่จะใช้เป็นพยานหลักฐาน แต่เราไปหลอกให้เขาพูด แบบนี้ถือว่า เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ซึ่งรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้
โปรดสังเกตนะครับว่า ถ้าเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบแล้ว กฎหมายห้ามรับฟังเป็นพยานโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เลย (มาตรา ๒๒๖)
เอาละทีนี้มาดูข้อเท็จจริงของคำพิพากษาฎีกา ๒๒๘๑/๒๕๕๕
เรื่องนี้เป็นคดีอาญา จำเลยถูกฟ้องคดีอาญา แล้วมีพยานโจทก์ไปเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นคนร้าย
จำเลยเลยวางแผนไปพูดคุยกับพยานปากนี้แล้วแอบอัดเทปไว้ โดยพยานไม่รู้ว่ามีการแอบอัดเทป เนื้อหาที่แอบอัดไว้ที่สำคัญคือ พยานปากนี้พูดยอมรับว่า จริงๆ แล้วไม่ได้เห็นว่าจำเลยเป็นคนร้าย แต่เบิกความไปอย่างนั้นเพราะเชื่อตามที่เจ้าหน้าที่บอก
จำเลยต้องการถ้อยคำนี้เพื่อเอาไปใช้แสดงในศาลว่าตนไม่ใช่คนร้าย
ศาลฎีกาก็วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า การที่จำเลยไปแอบอัดเทปไว้นี้โดยพยานไม่รู้ว่าถูกอัดเทปไว้ ถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ และห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้นตามมาตรา ๒๒๖
เท่ากับโดยหลักแล้ว เทปนี้รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นะครับ
แต่ศาลฎีกาไม่หยุดแค่นี้ครับ ศาลเห็นว่า แม้พยานชิ้นนี้จะเกิดขึ้นโดยไม่ชอบ แต่ถ้านำมารับฟังก็จะเป็นธรรมมากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะเป็นพยานที่แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยบริสุทธิ์ ลองคิดดูว่า ถ้าไม่ฟังพยานชิ้นนี้ ศาลอาจต้องลงโทษคนบริสุทธิ์ ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรมหนักหนาสาหัสกว่าข้อเสียของการยอมรับฟังพยานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ
อีกเหตุผลที่น่าจะมีความสำคัญ คือ ในคดีอาญานั้น จะต้องเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ถ้าไปตัดไม่รับฟังพยานชิ้นนี้เสียเลยอาจกระทบสิทธิของจำเลยได้ระดับหนึ่ง (แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเป็นจำเลยในคดีอาญาแล้วจะแสวงหาพยานหลักฐานด้วยวิธีที่ผิดยังไงก็ได้นะครับ อาจต้องดูเป็นคดีๆ ไป)
เรื่องนี้ในท้ายที่สุด ศาลเลยยอมรับฟังพยานชิ้นนี้ในฐานะเป็นข้อยกเว้น
แต่จำที่บอกไปก่อนหน้าได้ไหมครับ ถ้าเป็นมาตรา ๒๒๖ ไม่มีข้อยกเว้นเลย มีเฉพาะในมาตรา ๒๒๖/๑ ซึ่งเป็นกรณีพยานหลักฐานที่ชอบแต่ได้มาโดยไม่ชอบ แต่กรณีของคดีนี้ เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบตามมาตรา ๒๒๖
อาจอธิบายได้ว่า ศาลตีความว่า พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบครอบคลุมถึงพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบตามมาตรา ๒๒๖ ด้วย
ดังนั้น สรุปของสรุป คือ การแอบอัดเทปนั้น โดยหลักถือเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบ และใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ครับ เว้นแต่จะอัดได้โดยมีกฎหมายอนุญาต หรือเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๒๖/๑ ครับ
เนื้อหาวันนี้ซับซ้อนหน่อยครับ ขออภัย
ปล. คำถามสำหรับน.ศ.วิชาพยานทั้งปีสามและปีสี่ ทำไมศาลฎีกาจึงไปใช้ข้อยกเว้นตาม 226/1 ทั้งที่กรณีนี้ศาลฎีกาบอกเองว่าเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบ ซึ่งต้องใช้ 226 ที่ไม่มีข้อยกเว้น
https://www.facebook.com/kukkikkabAjSomchai
INSURANCETHAI.NET