การโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาท
974

การโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาท

การโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาทนั้น อาจเสี่ยงที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาใน 3 มาตรา ดังนี้

1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
“ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือ ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

2) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328
“ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท”

3) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423
“ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหาย แก่ชื่อเสียง หรือ เกียรติคุณ ของบุคคลอื่น ก็ดี หรือ เป็นที่เสียหาย แก่ทางทำมาหาได้ หรือ ทางเจริญของเขา โดยประการอื่น ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหาย อย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

      ผู้ใด ส่งข่าวสาร อันตนมิได้รู้ว่า เป็นความไม่จริง หากว่า ตนเอง หรือ ผู้รับข่าวสารนั้น มีทางได้เสีย โดยชอบ ในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่า เพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้น หาทำให้ผู้นั้น ต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

      ดังนั้นการโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ต ไม่ว่า คนโพสต์จะเป็น "ผู้ใด" หากทำให้คนอื่นเสียหาย ก็เป็นความผิดตามกฎหมายได้ เนื่องจากการ หมิ่นประมาทถ้าได้โพสต์หรือกล่าวพาดพิง ถึงใครให้คนอื่นฟัง ก็ถือเป็นการ "ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม" ถ้าข้อความที่โพสต์ ทำให้ผู้อ่านรู้สึก ไม่ดีกับผู้ที่ถูกกล่าวพาดพิงย่อมเป็นการโพสต์หรือกล่าวที่อาจเข้าข่าย "โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง" ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายได้ และเมื่อได้โพสต์ในอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการ "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา" ซึ่งโทษหนักกว่า ตัวอย่างเช่น
- นาย A โพสต์ด่า นาง B ว่าเป็นเมียน้อย (ฎ.472/2540)
- นาย C ด่านาง D ว่าเป็น กระหรี่ มีผัวมาแล้วหลายคน (ฎ.621/2518)
- นาง E ด่านาย F ว่าบ้ากาม หมายถึงเป็นคนมักมากในกามคุณผิดวิสัยบุคคลทั่วไป (ฎ.782/2524)
- นาง G ด่านาย H ว่ากินสินบน (ฎ.2296/2514) เป็นต้น
      สรุปได้ว่าการโพสต์ข้อความละเมิดผู้อื่นบนเว็บไซต์สามารถเข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ผู้โพสต์จึงอาจเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีทางศาล และถูกตัดสินให้ต้องรับผิดตามการพิจารณาของศาลได้

      "อย่างไรก็ตามบางครั้งเมื่อท่านพบกับความไม่เป็นธรรม กฎหมายก็ไม่ได้ปิดปากท่านเสียทีเดียว"

      หากผู้โพสต์พิสูจน์ว่าการที่ตนได้โพสต์พาดพิงผู้อื่นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมนั้น เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ดังนี้

      ข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329

      การจะพิสูจน์เรื่องข้อยกเว้นนั้น จะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ ด้วยกัน คือ ต้องเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต คือ ต้องเป็นการพูดหรือโพสต์ที่เกิดจากการที่ตนได้ประสบพบเจอ เหตุการณ์นั้นๆโดยตรงและ ต้องเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ด้วย
1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรม เช่น
- การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตคือเชื่อว่าเป็นจริง แม้จะเข้าใจผิดก็ได้รับความคุ้มครอง (ฎ.770/2526)
- การแจ้งความตามสิทธิหรือแสดงความเห็นเมื่อเจ้าพนักงานถามโดยสุจริต ย่อมไม่เป็นหมิ่นประมาท (ฎ.370/2520)
- การกล่าวตามความคิดของตน โดยเชื่อว่าเป็นความจริงเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตน (ฎ.1972/2517)
- หากไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตแต่มุ่งใส่ร้ายเป็นส่วนตัว ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329(1) (ฎ.1203/2520)
- พูดในลักษณะที่เป็นการประจาน จะยกเหตุเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนตามคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดไม่ได้ (ฎ.3725/2538)
2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ
กรณีนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ประชาชนชอบที่จะติชมได้ เช่น เรื่อง ศาสนา เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ เป็นต้น
4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
      ข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330

      การที่จำเลยจะนำสืบเพื่อพิสูจน์ความจริงได้นั้น กฎหมายได้จำกัดมิให้ใช้สิทธิในการพิสูจน์ไว้ ถ้าเข้ากรณี ดังนี้
1) ถ้าข้อความที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และ
2) การพิสูจน์ความจริงนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
      แต่ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนเสียก่อนว่า เมื่อเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายแล้วจะไม่เป็นการหมิ่นประมาทและจะไม่โดน ฟ้องร้องนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะ การที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนโพสต์นั้น เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ ในชั้นศาล ซึ่งเป็นเรื่องหลังจากที่ตนถูกฟ้องร้องไปแล้ว

      การโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ท่านจะไม่มีตัวตนและไม่สามารถตามตัวท่านได้ เมื่อมีการโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาท ตามกฎหมาย หากพนักงานเจ้าหน้าที่ ของรัฐร้องขอข้อมูลของสมาชิกหรือไอพีแอดเดรส ที่โพสต์ข้อความดังกล่าว ทางเว็บไซต์ มีความจำเป็น ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 18(2), (3) กำหนดหน้าที่ดังกล่าวเอาไว้ ดังนี้

      มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มี อำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด และหาตัวผู้กระทำความผิด...
      (2) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง     
      (3) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา 26 หรือ ที่อยู่ในความครอบครองหรือ ควบคุมให้แก่พนักงาน  เจ้าหน้าที่ี่ ...”

Re: การโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาท
974

Re: การโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาท

ความผิดตาม มาตรา 14(1)
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ระบุว่า “ผู้ใด .... (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าท้ังหมดหรือบางส่วน  หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” การเขียนกฎหมายเช่นนี้เป็นการเปิดให้ต้องตีความอยู่มาก ทำให้ลักษณะของความผิดที่ฟ้องร้องเป็นคดีความกันด้วยมาตรา 14(1) มีความหลากหลาย ดังต่อไปนี้

1.ความผิดต่อระบบ เช่น การปลอมแปลงไฟล์เพื่อแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์
2.การหลอกลวง ฉ้อโกง เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ว่าเป็นเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน
3.การหมิ่นประมาท

ลักษณะของความผิดทั้งสามแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ สองข้อแรกเป็นความผิดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อคนจำนวนมากหรือต่อประชาชน ขณะที่การหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว นอกจากนี้ ในกรณีความผิดต่อระบบ และการฉ้อโกง ศาลมักตัดสินให้มีความผิด ขณะที่การหมิ่นประมาท มีอัตราการยกฟ้องและถอนฟ้องสูง

อย่างไรก็ดี จากสถิติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 จนถึง เดือนธันวาคม 2554 คดีที่ฟ้องร้องโดยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว เป็นคดีตามมาตรา 14(1) มากที่สุด ซึ่งเป็นความผิดประเภทหมิ่นประมาท การฉ้อโกง และเป็นความผิดต่อระบบ มากน้อยตามลำดับ

อะไรคือสิ่งที่ มาตรา 14(1) มุ่งคุ้มครอง
องค์ประกอบความผิดที่สำคัญใน มาตรา 14(1) คือ “ข้อมูลความพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ซึ่งไม่เหมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ไม่สนใจว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ แม้เป็นความจริงแต่หากทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท 

อีกทั้งจุดประสงค์แรกเริ่มของการออกกฎหมายมาตรานี้ ก็เพื่อป้องกันและปราบปรามการปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า Phishing เป้าหมายของมาตรา 14(1) เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายอาญาเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งความผิดฐานปลอมเอกสาร ในประมวลกฎหมายอาญา มีความหมายเฉพาะกระดาษหรือวัตถุอื่นใดที่มีรูปร่างและจับต้องได้เท่านั้น ยังไม่สามารถตีความให้ครอบคลุมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้

แต่ตามสถิติกลับพบว่ามาตรา 14(1) ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับเรื่องการหมิ่นประมาทเป็นส่วนมาก ทำให้เกิดคำถามว่า การบังคับใช้มาตรา 14(1) กับการหมิ่นประมาทในโลกออนไลน์ เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์แล้วหรือไม่

ผลกระทบของการใช้ มาตรา 14(1) ในฐานความผิดหมิ่นประมาท

1. เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แม้จะเป็นการกระทำบนอินเทอร์เน็ต ก็มีความผิดหมิ่นฐานประมาทโดยการโฆษณาอยู่แล้ว ทำให้เกิดความสับสนในการตีความการบังคับใช้กฎหมาย และทำให้คดีความรกโรงรกศาล

2. อัตราโทษที่สูง ความผิดตามมาตรา 14(1) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณามีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องร้องในประเด็นการหมิ่นประมาทจึงทำให้จำเลยต้องแบกรับอัตราโทษที่หนักขึ้น

3. ยอมความไม่ได้ คดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว คดีจำนวนไม่น้อยเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วสามารถตกลงชดใช้ค่าเสียหาย หรือกล่าวขอโทษกัน ก็ทำให้คดีความจบกันไปได้ แต่ความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความได้ แม้ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงกันได้จนคดีหมิ่นประมาทจบลงแล้ว ความผิดตามมาตรา 14(1) ก็ยังต้องดำเนินคดีต่อไป ส่งผลกระทบต่อตัวจำเลยและทำให้คดีรกโรงรกศาลโดยไม่จำเป็น

4. ไม่มีหลักเรื่องความสุจริตหรือประโยชน์สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330 การหมิ่นประมาทที่กระทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษได้ แต่ความผิดตามมาตรา 14(1) แม้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม ก็ไม่สามารถอ้างเหตุเหล่านี้ขึ้นต่อสู้คดีได้

5. คุกคามเสรีภาพสื่อ เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมาก แม้แต่สื่อกระแสหลักก็พัฒนาช่องทางออนไลน์ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร เมื่อมีคดีความหมิ่นประมาทเกิดขึ้น มาตรา 14(1) ก็มักถูกฟ้องพ่วงเข้าไปด้วย ซึ่งเพิ่มภาระของสื่อหรือผู้ถูกกล่าวหาในการสู้คดี และปัจจุบันแนวโน้มการฟ้องร้องสื่อ ด้วยมาตรา 14(1) ก็มีสูงขึ้น กระทบต่อการบรรยากาศการใช้เสรีภาพในสังคม

กรณีตัวอย่างการใช้มาตรา 14(1) ฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่กระทบต่อบรรรยากาศเสรีภาพ

1. กองทัพเรือ VS ภูเก็ตหวาน
16 ธันวาคม 2556 กองทัพเรือแจ้งความดำเนินคดีกับ อลัน มอริสัน และชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวจากเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน สำนักข่าวระดับท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต จากการเผยแพร่ข่าวบนเว็บไซต์ phuketwan.com อ้างอิงรายงานของรอยเตอร์ กล่าวหาว่าทหารเรือมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา จะมีการนัดสืบพยานในเดือนมีนาคม 2558

2. โรงงานผลไม้กระป๋อง VS อานดี้ ฮอลล์
4 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัท เนเชอรัล ฟรุต เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน จากการที่เขาเผยแพร่งานวิจัยเรื่อง การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในโรงงานผลไม้กระป๋อง เนื้อหาของงานวิจัยมีเรื่องการจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด รายงานวิจัยของเขาถูกสื่อเผยแพร่ไปในอินเทอร์เน็ต เขาจึงถูกฟ้องเป็นคดีพ.ร.บ.คอมพิเตอร์ฯ นอกจากนี้เขายังถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งอีกด้วย

3. นายจ้างบริษัทไทยอินดัสเตรียลฟ้องสมาชิกสหภาพแรงงาน
สงคราม ฉิมเฉิด เป็นพนักงานของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน กลางปี 2553 สงครามถูกผู้บริหารของบริษัทฟ้องว่าเป็นผู้ส่งอีเมลกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงว่าห้ามเขาเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ต่อมาคดีมีการไกล่เกลี่ยยอมความ นายจ้างถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท แต่ข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถอนฟ้องไม่ได้ สงครามจึงต้องต่อสู้คดีต่อไป ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ส่งอีเมล์จริง

4. หมอฟ้องนักกิจกรรมด้านสิทธิผู้ป่วย
ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย แจ้งความดำเนินคดีกับ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จากการโพสต์ข้อมูลและรูปภาพลงเฟซบุ๊กเกี่ยวกับความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล 29 เมษายน 2554 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร จ.สุรินทร์ ออกหมายเรียก ปรียานันท์ต้องเดินทางไปจ.สุรินทร์เพื่อให้ปากคำ ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้อง

5. สหกรณ์เคดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฟ้องไทยพับลิก้า
13 กันยายน 2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ฯ ยื่นฟ้องนายมณฑล กันล้อม ประธานกรรมการดำเนินการฯ สหกรณ์และพวกรวม 6 คน ซึ่งรวมถึงกองบรรณาธิการของสำนักข่าวไทยพับลิก้า จากการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการทุจริตภายในสหกรณ์ ต่อมา 2 มิถุนายน 2557 โจทก์ถอนฟ้อง

6. บริษัท เบ็ทเทอร์ ลิฟวิ่ง ฟ้องประชาชาติธุรกิจ
13 มิถุนายน 2556 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจเผยแพร่บทสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงความเสียหายของประเทศหากให้บริษัททุนข้ามชาติสามารถจดโดเมนเป็น .thai ต่อมาผู้ให้สัมภาษณ์และบรรณาธิการเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจถูกบริษัท เบ็ทเทอร์ ลิฟวิ่ง แมนเนจเมนท์ จำกัดที่ถูกพาดพิงฟ้อง คดียังอยู่ระหว่างการการไต่สวนมูลฟ้อง

7. ฝรั่งพัทยา ฟ้อง แอนดรูว์ ดรัมมอนด์
4 กันยายน 2555 ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพัทยาสองคนยื่นฟ้อง แอนดรูว์ ดรัมมอนด์ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศและเจ้าของเว็บไซต์ จากการปล่อยให้มีคนคอมเมนต์ในเว็บไซต์กล่าวหาโจทก์ว่ามีพฤติกรรมเป็นแมงดา ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทให้จำคุก 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท ยกฟ้องข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่าข้อความเป็นเท็จ

8. อดีตมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สฟ้องเว็บไซต์ไทยเดย์
ฝนทิพย์ วัชตระกูล หรือ ปุ๊กลุ๊ก อดีตมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี 2553 ยื่นฟ้องเว็บไซต์ไทยเดย์ดอทคอม ในเครือผู้จัดการ จากการเผยแพร่คอลัมน์ Super บันเทิง Online กล่าวหาโจทก์ว่ามีความประพฤติไม่ดี ไม่เหมาะกับการเป็นกุลสตรีไทย ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทปรับจำเลยที่หนึ่ง 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่สอง 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ให้ทำลายข้อความในเว็บไซต์ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย ยกฟ้องข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

9. บอร์ดทีโอทีฟ้องผู้จัดการ
เอกสิทธิ์ วันสม ประธานบอร์ดบริหารทีโอที ฟ้องว่า วันที่ 30 พฤษภาคม 2554 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เผยแพร่ข่าว ทำนองว่า โจทก์ในฐานะประธานบอร์ดบริหารกับประธานการประเมินกรรมการผู้จัดการใหญ่เข้าแทรกแซงสั่งการในการปรับโครงสร้างผังองค์กร และเข้าไปมีผลประโยชน์หักค่าหัวคิวเก็บค่าคอมมิชชั่นในโครงการต่างๆ 17 ตุลาคม 2554 โจทก์ถอนฟ้อง บทความถูกเอาออกแล้ว

10. สำนักงานศาลปกครองฟ้องสำนักข่าวอิสรา
25 สิงหาคม 2557  ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง มอบหมายให้ทนายความ ฟ้องร้องสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศราฯ และนายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศราฯ จากการเสนอข่าว "จดหมายน้อย" เกี่ยวกับการที่ประธานศาลปกครองพยายามใช้เส้นแต่งตั้งนายตำรวจ

ตัวอย่างคดี
http://freedom.ilaw.or.th/case?k=&p=&Offense=1



INSURANCETHAI.NET
Line+